ในความน่าพิศวงของต้นไม้ที่สามารถจับ งับให้แมลงและสัตว์ติดกับดัก หลุมพราง ยังดึงดูดให้เด็ก ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เรียนรู้ฝึกสังเกต ทั้งเชื่อมโยงการอนุรักษ์การดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้พารู้จัก พืชกินแมลง โดย ดร.พุทธมน ผ่องกาย นักวิชาการชำนาญการ กองวิชาการพฤกษศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้ความรู้ พารู้จัก เข้าใจ รู้กลไกพืชกินแมลง ทั้งพาชมต้นไม้จริงจากนิทรรศการ “พฤกษชาติฆาตกร (Killer plants)” ที่ร่วมบอกเล่าความน่าทึ่ง

พืชกินแมลง เป็นชื่อเรียกที่คุ้นเคยกันมา ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Carnivorous Plants ซึ่งแท้จริงแล้วจะไม่ได้จบแค่การเลือกกินแมลง แต่สามารถกินสัตว์อื่น ๆ ได้นอกเหนือจากแมลง แต่โดยส่วนใหญ่สัตว์ที่ถูกกินมักเป็นแมลง จึงเรียกกันว่า “พืชกินแมลง”

ส่วนเหตุที่พืชต้องกินสัตว์ มีพฤติกรรมของการเป็นผู้ล่า หรือเป็นนักฆ่า ดร.พุทธมน อธิบายเพิ่มว่า โดยทั่วไปพืชมีความสามารถดึงธาตุอาหาร สารอาหารจากดิน บวกกับแสงและนํ้า สามารถสร้างอาหารเองได้ แต่สำหรับพืชกลุ่มนี้มีข้อจำกัด มีความพยายามที่จะปรับตัวเองให้อยู่รอดในพื้นที่ที่ขาดธาตุไนโตรเจน

“ด้วยที่แมลง โครงร่างของแมลงมีค่าไนโตรเจนสูง อีกทั้งโดยธรรมชาติพืชมีความสัมพันธ์กับพวกแมลงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผสมเกสร ฯลฯ จึงมีวิวัฒนาการเพื่อหาไนโตรเจนจากแมลง โดยสร้างกับดักในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจับแมลง ย่อยสลายพวกสารอาหารต่าง ๆ จากแมลงหรือจากสัตว์ นำมาใช้ในกระบวนการสร้างอาหาร เพื่อให้อยู่รอด โดยส่วนใหญ่พืชพวกนี้ มักขึ้นอยู่ในพื้นดินที่ค่อนข้างเป็นทราย ดินที่ขาดธาตุอาหาร”

นักวิชาการชำนาญการ กองวิชาการพฤกษศาสตร์ ดร.พุทธมน เล่าขยายอธิบาย กลไกที่ใช้จับเหยื่อ หรือกับดัก ของพืชในกลุ่มอีกว่า กลุ่มพืชกินสัตว์ หรือกินแมลง แบ่งประเภทของกับดักได้หลายรูปแบบโดยหลัก ๆ ที่รู้จักกัน อย่างเช่น กาบหอยแครง จะมีกลไกการงับ จับ ตะครุบเหยื่อ

ขณะที่อีกรูปแบบลักษณะเป็นหม้อ อย่างเช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง โดยกลุ่มนี้จะรอเหยื่อผ่านเข้ามา ไม่มีกลไกการขยับ จับหรือตะครุบใด ๆ ส่วนอีกรูปแบบมีลักษณะคล้ายกับสองรูปแบบที่กล่าวมา แต่มีกลไกที่ซับซ้อนกว่า อย่างเช่น สาหร่ายข้าวเหนียว เป็นพืชนํ้า ถุงขนาดเล็กที่อยู่ในนํ้าจะมีกลไกดูดนํ้า สัตว์เล็ก ๆ อย่างโปรโตซัวที่อยู่ใกล้ ๆ จะถูกดูดเข้าไปในถุง ในกระเป๋าของสาหร่ายข้าวเหนียว จากนั้นจะย่อยกิน ซึ่งลักษณะนี้เป็นการรวมกันระหว่างกับดักแบบถุงและการจับ ตะครุบ

