อย่างไรก็ตาม กับเรื่องอาหารนี่ก็อาจจะชวนให้หลายคนนึกถึง “อาหารเด็กนักเรียน” นึกถึง “ปมค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน” ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีผู้ปกครองในพื้นที่หนึ่งออกมาจวกเกี่ยวกับ “งบอาหารกลางวันเด็ก” ที่ทางรัฐจัดสรรให้ ว่า… “ไม่เพียงพอ?-ไม่สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน?”

นัยว่า “น้อยไปจนแทบไม่พอซื้อไข่??”

นี่ก็ “เป็นอีกครั้งที่กรณีนี้เป็นปมร้อน!!”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูเรื่อง “ค่าอาหารกลางวันนักเรียน” ที่เป็นอีกกรณีที่มีกระแสปัญหาอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งโดยสังเขปเกี่ยวกับ “ปมปัญหา” กรณีนี้ ก็มีข้อมูลของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้สะท้อนไว้ว่า… มี “ปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านงบประมาณค่าอาหารกลางวัน” สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการให้นักเรียนได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งนี่ เป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของเด็ก ๆ ที่จำเป็นต้องมี มาตรการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection in Education System)

กับปมปัญหานี้ ก็ได้มีการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือน ส.ค. 2565 ที่เสนอให้ ครม. “พิจารณาค่าเฉลี่ยต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวันที่มีความแตกต่างกันตามขนาดโรงเรียน” ซึ่ง โรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนเฉลี่ยสูงกว่าโรงเรียนกลุ่มอื่นมาก จึงเสนอว่า การบริหารงบค่าอาหารกลางวันควรสอดคล้องตามต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน ซึ่งจะช่วย

“ลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร”

สำหรับที่มาของสถานการณ์นี้ จนนำสู่ข้อเสนอแนะในเรื่องนี้นั้น ในเว็บไซต์ของทาง กสศ. ฉายภาพไว้ว่า… เนื่องจาก โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยจะได้รับงบประมาณน้อยลงตามไปด้วย เมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่ย่อมได้รับงบประมาณมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมาก ที่จะ มีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการจัดมื้อกลางวันให้มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ส่งผลให้ “นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก” นั้น…

“ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ!!”

ขณะที่ข้อเสนอแนะครั้งที่สองมีการเสนอ ครม. ในเดือน ต.ค. 2565 โดยได้เสนอให้มีการ “ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนชั้นเด็กเล็กจนถึงชั้น ป.6 ตามขนาดของโรงเรียน” ตามที่ทาง ศธ. ได้ปรับปรุงข้อเสนอไปให้ อีกทั้งยังได้เสนอแนะแนวทางบริหารงบค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนว่า…ควรบริหารงบให้สอดคล้องตามภาวะเงินเฟ้อสูงในปัจจุบัน และดูต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวันตามขนาดโรงเรียนประกอบด้วย …นี่เป็น “ข้อเสนอ” ที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อ ครม. ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ก็ได้มีมติอนุมัติให้มีการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนชั้นเด็กเล็กถึงชั้น ป.6

จากข้อมูลโดยหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น ก็ยังมีการจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมที่มีเป้าหมายเพื่อ “ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนขนาดเล็ก” ที่เกิดสถานการณ์ปัญหา ได้รับงบน้อยจนไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ ด้วย เพื่อที่จะ…

“บรรเทาปัญหาที่เกิดกับเด็ก-โรงเรียน”

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดมติ ครม. ที่ได้มีการ “ปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน” ที่เป็นการ “ปรับตามขนาดของโรงเรียน” แบบต่อคนต่อวันนั้น ข้อมูลของ กสศ. ระบุไว้ว่า… แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่… 1.โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน, 2.โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน, 3.โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน, 4.โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน

กับอัตราค่าอาหารกลางวันนักเรียนที่ปรับขึ้นใหม่นี้ ข้อมูลโดยหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นระบุว่า… เพิ่มขึ้นจากเดิมโดยคิดเป็นยอดเงินรวมประมาณ 3,533,280,000 บาท โดย งบอาหารกลางวันเด็กนักเรียนใหม่จะเริ่มใช้ในการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และคาดว่าจะใช้งบรวมทั้งสิ้นจำนวน 28,365,864,000 บาท

ส่วนระหว่างที่งบใหม่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ กรณีนี้ทาง ครม. มีมติ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำงบประมาณปี 2566 ที่มีมาใช้เป็นค่าอาหารกลางวันตามอัตราใหม่ และหากไม่เพียงพอก็ให้ขอรับการสนับสนุนตามระเบียบสำนักงบประมาณ เพื่อจะให้เด็กนักเรียนได้รับค่าอาหารกลางวันตามอัตราใหม่เร็วที่สุด …ซึ่งนี่ก็ถือเป็นความคืบหน้าของการ “แก้ปมปัญหาอาหารกลางวันเด็กนักเรียน” ที่ในอดีตที่ผ่านมานั้น มีกระแส “ปมดราม่า” ที่โน่นที่นั่นที่นี่อยู่เนือง ๆ…

“อาหาร” นั้น “ไทยก็อวดในเวที APEC”

ก็ รอดูอาหารกลางวันเด็กนักเรียน”

กับการ แก้ปมลดความเหลื่อมล้ำ”

“เด็กได้รับสารอาหารเพียงพอ??”.