ภาพวาดที่มีเอกลักษณ์บูรณาการระหว่างงานทางด้านศิลปะกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อนำเสนอและสื่อสารข้อมูลด้วยภาพที่มีรายละเอียด ความถูกต้อง ไม่ใช่การวาดภาพเหมือนจริง แต่เน้นการวาดให้ถูกต้องตามลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ…

การวาดภาพดังกล่าวยังนำมาใช้บันทึก อ้างอิง ฯลฯ โดยภาพที่กำลังกล่าวถึงนี้คือ “การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์” ภาพที่มากด้วยเรื่องน่ารู้ น่าศึกษาหลายมิติ ทั้งนี้ชวนค้นความรู้การวาดภาพ พาไปทำความรู้จักกับภาพวาดดังกล่าว โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเสฐียร บุญสูง อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนวิชาการวาดภาพทางชีววิทยา อธิบาย เล่าความสำคัญภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ว่า ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์เป็นภาพวาดที่จะเน้นจุดสำคัญคือ รายละเอียดและความถูกต้องของสิ่งที่นำมาวาด โดยไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ จะเน้นที่รายละเอียด ขณะที่ความสวยงามจะมาทีหลัง

“ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ผู้วาดจะเน้นการวาดเก็บรายละเอียดในเชิงวิชาการ เชิงวิทยาศาสตร์ เก็บความถูกต้องเป็นสำคัญ ภาพวาดลักษณะนี้มีเกิดขึ้นมายาวนานในต่างประเทศ โดยภาพวาดยุคแรกวาดบันทึกภาพพืชสมุนไพร จากนั้นวาดต่อเนื่องมา โดยคงยึดหลักการสำคัญของการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือ การเก็บรายละเอียด ความถูกต้อง”

อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา รศ.ดร.บุญเสฐียร ให้ความรู้ขยายความเพิ่มอีกว่า ในอดีตที่ยังไม่มีกล้องถ่ายภาพ ภาพวาดจะทำหน้าที่บันทึกและสื่อสาร แต่ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ จากที่กล่าวมีความพิเศษ ต่างจากภาพวาดทั่วไป ภาพจะทำหน้าที่สื่อสารให้รายละเอียดที่ถูกต้อง อย่าง สมุนไพรที่มีมากมาย บางชนิดมีความคล้ายคลึงกัน การวาดภาพที่มีรายละเอียดความถูกต้อง จะนำมาสื่อสาร นอกจากทำให้เลือกนำมาใช้ได้ไม่ผิด ยังเป็นบันทึก ให้ข้อมูลสมุนไพรชนิดนั้น ๆ

“การวาดภาพลักษณะนี้ อย่างเช่น วาดพืชชนิดหนึ่ง จะให้ข้อมูลสิ่งที่เป็นโครงสร้างของพืช ไม่ว่าจะเป็นราก ลำต้น ใบ และดอก โดยเฉพาะ ดอก เป็นส่วนสำคัญ ทั้งนี้ การวาดภาพลักษณะนี้จากที่กล่าว ต่างจากการวาดภาพทั่วไป เป็นภาพวาดที่สื่อสาร แสดงให้เห็นลักษณะสำคัญ ๆ เก็บรายละเอียด ความถูกต้อง ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นบันทึก อ้างอิง และยังทำให้เกิดการเฝ้าสังเกต ติดตามทำให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้น”

รศ.ดร.บุญเสฐียร อธิบายอีกว่า การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ในบ้านเราเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น มีเครือข่ายนักวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ มีการอบรม ถ่ายทอดความรู้การวาดภาพลักษณะนี้แพร่หลายขึ้น โดยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาสัตววิทยา เราเปิดสอน มีวิชาเรียนการวาดภาพทางชีววิทยามานับสิบปี โดยที่เพิ่งผ่านไป ได้นำผลงานภาพวาดฯ ของนิสิต จัดแสดงและจัดเสวนา บอกเล่าบทบาท เรื่องราวภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ 

“การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์มักเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวาดภาพกับนักวิทยาศาสตร์ หากนักธรรมชาติวิทยา หรือนักชีววิทยาสามารถวาดภาพได้ด้วยตนเอง จะทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ลงในภาพวาดได้อย่างละเอียด ถูกต้อง และแม่นยำมากยิ่งขึ้น    

รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเสฐียร บุญสูง

อีกทั้งการวาดภาพในลักษณะนี้ ยังนำประยุกต์ สื่อสารด้วยภาพวาดดิจิทัล โดยนำหลักการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเน้นการเก็บรายละเอียด ความถูกต้องนำมาใช้สื่อสาร ทั้งสามารถเชื่อมโยง ต่อยอดนำไปประยุกต์ใช้กับงานด้านอื่น ๆ ได้อีกมาก”

ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ที่จะเห็นได้ชัดคือ งานที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยา โดยหลัก ๆ จะมีพืช และสัตว์ หรือหนังสือทางการแพทย์กายวิภาค จะเน้นภาพวาดมากกว่าภาพถ่าย ภาพวาดจะเก็บรายละเอียด เก็บความซับซ้อนของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท ฯลฯ แสดงให้เห็นรายละเอียดชัดเจน การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น ส่วนที่มีโครงสร้างเล็ก ๆ ก็สามารถสื่อสารด้วยภาพวาดได้ โดยการทำงานจะมีกล้องจุลทรรศน์ช่วย

การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์สามารถฝึกฝนกันได้ โดยสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับผู้ที่วาดภาพในแนวทางนี้ หรือผู้ที่จะเป็นนักวาดภาพธรรมชาติคือ การสังเกต อาจารย์ผู้สอนวิชาการวาดภาพทางชีววิทยา รศ.ดร.บุญเสฐียร ปันประสบการณ์วาดภาพทางวิทยาศาสตร์ ภาพวาดทางชีววิทยาเพิ่มอีกว่า ภาพที่วาดไว้มีทั้งพืชและสัตว์ แต่ที่มีความถนัดเป็น ภาพแมลงนํ้า สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในนํ้าจืด อย่างในงานวิจัยตัวอ่อนแมลงชีปะขาวในประเทศไทย ภาพในหนังสือก็ได้วาดไว้

จากที่กล่าว ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์เป็นการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ โดยการวาดภาพมีหลักการเดียวกันคือความละเอียดและความถูกต้องเป็นสำคัญ ขณะที่ความสวยงามจะมีแสงและเงา ส่วนการวาดภาพพืช หรือสัตว์ ภาพวาดทางชีววิทยา จะมีรายละเอียดต่างกันไป ทั้งนี้สิ่งมีชีวิตมีความมหัศจรรย์ การปรับตัวเพื่อเข้ากับสิ่งแวดล้อม ผู้วาดภาพจึงต้องมีความเข้าใจในการเก็บรายละเอียด  

“ในการเรียนการสอนการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาจะเริ่มวาดวัตถุที่ง่าย ๆ ก่อน อย่างเช่น วาดเปลือกหอย จะนำรูปทรงที่ไม่ซับซ้อน ทรงกลม ทรงเจดีย์ นำมาเพื่อฝึกฝนทักษะ ประสบการณ์ จากนั้นนำเปลือกหอยที่มีสัน มีปุ่ม หอยหนาม นำมาฝึกเพิ่มทักษะเพิ่มขึ้น เก็บประสบการณ์การวาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะไม่เริ่มจากวัตถุที่มีความยาก ซับซ้อน ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเพื่อให้การวาดไปถึงจุดหมาย”

การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์มีทั้งความเป็นศาสตร์ทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ มีเทคนิคการวาดสร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ ผู้วาดต้องเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสม อย่างเช่น เทคนิคดินสอ เหมาะกับภาพที่มีผิวค่อนข้างเรียบ อย่าง รูปกะโหลก จะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน เทคนิคปากกาและหมึก มักนำมาใช้วาดภาพทางชีววิทยาค่อนข้างมาก ขณะที่ เทคนิคสีนํ้า ก็เป็นที่นิยม ทำให้ภาพมีสีสัน ซึ่งเหมาะกับการวาดภาพพืช ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ภาพผีเสื้อ และในปัจจุบันยังมีเทคนิคสีไม้ รวมถึงการวาดภาพดิจิทัล 

“การวาดภาพมีทั้งแบบขยายและย่อสัดส่วน จะไม่วาดขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้เสียเวลาวาด ขณะเดียวกันจะไม่วาดเล็กเกินไป หรือในบางครั้งถ้าเป็นการเริ่มต้นวาด อาจฝึกวาดเท่ากับขนาดตัวอย่างจริง แต่ถ้าภาพจริงมีขนาดเล็กมาก จากที่กล่าวอาจต้องขยายขึ้น โดยมีตัวช่วยใช้กล้องจุลทรรศน์ แว่นขยาย ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้วาดต้องการเก็บรายละเอียดมากน้อย อย่างไร” 

การวาดทางวิทยาศาสตร์ยังส่งต่อการเรียนรู้นำมาต่อยอด ประยุกต์เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ ได้อีกหลายมิติ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา รศ.ดร.บุญเสฐียร ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า ทักษะความรู้จากการวาดภาพ นอกจากนำมาสื่อสารงานด้านวิทยาศาสตร์ โดยภาพวาดที่ให้รายละเอียดถูกต้องในเชิงวิทยาศาสตร์ จะสามารถสร้างความเข้าใจ เป็นเหมือนการย่อยความรู้ให้เข้าถึงและเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น

จากที่กล่าวอาจนำไปประยุกต์ใช้ในงานแขนงอื่น ๆ อย่างในเชิงธุรกิจแบรนด์ดิ้ง นำมาเพิ่มมูลค่าสินค้า การใช้ภาพวาดดอกไม้ แมลง ฯลฯ ที่มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์จัดทำเป็นโลโก้ นำความเป็นวิทยาศาสตร์มาผสมผสานสื่อสารจะทำให้มีความน่าสนใจ สะดุดตายิ่งขึ้น 

“ในนิทรรศการภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ หลายปีที่ผ่านมา นอกจากแสดงภาพวาด ยังมีมินิโปรเจคท์ บูรณาการความรู้จากการเรียนวาดภาพฯ นำมาสร้างสรรค์ต่อยอดในเรื่องต่าง ๆ แต่ละปีจะนำเสนอต่างกันไปที่เพิ่งผ่านไปเสนอในเรื่องบิสซิเนสไอเดีย นำภาพวาดฯออกแบบโลโก้ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ หรือปีก่อนหน้านำวัสดุธรรมชาติ วัสดุเหลือใช้ นำมาสื่อสาร เล่าเรื่องร่วมกับภาพวาด อย่างเช่นพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือช่วงโควิด ที่เป็นการเรียนการสอนออนไลน์ นำภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ทั้งพืชพรรณไม้ ดอกไม้ ผีเสื้อ นำมาดีไซน์จัดวางในจุดต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ทำเป็นแผนที่สื่อสาร สร้างการเรียนรู้ผ่านภาพวาดทางวิทยาศาสตร์”

ภาพวาดที่บูรณาการระหว่างงานศิลปะและงานทางด้านวิทยาศาสตร์ นำเสนอและสื่อสารข้อมูลด้วยภาพที่มีรายละเอียด ความถูกต้อง.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