นอกจากนี้ยังมีกลไกในรูปแบบ กระดาษกาว โดยที่จะพบเห็นได้อย่างเช่น หยาดนํ้าค้าง บัตเตอร์เวิร์ต ส่วนใบ ต้นจะมีความเหนียว แมลงจะเข้ามาติดกับดัก และในกลไกทั้งสี่รูปแบบนี้ ได้นำมาแสดงให้ชมผ่านพฤกษชาติฆาตกร นิทรรศการเล็ก ๆ ซึ่งนำตัวอย่างพืชให้ร่วมศึกษา สังเกตใกล้ ๆ จำลองถิ่นที่อยู่ของพืชกินแมลงกันในโซนวนนิเวศของไทย หรือสวนป่า ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

อย่างไรก็ตาม กับดักทุกรูปแบบที่กล่าวมา โดยธรรมชาติแมลงหรือสัตว์จะไม่เข้าไปติดหลุมพรางได้ง่าย ๆ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าจะต้องมีสิ่งใดบางอย่าง ล่อลวง ชวนให้หลงกล ผู้เขียนบทความพฤกษชาติฆาตกร บทความต่อเนื่องเผยแพร่เรื่องน่ารู้พืชกินแมลงทางเพจพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ดร.พุทธมน อธิบายเพิ่มอีกว่า ก็เป็นไปได้ว่า อาจเป็นเรื่องของกลิ่น นํ้าหวาน หรือสีสัน ชวนให้หลงกล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิดไป โดยกลไกเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เรียนรู้ เข้าใจถึงการทำงานของพืช

“กลไกการทำงานของพืชจะไม่เหมือนกับสัตว์ อย่างการขยับเคลื่อนไหวมีความต่างกัน อย่างเช่นมนุษย์ การลุก การนั่ง วิ่ง เดินอาจไม่ใช่เรื่องยาก สรีระร่างกายออกแบบเพื่อการเคลื่อนไหว แต่สำหรับพืช ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเคลื่อนไหวในรูปแบบเหล่านี้ แต่ละครั้งที่พืชเคลื่อนไหวจะใช้พลังงานค่อนข้างมาก อย่างเช่น การจับ ตะครุบ การขยับจับเหยื่อ แต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าศึกษา”

“กาบหอยแครง” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัด การที่จะตะครุบจับเหยื่อแต่ละครั้ง พืชจะมั่นใจว่าจะไม่พลาด จะได้กินเหยื่อ กาบหอยแครงมีขนเล็ก ๆ สามเส้นในแต่ละกาบ ถ้าแมลงหรือสัตว์พลาดโดนเป็นอันว่าจบ จากสิ่งนี้ยังตอบโจทย์ขนาดของเหยื่อจะใหญ่พอและคุ้มค่าพอที่กาบหอยแครงจะจับ โดยหากเหยื่อมีขนาดเล็กเกินไป ไม่ชนเส้นขนก็จะไม่ปิด เป็นต้น

ขณะที่ “ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง” พืชที่มีลักษณะเด่น สวยแปลกตา จากที่กล่าวกลไกของเขาจะสร้างกลิ่น สร้างนํ้าหวานภายในหม้อ อีกทั้งปากของหม้อมีลักษณะเทลาด มีแวคเคลือบอยู่ เมื่อแมลงหรือมดเข้ามาบริเวณนี้จะลื่นไหลตกลงไป และเมื่อเข้าไปแล้วก็ยากที่จะออกมา ฯลฯ กลไกพิเศษเหล่านี้จึงเป็นเรื่องน่าศึกษา ทั้งนำไปต่อยอด พัฒนาในเรื่องอื่น ๆ ได้อีกมาก

