ยังเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสกับมหาวิกฤติโควิด-19 ในระลอกนี้ ตัวเลขยอดผู้ได้รับวัคซีนในประเทศไทย สะสม 23,592,227 ราย แบ่งเป็น เข็มแรก 17,996,826 โด๊ส (27.2%), เข็มสอง 5,109,476 โด๊ส (7.7%) และ เข็มสาม 485,925 โด๊ส (0.7%) ล่าสุดทาง ศบค.มีมติขยายมาตรการล็อกดาวน์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 18-31 ส.ค.นี้

สำหรับยอดติดเชื้อใหม่ ยังคงไม่ต่ำกว่าวันละ 2 หมื่นราย ผู้เสียชีวิตนิวไฮต่อเนื่อง ยอด ณ วันที่ 17 ส.ค. เสียชีวิตสูงถึง 239 ราย ทำให้ตัวเลขยอดผู้ป่วยสะสม กำลังใกล้จะแตะหลักล้านคน(948,442 ราย) ผู้เสียชีวิตสะสม (7,973 ราย) โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ใน กลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค, กลุ่มภาวะอ้วนมีน้ำหนักเกิน และที่ควรถูกจับตาอย่ามองข้ามเด็ดขาดอีกกลุ่มคือ ตอนนี้เริ่มจะมีปริมาณเด็กและเยาวชนที่ติดเชื้อมากขึ้น

กลุ่มเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน อีกทั้งเมื่อติดแล้วมักไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ข้อมูลทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยเด็กก็ยังมีน้อย จึงต้องเร่งวางแผนควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มนี้เช่นกัน 

เด็กเยาวชนยังไม่ได้รับวัคซีน

ทีมข่าว  1/4 Special Report ได้นำเสนอตอน 1 ไปแล้วเกี่ยวกับกลุ่มเสี่ยงภาวะอ้วน ตอน 2 เป็นเรื่องกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งทาง รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ ผู้ก่อตั้งหน่วยอายุรศาสตร์ มะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีมุมมองสนใจสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดเด็ก ว่า นับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก สิ่งที่น่าห่วงคือ ผู้ป่วยกลุ่มเด็ก ถือเป็นพาหะสำคัญ ที่จะนำเชื้อเข้ามาสู่คนที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ที่สำคัญตอนนี้เด็กเกือบทั้งหมดยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่วนสาเหตุการติดโควิดของเด็ก ที่โดยธรรมชาติจะเล่นซนเป็นปกติจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากการเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ ขณะที่การใส่หน้ากากอนามัย เด็กจะแอบถอดหรือเปิดหน้ากากเวลาผู้ใหญ่ไม่อยู่ และยิ่งเด็กติดแล้วไม่มีอาการ ทำให้เมื่อไปเล่นกับเพื่อนจะทำให้ติดเชื้อกันไปมา

จากข้อมูลของรัฐบาลเฉพาะเดือนสิงหาคม มีคนไข้ เด็กแรกเกิด จนถึง อายุ 12 ขวบ  ติดโควิดทั่วประเทศ 16,202 คน สิ่งนี้สะท้อนถึงปัญหาที่ยังซุกซ่อนอยู่ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะยากจน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อจากผู้อื่นได้ง่าย นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ก็มักจะติดจากลูก ที่ไปเล่นข้างนอกบ้านแล้วนำเชื้อมาติด สิ่งนี้เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกัน จำเป็นต้องแก้ปัญหาทั้ง 2 กลุ่มนี้ไปพร้อม ๆ กัน กว่า 80% มาจากการติดเชื้อภายในบ้าน ด้วยความที่ผู้ป่วยเด็กที่ติดโควิด ไม่ค่อยแสดงอาการทำให้กระบวนการรักษาค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการวินิจฉัยโรค เนื่องจากเด็กโดยทั่วไปมักจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ๆ บางครอบครัวเลยไม่ได้พาเด็กไปโรงพยาบาล ดังนั้นการจะป้องกันเมื่อเกิดอาการป่วยจะต้องตรวจด้วย “แอนติเจน เทสต์ คิท”เพื่อความปลอดภัย

เร่งวางแผนควบคุมห่วงป่วยอาการหนัก

รศ.นพ.นรินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของสายพันธุ์ เดลตาพลัส (Delta Plus) ทำให้มีผู้ป่วยสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มมีปริมาณผู้ป่วยเด็กติดมากสุดในเดือนสิงหาคม สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นอีกคือ เด็กแรกคลอด ที่ยังไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ เนื่องจากยังหายใจเองไม่เป็น จากการวิจัยในประเทศอังกฤษ ด้วย กลุ่มตัวอย่าง เด็กแรกเกิดจนถึง 17 ปี ที่ติดเชื้อโควิด 1,734 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างเมื่อติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ แต่อาการที่เจอบ่อยคือ ปวดหัว 62% ตามด้วยมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง 55% ส่วนอาการมีไข้หรือไอจะพบน้อย โดยเด็กเล็กมีอาการน้อยกว่าเด็กโต เนื่องจากตัวรับไวรัสในร่างกายมีน้อยกว่า กลุ่มเด็กอายุ 12–17 ปี เฉลี่ยมีอาการประมาณ 7 วัน แต่ถ้าเด็กเล็กอายุ 5–11 ขวบ มีอาการเฉลี่ยประมาณ 5 วัน แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อตรวจเชื้อไปเรื่อย ๆ พบเด็กบางคนอาจมีอาการนานถึง 28 วัน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงติดตามมาจากการวิจัยคือ ผู้ป่วยโควิดเด็ก เมื่ออาการหายแล้ว อาจมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หายใจลำบาก สมองหรือเส้นประสาทเสื่อม อาการนี้เจอในเด็กไม่เยอะ แต่ประมาทไม่ได้ ดังนั้นควรต้องระวังอาการเหล่านี้ในระยะยาว แม้จะหายโควิดแล้ว

น่าสนใจว่า เด็กเล็กที่ติดโควิด ที่ยังสื่อสารถึงอาการไม่ได้ ผู้ปกครองจะต้องสังเกตว่า เด็กมีอาการซึม ไม่ดื่มนม ไม่กินอาหาร มีไข้ ร้องไห้งอแงไม่หยุด ถ้าเด็กที่เคยดิ้นหรือคลานบ่อย ๆ แต่กลับซึมไม่สดชื่น หรือเด็กบางคนมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ควรรีบตรวจโควิดเด็กด้วย แอนติเจน เทสต์ คิท     

สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กจะใช้รูปแบบเดียวกับผู้ใหญ่ เช่น ที่ประเทศอังกฤษ ถ้าเด็กป่วยโดยไม่มีอาการจะให้ดูแลรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่ถ้าเด็กมีอาการเหนื่อย หอบ ปอดบวม มีไข้สูง ทานอาหารไม่ได้ ท้องเสียรุนแรง จะต้องนำเด็กไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยเด็กในไทยมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางป้องกัน ครอบครัวสามารถสังเกตอาการเด็กที่มีภาวะวิกฤติได้จากการหายใจ ถ้ามีการหายใจที่ลำบาก อาจเกิดจากปอดที่มีอาการอักเสบจนทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้ หรือบางรายมีโรคอื่น ๆ สอดแทรกผ่านเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อรา ที่ทำให้มีอาการหนัก และเข้าไปยังกระแสเลือดจนทำให้ระบบการทำงานของตับและไตผิดปกติ จนเสียชีวิต

ตอนนี้ด้วยความที่ไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่เราจำเป็นต้องใช้ยาบางตัว ขณะที่ความปลอดภัยในการใช้ยาโควิด ในเด็กเล็กตอนนี้มีข้อมูลน้อยมาก โดยเฉพาะการประเมินผลในเด็กเล็กที่ยังสื่อสารกันไม่เข้าใจ ขณะที่ไอซียู สำหรับเด็กยังมีน้อย น่าเป็นห่วงว่า ถ้ามีการปล่อยให้เด็กติดเยอะมากกว่านี้ การหาห้องไอซียูสำหรับเด็กจะยิ่งยาก และหมอเด็กโดยเฉพาะก็มีน้อย ดังนั้นถ้าไม่มีการป้องกันการแพร่เชื้อในเด็ก อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเด็กอาจมีเพิ่มสูงขึ้น

ลุยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนเปิดเรียน

รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การป้องกันการติดเชื้อในเด็ก ควรมีการฉีดวัคซีนที่ทั่วถึง ซึ่งข้อมูลที่มีเยอะตอนนี้คือ วัคซีนโมเดอร์นากับไฟเซอร์ โดยในสหรัฐอเมริกามีการอนุมัติให้ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนในจีน มีการอนุมัติให้ฉีดซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ในกลุ่มเด็ก แม้มีผลวิจัยมารองรับไม่มาก แต่ต้องฉีดป้องกันไว้ก่อน ขณะเดียวกันครอบครัวจะต้องมีการฝึกเด็กให้รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และกินร้อนช้อนกลางทุกครั้ง นอกจากนี้วัคซีนทางใจก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะฝึกเด็กให้มีจิตใจเข้มแข็ง

สำหรับการเปิดเรียนของเด็ก ด้วยความที่สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ จึงทำให้หลายครอบครัวไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ให้ลูกเรียนออนไลน์ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งยากมากขึ้น ดังนั้นการเรียนออนไลน์ควรให้อินเทอร์เน็ตฟรี และควรมีอุปกรณ์ให้ในเด็กที่ขาดแคลน โดยครูต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด

ที่สำคัญการจะเปิดเรียนได้ ควรฉีดวัคซีนในเด็กเพื่อมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” ขณะเดียวกันต้องมีระบบการตรวจหาเชื้อที่รวดเร็ว หากสงสัยเด็กคนไหนเข้าข่ายต้องตรวจทันที และแยกจากกลุ่มเพื่อน ต้องมีหน่วยงานทีมแพทย์ด้านนี้คอยช่วยเหลือ หากมีการแพร่กระจายเชื้อในโรงเรียน จะต้องมีทีมแพทย์ที่รับผิดชอบเข้าไปช่วยเพื่อจะควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็วสู่เพื่อนักเรียน ครู และผู้ปกครอง.