อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน โดยเป็นฮอร์โมนชนิดเดียวที่ทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยผ่านกระบวนการดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ เพื่อมาสร้างเป็นพลังงานให้กับร่างกาย ดังนั้นหากอินซูลินทำงานได้ไม่ปกติจะส่งผลต่อร่างกายดังนี้ 1.ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ และมีการขับน้ำตาลออกไปทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะในปริมาณมากทำให้ต้องกินน้ำเข้าไปชดเชยในปริมาณมากทำให้มีอาการกินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ 2.ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าเซลล์เพื่อไปสร้างพลังงานให้กับร่างกายได้ จึงทำให้สัตว์ป่วยเบาหวานมีอาการกินอาหารเยอะ และหิวตลอด แต่ยังคงน้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารอย่างเรื้อรัง และส่งผลให้เกิดภาวะเบาหวานเป็นพิษ และถึงแก่ชีวิตได้

เบาหวานมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.เบาหวานประเภท 1 (DM type1) เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจถูกโน้มนำโดยปัญหาหลายอย่าง เช่นตับอ่อนอักเสบซึ่งส่งผลให้เนื้อเยื่อของตับอ่อนมีความเสียหายบางส่วน ทำให้ผลิตอินซูลินได้ไม่เท่าเดิม หรือการที่บริโภคอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูงบ่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ตับอ่อนทำงานหนักขึ้นในการสร้างอินซูลิน หากยังคงพฤติกรรมการกินแบบนี้เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะเซลล์ตับอ่อนเสื่อมขึ้นได้ เบาหวานประเภทนี้มักพบได้ใน “สุนัข”

2. เบาหวานประเภท 2 (DM type2) เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ลดลง ทำให้ต้องใช้อินซูลินในปริมาณมากขึ้นเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลรบกวนให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ลดลง เช่น ระดับไขมันในเลือดที่สูงขึ้น การได้รับยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน เป็นต้น หากภาวะเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จะส่งผลให้ตับอ่อนยังคงต้องสร้างอินซูลินในปริมาณมากไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดภาวะเซลล์ตับอ่อนเสื่อมตามมาได้เช่นเดียวกัน เบาหวานประเภทนี้มักพบได้ใน “แมว” ซึ่งค่อนข้างคล้ายคลึงกับในมนุษย์ค่ะ

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

การวินิจฉัยเราจะพิจารณาจากอาการของสัตว์ดังที่กล่าวมาข้างต้น อาการหลัก ๆ ที่เจ้าของสามารถดูเองได้ที่บ้านได้แก่ กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะผิดปกติ กินอาหารเยอะ ดูหิวตลอดแต่น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ ปัสสาวะมีมดมาขึ้น เป็นต้น

จากอาการและสาเหตุที่กล่าวมา การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยงนั้นทำได้ไม่ยากเลย แค่ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดในขณะที่อดอาหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 8-12 ชั่วโมง และตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะร่วมด้วย โดยค่าน้ำตาลในสุนัขปกติไม่ควรเกิน 120 mg% ในแมวจะแตกต่างจากในสุนัข ตรงที่มักมีภาวะน้ำตาลสูงอย่างเฉียบพลันที่โน้มนำจากความเครียดในห้องตรวจได้ ดังนั้นในแมวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจดูค่าน้ำตาลสะสม หรือ ฟรุคโตซามีน (fructosamine) ซึ่งเป็นค่าของโปรตีนในเลือดที่จับกับน้ำตาล โดยค่านี้จะสามารถแสดงถึงระดับน้ำตาลประมาณ 7-14 วันก่อนที่ทำการเจาะตรวจได้ ดังนั้นหากค่านี้มีระดับที่สูง ร่วมกับระดับน้ำตาลที่สูงเกิน 350 mg% ในแมว บ่งชี้ว่ามีโอกาสเป็นเบาหวานค่อนข้างสูงค่ะ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับโรคต่าง ๆ ที่แมวเคยเป็นอยู่ร่วมกับยาที่เคยได้รับก่อนหน้า ดังนั้นการวินิจฉัยโรคจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสัตวแพทย์เป็นหลัก

การรักษา

สำหรับการรักษาเบาหวานทั้งในสุนัขและแมว สามารถรักษาได้โดยการฉีดอินซูลินให้ตรงเวลา และการควบคุมอาหาร โดยอาหารสำหรับเบาหวานจะประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และไฟเบอร์สูง เพื่อชะลอการเพิ่มของระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้สัตว์อิ่มได้นานขึ้น นอกจากนี้การรักษาโรคร่วมที่ส่งผลต่อการคุมระดับน้ำตาลก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ กลุ่มอาการคุชชิ่ง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น หากตรวจพบกลุ่มโรคเหล่านี้ต้องรักษาควบคู่ไปกับการรักษาเบาหวานด้วย เนื่องจากจะทำให้การคุมระดับน้ำตาลเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

นอกจากนี้ ฮอร์โมนเพศก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำตาล ดังนั้นหากสัตว์ป่วยยังไม่ได้ทำหมัน ควรได้รับการผ่าตัดทำหมันให้เร็วที่สุดเมื่อร่างกายสัตว์พร้อมหลังจากที่วินิจฉัยโรคได้ เพราะในกรณีที่เป็นเบาหวานจากการเป็นสัด ในสัตว์บางตัวสามารถหายขาดได้จากการทำหมัน การมาพบสัตวแพทย์ตามนัด และปฏิบัติตนตามที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดถือเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาล และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากเบาหวาน รวมถึงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสัตว์ป่วยตลอดการรักษาด้วย

อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ดีที่สุด คือการป้องกันอย่าให้เป็นโรค ดังนั้นการให้อาหารที่เหมาะสมกับสัตว์ และการควบคุมน้ำหนักของสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ และควรทำ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน หลีกเลี่ยงอาหารที่ประกอบด้วยไขมันสูง หรือขนมที่มากเกินพอดี นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดอายุขัยของสัตว์เลี้ยง

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะทำให้ผู้อ่านมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยงมากขึ้น รวมถึงสามารถระมัดระวังและดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ค่ะ.

สพ.ญ.ฐิตา เตโชฬาร ประจำคลินิกหัวใจฯ
โรงพยาบาลสัตว์เล็กฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย