เมื่อช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา อิสราเอล และ เลบานอน บรรลุข้อตกลงเขตแดนทางทะเล โดยมีสหรัฐเป็นคนกลางตลอดห้วงการเจรจา ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันและเป็นที่ยอมรับในระดับระหว่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยยุติข้อพิพาทในพื้นที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกอย่างเป็นทางการ รวมถึงกำหนดเขตแดนทางทะเลระหว่าง อิสราเอล กับ เลบานอน ในระยะห้ากิโลเมตรแรกไปจนถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ

ข้อตกลงกำหนดเขตแดนทางทะเลดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่ เลบานอน ยอมรับ อิสราเอล โดยพฤตินัย ขณะเดียวกัน การที่กลุ่มประเทศอาหรับ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างร่วมสนับสนุนข้อตกลงฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในภูมิภาคที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของข้อตกลงฉบับนี้แล้ว จะเห็นได้ว่ามีประเด็นสำคัญสามประเด็นคือ 1) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะยังคงไว้ซึ่งสถานะปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องชายฝั่งของอิสราเอลในระยะห้ากิโลเมตร 2) อิสราเอลสามารถแสวงหารายได้จากแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติไซดา (Saida) ในพื้นที่เขตชายแดนเลบานอนได้ 3) ข้อตกลงฉบับนี้ได้กำหนดให้สหรัฐ มีบทบาทแก้ไขข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น หรือในกรณีมีการพบข้อมูลใหม่ในอนาคต

อีกผลประโยชน์หลักที่สำคัญคือความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ กล่าวคือ อิสราเอล จะสามารถเสริมศักยภาพด้านการป้องกันและการป้องปรามต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การป้องกันการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานในแหล่งก๊าซธรรมชาติ

การที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับประเด็นการคงอยู่ของสถานะพื้นที่เขตทะเลห้ากิโลเมตรนั้น มีส่วนช่วยรักษาสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนในพื้นที่ทางทะเลได้ อิสราเอลยังจะสามารถป้องกันการรุกรานและการโจมตีจากกองกำลังก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

นอกจากนั้น ข้อตกลงทางทะเลฉบับนี้ยังช่วยให้เลบานอนได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยทั่วไปแล้วการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติระหว่างชายแดนทางทะเลของสองประเทศมักจะเผชิญกับความท้าทายเสมอ ถึงแม้ว่าสองประเทศนั้นจะเป็นประเทศที่เป็นมิตรกันก็ตาม

แท่นขุดเจาะไซดา จะช่วยส่งเสริมให้เลบานอนได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ขณะเดียวกัน แท่นขุดเจาะนี้ยังจะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเลบานอน ซึ่งเป็นประเทศที่พลเมืองประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับเป็นเวลานานในแต่ละวัน

ดังนั้น อิสราเอลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อตกลงฉบับนี้จะช่วยให้เลบานอนกลายเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ และเจริญรุ่งเรือง และที่สำคัญคือ กลุ่มก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์ จะไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากของข้อตกลงนี้ได้ เพราะจะเผชิญกับมาตรการการคว่ำบาตรจากสหรัฐโดยทันที

นอกจากนี้ ข้อตกลงทางทะเลจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค รวมถึงสร้างความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและพลังงานของเลบานอน ซึ่งจะลดอิทธิพลของอิหร่านได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน อิสราเอลเอลก็จะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมจากโครงการการพัฒนาแหล่งก๊าซไซดาเช่นกัน

โดยภาพรวมแล้ว ข้อตกลงฉบับนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้แล้ว แต่ยังเป็นหนึ่งในความสำเร็จสำคัญให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างประเทศสามารถบรรลุได้ถึงแม้ประเทศคู่เจรจาจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตก็ตาม และอิสราเอลพร้อมที่จะตอบสนองในเชิงบวก หากจุดยืนของประเทศเพื่อนบ้านตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลและสะท้อนความเป็นจริง เพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและต่อประชาชนในภูมิภาค.

ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS