ต้องใส่ใจระมัดระวังทั้ง “ภัยโควิดฟื้น

และกับ “ภัยฝูงชนเบียดอัด” นี่ก็ด้วย!! 

ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลกรณี “ภัยฝูงชนเบียดอัด!!” มานำเสนอ โดยภัยฝูงชนเบียดอัดที่ว่านี้ เมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดขึ้นเป็นระดับ “โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่” ที่เกาหลีใต้ ณ ย่านบันเทิง “อิแทวอน” และเหตุการณ์ทำนองนี้ สำหรับประเทศไทย-คนไทย ก็ “อย่าประมาท” เพราะ “ในไทยก็อาจเกิดได้!!” ซึ่งแม้ไม่ถึงขั้นตายหมู่…ก็อาจตายเดี่ยวได้!!

“ภัย” รูปแบบนี้นักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ “เตือน” คนไทยไว้… แรงผลักดันของฝูงชนทำให้ผู้ประสบเหตุถูกเบียดอัดแขน ขา ร่างล็อกติดแน่นจากการล้มทับกันเป็นโดมิโน จนเสียชีวิตจากภาวะขาดออกซิเจนเพราะทรวงอกถูกกดทับ (Compressive Asphyxia) หรืออัดกำแพง ทำให้ทรวงอกขยายไม่ได้ จึงหายใจเข้า-ออกไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่การเสียชีวิตจากการวิ่งหนีแล้วเหยียบทับกัน” …นี่เป็นการระบุไว้โดย ผศ.ดร.วรากร เจริญสุข รักษาการหัวหน้าภาควิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งรีเพลย์ภาพ “โศกนาฏกรรมอิแทวอน” ฉายภาพ “ภัยฝูงชนเบียดอัด!!”

ผศ.ดร.วรากร เจริญสุข

ทางด้าน ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็เสริมไว้ว่า… ตามมาตรฐานสากลนั้น นิยาม “ความหนาแน่นของสถานที่ (Congestion)” จะเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณคนตั้งแต่ 2 คน/ตารางเมตร ซึ่ง หากมีมากกว่า 6 คน/ตารางเมตร ก็เสี่ยงที่จะเกิดฝูงชนเบียดอัด (Crowd Crush) ได้!! …โดยหลักในการจัดการฝูงชน (Crowd Management) เพื่อจะป้องกัน “ภัยฝูงชนเบียดอัด!!” นั้นก็มี ซึ่งกับ กิจกรรมใหญ่-งานที่รวมคนจำนวนมาก ๆ…

ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างเพียงพอ

และต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ

สำหรับ “เจ้าหน้าที่” นักวิชาการท่านนี้ระบุไว้ว่า…ต้องมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก-ควบคุมความเรียบร้อยอย่างน้อยในอัตราส่วนฝูงชน 250 คน/เจ้าหน้าที่ 1 คน ขณะที่การเตรียมความพร้อมจัดงานนั้นก็มีข้อแนะนำ โดยสังเขปมีดังนี้คือ… ต้องมีการสำรวจสถานที่ วิเคราะห์จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ มีการ ติดตั้งป้ายสัญญาณ มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลที่จุดเสี่ยง ซึ่งการมีความรู้การทำ CPR ที่ถูกต้องเพื่อการช่วยชีวิตก็สำคัญ, ต้อง มีทางออกฉุกเฉิน นอกเหนือจากทางเข้า-ออกหลัก

ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร

งานที่รวมคนจำนวนมาก ๆ ควรมีการ ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน โดยมีทีมที่มีประสบการณ์เพื่อการทำงาน-การประสานงานที่ถูกหลัก และต้องมีอำนาจเต็มในการควบคุมสถานการณ์เพื่อให้ทันการณ์เพื่อความปลอดภัย, ต้อง มีแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน รวมถึง มีการแจ้งเตือนเหตุผู้เข้าร่วมงานอย่างทันท่วงที หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องมีแผนที่จะทำให้ฝูงชนไม่แตกตื่นโกลาหล-ไม่ไปที่จุดเสี่ยง รวมทั้งไม่ให้มีคนมาใหม่เพิ่มเติมเข้ามาในงาน, ต้อง เตรียมความพร้อมหน่วยรถพยาบาล เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือดับเพลิง เจ้าหน้าที่คอยควบคุม และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัย

“เลือก ใช้เทคโนโลยีในการจัดการฝูงชน Crowd Management อย่างเหมาะสม ทั้งระบบ Security และ Monitor เชื่อมโยงอุปกรณ์ IoT ระแวดระวังเหตุ” …นี่ก็อีกส่วนที่ ดร.สุพรรณ แนะนำว่าควรมี โดยเฉพาะกับงานที่ใหญ่มาก ๆ

จากข้อแนะนำฝ่ายจัดงาน หันมาดูที่ ผู้ที่จะเข้าร่วมงานที่รวมคนจำนวนมาก ๆ ซึ่งในส่วนนี้ ผศ.ดร.วรากร มีข้อแนะนำไว้ โดยสังเขปมีว่า… สังเกตจดจำทางเข้า-ออก และจุดอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาส เช่น พื้นที่สูงที่สามารถปีนได้, มีสติอยู่เสมอ ไม่เมามายเกินไป หากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่าเอาแต่ตื่นตระหนก, ในฝูงชนที่เบียดกันแน่นให้ยืนแยกขาออกห่างอย่างมั่นคง ยกแขนขึ้นในท่าตั้งการ์ดนักมวยเพื่อให้มีช่องว่างข้างตัวและด้านหน้าทรวงอกป้องกันแรงปะทะ เพื่อให้กล้ามเนื้อกระบังลมและปอดยังทำงานได้ หากรู้สึกว่าคนแน่นจนไม่สามารถยกมือขึ้นจากข้างลำตัวมาแตะที่ใบหน้าได้ นี่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเสี่ยงที่จะเกิด Crowd Crush หรือ “ฝูงชนเบียดอัด” ได้!!  ซึ่งหากมีการดันก็ “ล้มทับต่อกันเป็นโดมิโน” ได้!!

เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัยให้หาทางถอยออกจากเหตุการณ์ ไม่ถลำเข้าไปจนอาจหนีออกมาไม่ได้หากเกิดเหตุฉุกเฉินขณะที่ การหนีออกจากพื้นที่เกิดเหตุฉุกเฉินอย่าห่วงสิ่งของที่ตกพื้น-อย่าหิ้วของพะรุงพะรัง รักษาชีวิตสำคัญกว่า และ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณกำแพง รั้ว เสา เพราะอาจโดนแรงอัดอย่างรุนแรงได้ รวมถึง อย่าสวนแรงฝูงชนที่ถาโถม หรือพุ่งไปด้านหน้าตรง ๆ เพราะอาจถูกแรงกระทำให้ล้มได้ ให้เคลื่อนที่เป็นแนวทแยงเฉียงออกจากศูนย์กลางของแรงไปด้านข้าง และ หากล้มลงอย่าแผ่ตัวนอนคว่ำหรือนอนหงาย ให้นอนตะแคงงอเข่าในท่าคุดคู้ มือป้องศีรษะให้ศอกกับเข่าติดกัน เพื่อป้องกันถูกล้มทับอัดจนอวัยวะในร่างกายทำงานไม่ได้ ป้องกันการกระแทกและยังพอมีช่องว่างให้หายใจ 

…ทั้งนี้ เหล่านี้เป็น “ข้อมูล-ข้อแนะนำ” โดยสังเขป จากนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 2 ท่านดังกล่าวข้างต้น …ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วม “เตือนกันไว้” ล่วงหน้า สำหรับผู้ที่มีแพลนจะไปร่วมงานใหญ่ ๆ คนเยอะ ๆ ฉลองปีใหม่

ที่ใดมีคนมาก” ก็ “ยังต้องระวังโควิด”

ในฝูงชน” ก็ “ระวังภัยเบียดอัดด้วย!!”.