นายอันวาร์ อิบราฮิม สาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการสิ้นสุดการรอคอยและการเดินทางบนเส้นทางการเมืองอันยาวนานกว่า 3 ทศวรรษของนักการเมืองวัย 75 ปี ซึ่งฝ่าฟันมรสุมมากมาย จากการเคยทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี การเคยได้รับการวางตัวจากดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ให้เป็นทายาทการเมือง ก่อนร่วงลงจากอำนาจ ด้วยคดีล่วงละเมิดทางเพศต่ออดีตผู้ช่วยชาย ซึ่งทำให้อันวาร์ต้องรับโทษจำคุกถึงสองครั้งสองครา และการทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านเป็นเวลานานหลายปี

การขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของอันวาร์เกิดขึ้น หลังการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา นำไปสู่การเกิดภาวะ “สภาแขวน” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ ขณะที่พันธมิตรการเมืองของอันวาร์ในนาม “ปากาตัน ฮาราปัน” หรือพันธมิตรแห่งความหวัง ขับเคี่ยวกับพันธมิตรแห่งชาติ หรือ “เปอริกาตัน” ของอดีตนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยาสซิน ในการรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ คืออย่างน้อย 112 เสียง จากทั้งหมด 222 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ท้ายที่สุดแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลเลาะห์ อาห์หมัด ชาห์ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งอันวาร์ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อฟื้นฟูความสมานฉันท์ และสร้างความปรองดองทางการเมืองภายในมาเลเซีย โดยอันวาร์นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศ ภายในระยะเวลาประมาณ 4 ปีเท่านั้น ต่อจากดร.มหาเธร์ ตามด้วยมูห์ยิดดิน และคนล่าสุด คือนายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ

ธงชาติมาเลเซีย หน้าทำเนียบรัฐบาล ในเมืองปุตราจายา

ทั้งนี้ เนื้อหาตอนหนึ่งจากแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังมาเลเซียระบุว่า ประชาชนกำลังเหนื่อยหน่ายและไม่ต้องการแบกรับภาระจากวิกฤติการเมืองที่วนเป็นงูกินหาง ทางออกที่ทุกฝ่ายต้องการ คือการมีรัฐบาลซึ่งมีเสถียรภาพ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเดินหน้าพัฒนาประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเมืองสายใหม่ของอันวาร์ยังแค่เริ่มต้นเท่านั้น และแน่นอนว่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากหากจำแนกผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ออกเป็นรายพรรค ไม่ใช่ตามกลุ่มการเมือง ปรากฏว่า พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพรรคปาส ซึ่งแน่นอนว่าชูอุดมการณ์อิสลามนิยม ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด 49 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นมากถึง 31 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2561 ซึ่งพรรคปาสได้รับการเลือกตั้งเพียง 18 ที่นั่ง ขณะที่พรรคความยุติธรรมปวงชน ( พีเคอาร์ ) ของอันวาร์ ได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้เข้ามา 31 ที่นั่ง ในรอบนี้

กลุ่มผู้สนับสนุนพันธมิตร “ปากาตัน ฮาราปัน” ถือแผ่นป้ายข้อความสนับสนุนนายอันวาร์ อิบราฮิม ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

พรรคปาสมีแนวนโยบายที่แตกต่างอย่างชัดเจน จากทั้งพรรคพีเคอาร์ และปากาตัน ฮาราปัน โดยรวม ซึ่งมีพันธมิตรรวมถึง พรรคกิจประชาธิปไตย ( ดีเอพี ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และพรรคอมานาห์ ซึ่งเป็นพรรคมุสลิมสมัยใหม่ แม้อันวาร์กล่าวในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ว่าหากได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของเขาจะมุ่งมั่นบริหารราชการแผ่นดิน บนพื้นฐานของการต่อต้านการทุจริต และจะพยายามอย่างสุดความสามารถ “เพื่อขุดรากถอนโคน” การเหยียดเชื้อชาติและศาสนา “ในทุกรูปแบบ”

กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพรรคปาส ที่เมืองปีนัง

ขณะที่ภายในเวลาไม่นานหลังรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลคนใหม่ของมาเลเซีย อันวาร์กล่าวว่า “จะไม่เพิกเฉยและทอดทิ้งชาวมาเลเซีย ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือนับถือศาสนาใด” กระนั้น พรรคปาส ซึ่งมีฐานเสียงอยู่ในกลุ่มรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย มีจุดยืนชัดเจน ว่าสนับสนุนกฎหมายชารีอะห์ และต้องการผลักดันให้มาเลเซียบัญญัติกฎหมาย ให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และการเพิ่มการปกป้องสิทธิของกลุ่มชาวพื้นเมืองมาเลเซีย ซึ่งเป็นเชื้อสายของพลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศ

แม้ตอนนี้ถือว่า “ยังเร็วเกินไป” ที่จะตัดสินว่า อันวาร์จะดำรงตำแหน่งได้ครบวาระหรือไม่ และจะสามารถฟื้นคืนเสถียรภาพให้กลับคืนสู่การเมืองและสังคมของมาเลเซียได้มากเพียงใด การเมืองของมาเลเซียมีอะไรที่มากกว่าการแข่งขันเพื่อให้ได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังมีปัจจัยทางเชื้อชาติและศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น งานหนักของอันวาร์ไม่ใช่เพียงแค่การฟื้นฟูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและบทบาทของมาเลเซียบนเวทีระหว่างประเทศ แต่ยังมีเรื่องของ “การรักษาสมดุลของความท้าทาย” ระหว่างเชื้อชาติและศาสนาในทางการเมืองเช่นกัน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS