ซึ่งสำหรับ “สถานที่เกิดเหตุ” นั้น…บ้างก็ โรงเรียน บ้างก็ บ้าน บ้างก็ ในที่สาธารณะ แม้แต่ มูลนิธิ ที่ทำงานด้านสงเคราะห์เด็ก…ก็ยังเป็นสถานที่ที่เหตุเกิด-เกิด “ดราม่าการลงโทษเด็ก” ขณะที่ความคิดความเห็นผู้คนในสังคมไทยจากกระแสดราม่ากรณีนี้ก็ยัง “เสียงแตก”…

บ้างก็ว่า “ไม่ควรมีการลงโทษเด็กแล้ว”

และบ้างก็ว่า “ยังต้องมีเพื่อตัวเด็กเอง”

“เสียงแตก” นี้ก็ “ยังมีกับหลายดราม่า”

ทั้งนี้ ในส่วนของการลงโทษเด็กที่เป็นนักเรียนโดยครูอาจารย์นั้น เหตุการณ์ใดควร?-ไม่ควร? เหตุการณ์ใดเหมาะสม?-ไม่เหมาะสม? เหตุการณ์ใดเกินกว่าเหตุ?-ไม่เกินกว่าเหตุ? ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เชื่อว่าทั้งฝ่ายพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กที่ถูกครูอาจารย์ลงโทษ และฝ่ายครูอาจารย์ที่ลงโทษเด็ก ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ย่อมจะตระหนักกันดีอยู่แล้ว ส่วนจะ “ไม่ยอม-ยอมไม่ได้” หรือจะ “ทำมึน-แถ” นั่นก็คงต้องว่ากันไปในแต่ละเหตุการณ์-แต่ละดราม่า …ซึ่งก็เอาเป็นว่า ณ ที่นี้จะไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บ

อย่างไรก็ดี ณ ที่นี้ในวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนย้อนดูในส่วนของ “การลงโทษเด็กโดยพ่อแม่-ผู้ปกครอง-ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือนอกบ้านก็ตาม โดยปัจจุบันนี้ก็ยัง มีพ่อแม้ผู้ปกครองมากมายที่เห็นว่า “การลงโทษบุตรหลานยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ…ด้วยความหวังดีต่อบุตรหลาน-เพื่อที่จะให้บุตรหลานเติบโตขึ้นเป็นคนดี” ซึ่งหาก “ตั้งธง” ด้วยการคิดเห็นในแบบดังกล่าวนี้…ณ ที่นี้วันนี้ก็ขอเชิญให้พินิจพิจารณาเรื่องนี้กันอีกครั้งโดยโฟกัสยึดโยงในทางจิตวิทยาด้วย 

คิดว่า “ต้องลงโทษเด็กเพื่อให้เป็นคนดี”

ก็ “ต้องรู้วิธีที่ดี-ที่ไม่เป็นการทำร้ายเด็ก”

และเกี่ยวกับเรื่องนี้-กรณีนี้…วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มนำข้อมูลคำแนะนำต่อผู้ใหญ่-พ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก มานำเสนอให้พินิจพิจารณากันอีก โดยเป็นข้อมูลโดยสังเขปจากที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้เคยระบุไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต อันสืบเนื่องจากการที่ผู้คนในสังคมไทยให้ความสนใจเรื่อง “การลงโทษเด็ก” หลังจากมีกรณี “ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง” และเป็น “ดราม่าเซ็งแซ่”

ทางผู้สันทัดกรณีท่านดังกล่าวนี้ได้เคยให้ข้อมูลต่อสังคมไทยเอาไว้ ซึ่งสรุปความโดยสังเขปได้ว่า… กับเรื่องนี้-กรณีนี้…ควรจะเริ่มต้นจากการที่ผู้คนในสังคมไทยในปัจจุบัน “เปลี่ยนแนวคิด-เปลี่ยนสุภาษิต” ที่ว่า… “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”…

เปลี่ยนเป็น “รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด”

อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัสที่ “การลงโทษเด็กด้วยการตี” ที่ในสังคมไทยในปัจจุบันก็ยังคง “เสียงแตก” โดยมีทั้งฝั่งที่เห็นว่า “ตีไม่ได้?-ตีได้?” ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังครุ่นคิดอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ฝั่ง ว่า… “ปัจจุบันการตีเด็กยังมีความจำเป็นหรือไม่??” ซึ่งกับประเด็น “จำเป็น?-ไม่จำเป็น?” นั่นก็ว่ากันไป…อย่างไรก็ตาม พญ.อัมพร เห็นว่า…

กรณีที่เด็กทำความผิดรุนแรง และจำเป็นต้องควบคุมหรือต้องใช้การกำกับดูแลที่หนักแน่นชัดเจน กรณีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงโทษเด็กด้วยการ “ตี” นี่ก็ “เป็นทางเลือกหนึ่ง” การลงโทษเด็กก็อาจเลือกใช้การตี…ถ้าหากการตีทำไปเพราะมองเห็นถึงความผิดที่รุนแรงจริง ๆ แต่กระนั้น “ประเด็นสำคัญ” ไม่ได้อยู่ที่ตี?-ไม่ตี? แต่อยู่ที่ “ตีอย่างไรจึงจะถูกต้อง??” ซึ่งผู้ที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ ต้องระลึกว่า…การตีทำไปเพื่อให้เด็กรู้ว่าคือการลงโทษขั้นสูงสุด ฉะนั้น “การตี” จึงควรเก็บไว้…

ใช้เฉพาะพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสูงสุด

โดยที่… สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไม่ตีเด็กด้วยอารมณ์โกรธ-ฉุนเฉียว แต่ตีด้วยความรัก-ปรารถนาดี เพื่อให้เด็กจดจำเรื่องที่ทำผิดในฐานะเป็นเรื่องต้องห้าม-ไม่ควรทำ และต้องไม่ตีด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ไม้แขวนผ้า เข็มขัด ฯลฯ

ผู้สันทัดกรณีท่านเดิมระบุไว้อีกว่า… กับเด็กเล็ก แนะนำให้ ใช้มือตีมือของเด็ก ซึ่งจะกะน้ำหนักได้ ซึ่งการตี ต้องตีด้วยสีหน้าท่าทางจริงจัง-ท่าทีหนักแน่น ที่ไม่ใช่เกรี้ยวกราด-ด่าทอ ต้อง บอกเด็กถึงเหตุผลในการต้องตี ควรชี้แนะเด็กให้เข้าใจด้วย ซึ่งถ้าทำพฤติกรรมที่ผิดรุนแรงอีกก็จะต้องโดนตีอีกในฐานะเป็นกฎศักดิ์สิทธิ์ พร้อมมีการกำกับกฎวินัยนี้ให้ชัดเจน และแม้จะลงโทษเด็กด้วยการใช้มือ แต่ก็ต้องไม่ “ตบหน้า” เพราะนี่ไม่ใช่วิธีลงโทษเด็กด้วยความรัก-ปรารถนาดี แต่นี่จะ…

กลายเป็นทำร้ายเด็กด้วยความรุนแรง!!

ทั้งนี้ พญ.อัมพร แนะไว้ด้วยว่า… ถ้าเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ควรใช้วิธีกำชับด้วยท่าทีที่หนักแน่นจริงจัง…ไม่ใช่ตีอย่างเดียว และก็ ควรใช้วินัยทางบวกควบคู่ด้วย เช่น… เวลาเด็กทำดี หรือมีพฤติกรรมดีขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ ก็ต้องชื่นชม ให้กำลังใจ เขาด้วย… “ต้องทำให้เด็กรับรู้ให้ได้ว่า…การถูกลงโทษเกิดจากการทำผิดที่ต้องแก้ไข และสิ่งที่แฝงเร้นในการลงโทษคือความรัก ไม่ใช่ความโกรธ เกลียด หรือการระบายอารมณ์ …นี่คือ “แก่นการลงโทษเด็ก”

ขั้นต้น “ไม่เกินไป” ก็จะ “ไม่เกิดดราม่า”

และ “ลงโทษเด็ก…ต้องมิใช่แค่ลงโทษ”

“ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแค่…ทำร้ายเด็ก!!”.