อย่างแรก ขอให้ตั้งสติอ่านบทความนี้ไว้ แม้ไม่อยากให้ใครได้ใช้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเผชิญก็ควรรู้ว่าเรา…ทำอะไรได้บ้าง

“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามประเด็นดังกล่าวจาก นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เเละรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ข้อมูลว่า กรณีคนหาย อัยการสามารถช่วยแนะนำให้ความรู้ทางกฎหมายได้ผ่านสายด่วน 1157 แต่ในกระบวนการ “ค้นหา” อัยการไม่สามารถลงไปช่วยได้ เพราะเป็นหน้าที่ตำรวจ ปัจจุบันการแจ้งคนหายไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 24 ชม.

ยิ่งกรณีเร่งด่วนอย่างเด็ก คนชรา ผู้ป่วยทางจิตประสาท ผู้ป่วยสมองเสื่อม หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะมีหลักเกณฑ์ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยจิตประสาท คนชรา เป็นโรคอัลไซเมอร์ หากไม่รีบแจ้งความรอให้ครบ 1 วัน ระหว่างนั้น หากประสบอุบัติเหตุก็ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทัน โดยเฉพาะเด็กต้องรีบตามหา

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าแม้ไม่ใช่ญาติ หรือไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็สามารถแจ้งคนหายได้ “หากมีเหตุจำเป็น” เช่น บังเอิญเจอกับคนป่วยที่พูดจาไม่รู้เรื่อง มีอาการหลอนยา เมายา หรืออาการทางจิตประสาท แล้วบอกให้นั่งอยู่กับที่ ส่วนตัวเองไปตามหาคนมาช่วยเหลือ แต่กลับมาแล้วไม่พบบุคคลดังกล่าว เมื่อประเมินแล้วว่า หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย สามารถแจ้งตำรวจได้ทันที ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ หรือคนรู้จัก ทุกอย่างดูไปตามพฤติการณ์และเหตุที่เกิดขึ้นว่า เป็นการหายอย่างผิดปกติหรือไม่

พร้อมยกตัวอย่างน่าสนใจ กรณีมีผู้โทรศัพท์มาสอบถามอัยการ สคช. ว่า เด็กหายตัวไป และมีคนกลุ่มหนึ่งนำภาพหน้าเด็กไม่เบลอหน้า ไปเผยแพร่ตามโซเชียลเพื่อตามหา ซึ่งบางส่วนมองว่าผิด เพราะกฎหมายให้การคุ้มครองเด็ก ไม่สามารถนำภาพหน้ามาใช้ได้นั้น

นายโกศลวัฒน์ ระบุ กรณีดังกล่าวจะไม่มีความผิด เพราะเจตนาที่ว่าเด็กคนนี้หายและต้องการให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้นำภาพเด็กมาหาประโยชน์ทางธุรกิจ หรือประโยชน์ทางการค้า หรือหาประโยชน์ใดๆ จากตัวเด็ก การลงรูปมีเจตนาเพียงต้องการคุ้มครองเด็กเพราะหายตัวไป ไม่ทราบว่ามีคนร้ายที่ลักพาเด็กไปเพื่อทำในลักษณะไม่ดีหรือไม่ ที่สำคัญใครเป็นคนรู้เรื่องหรือพบเห็นคนแรกว่าเด็กหายไป สามารถไปแจ้งความกับตำรวจได้ทันที เพราะเด็กเป็นกรณีพิเศษที่ทุกคนต้องเข้ามาดูแล

“เวลาอัยการจะสั่งคดี จะดูว่าสิ่งที่กระทำนั้นเจตนาเพื่ออะไร เวลามีข้อกล่าวหาต้องมีการสอบสวนคดีว่า สิ่งที่กระทำนั้นทำไปเพื่ออะไร หากมีเจตนาช่วย อัยการก็จะพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง ไม่มีความผิด เราคงไม่ใช้กฎหมายที่เป็นโทษกับคนที่ต้องการเป็นพลเมืองดี”

อีกกรณี เมื่อมีคนรู้จักถูกพบเป็นศพ แต่ทางญาติไม่ติดใจสงสัย คนที่สนิทอย่างเพื่อน หรือแฟน ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันทาง “สายเลือด” หรือไม่ได้เป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ก็สามารถขอให้ตำรวจในพื้นที่ที่พบเหตุการตาย ช่วยหาความจริงได้ เพราะเมื่อมีเหตุการตายเกิดขึ้น ตำรวจจะต้องสอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงว่า บุคคลดังกล่าวเสียชีวิตเพราะอะไร

ดังนั้น หากใครมีข้อสงสัยหรือข้อมูล สามารถแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการได้ เนื่องจากเหตุคนตายเป็น “อาญาแผ่นดิน” ไม่ใช่ความผิดต่อ “ส่วนตัว”

ทั้งนี้ การพบเหตุผิดปกติแล้วแจ้งตำรวจเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เพราะปัจจุบันในสังคมนี้ กลับกลายเป็นว่า เรื่องชาวบ้านเราไม่เกี่ยว เรื่องสามีภรรยาเรายุ่งไม่ได้ แต่ไม่ควรคิดแบบนั้นแล้ว เพราะอาจมีปัญหาตามมาเรื่องความรุนแรง

“ประชาชนคนใดพบเห็นเหตุการใช้ความรุนแรง หรือเหตุผิดปกติ ให้ตั้งสติ หากไม่มีแรงหรือกำลังจะเข้าไปช่วย วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือ เพียงยกมือถือขึ้นถ่ายรูปถ่ายคลิปวิดีโอ บางครั้งคนร้ายรู้ว่าถูกถ่ายรูป ก็จะหยุดกระทำผิด เพราะทุกวันนี้การถูกบันทึกภาพหรือคลิปเป็นหลักฐานนั้น ส่งผลให้ตำรวจสามารถจับตัวได้ง่าย” นายโกศลวัฒน์ แนะนำทิ้งท้าย

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]