จากความน่าพิศวง น่ามหัศจรรย์ของพืชกินแมลง ยังบอกเล่าถึงความหลากหลาย จะเห็นว่าเพียงแค่พืชที่นำมายกตัวอย่าง แต่ละชนิดมีกลไกการดักจับ ลวงเหยื่อที่ต่างกัน ทั้งนี้กลุ่มพืชกินแมลงมีรายละเอียดน่าศึกษา และแยกย่อยออกไปอีก อย่างเช่น กลุ่มของหม้อข้าวหม้อแกงลิง หยาดนํ้าค้าง มีอีกหลายชนิด โดยครั้งนี้จากที่กล่าวเลือกกลุ่มตัวอย่าง นำมาให้ชม เชื่อมโยงให้เด็ก ๆ และผู้เข้าชมได้รู้จัก เข้าใจ และรู้ถึงกลไกของพืชกินแมลง

“กลุ่มพืชกินแมลง กินสัตว์ยังมีมากกว่านี้ แต่บางกลุ่มไม่มีในประเทศไทยหรือในเอเชีย อาจจะมีในแถบอเมริกาใต้ ส่วนที่นำมามีทั้งในธรรมชาติของบ้านเรา อย่างเช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง หยาดนํ้าค้าง และที่ไม่พบในบ้านเรา อย่างเช่น ซาราซีเนีย เป็นต้น”

นอกจากความสวยงาม พืชกินแมลงในพื้นที่ธรรมชาติยังช่วยกำจัดควบคุมประชากรแมลง อย่างเช่น หยาดนํ้าค้าง อาจเห็นว่าเป็นต้นเล็ก ขนาดเล็ก แต่หากมีปริมาณมาก แน่นอนว่าสามารถช่วยควบคุมประชากรแมลงได้ โดยแมลงเหล่านั้น อาจเป็นแมลงที่รบกวนพืชที่ปลูก แต่อย่างไรแล้วคงต้องศึกษาต่อ แต่การที่พืชช่วยกินแมลง เป็นการสร้างสมดุลธรรมชาติ

“หม้อข้าวหม้อแกงลิง ในบางพื้นที่นำส่วนหม้อนำมาล้างใส่ข้าวเหนียวแล้วนำไปนึ่ง เป็นเหมือนภาชนะและนำมารับประทานกัน เป็นอีกหนึ่งประโยชน์ที่นอกจากการช่วยจับกินแมลง และนอกจากการกินแมลง สัตว์บางชนิดก็ได้ใช้ประโยชน์จากนํ้าในหม้อของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง อย่างเช่นในช่วงฝนตก หม้อจะกักเก็บนํ้าไว้ สัตว์บางชนิดจะมาดื่มกินนํ้า เป็นอีกสมดุลต่อกัน เป็นสมดุลธรรมชาติที่น่าชม”

พืชกินแมลง หรือไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณไม้ใด ๆ มีเรื่องราวที่น่าสนใจ มีความน่ามหัศจรรย์ซ่อนอยู่ แม้แต่ต้นไม้ที่ปลูกดูแล การได้เฝ้ามอง ศึกษาสังเกตเบื้องต้น นอกจากให้ความผ่อนคลาย เป็นงานอดิเรกแล้ว ต้นไม้ยังเชื่อมโยงให้เราใกล้ชิดธรรมชาติ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ

พืชกินแมลง พืชที่มีความน่าทึ่งมีความแปลก ยังเป็นสื่อการเรียนรู้ธรรมชาติ เรียนรู้เข้าถึงวิทยาศาสตร์ ช่วยฝึกการสังเกต การคิดวิเคราะห์ ทั้งยังเป็นอีกส่วนสำคัญปลูกสร้างการอนุรักษ์ ดูแลธรรมชาติ เป็นอีกเรื่องน่ารู้จากพืชกลุ่มนี้ …

พืชกินแมลงที่ซ่อนแง่มุมน่ารู้ชวนตื่นตาตื่นใจ พืชที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ ใกล้ชิดธรรมชาติ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