แต่เรื่องน่าเศร้ากรณีนี้ ก็ “ยังคงเกิดขึ้นในไทยอย่างต่อเนื่อง”… ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะนอกจากปัญหาสุขภาพทางจิตที่ยุคนี้ “เครียด-ซึมเศร้า” กันมากแล้ว…นับวันผู้คนในสังคมไทยยิ่งถูกบีบคั้นจากสารพัดสารพัน “ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิต” …ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล “สถานการณ์การฆ่าตัวตายในคนไทย” …

ยุคนี้มีการ “เกิดขึ้นกับคนทุกช่วงอายุ”

ทั้งผู้สูงอายุ วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่น รวมถึงเด็ก

เป็น “ปัญหาในไทยที่นับวันยิ่งน่าห่วง!!”

ทั้งนี้ “มุมตัวเลข-มุมสถิติ” เกี่ยวกับ “กรณีการฆ่าตัวตายในประเทศไทย” นั้น สำหรับแง่มุมนี้ก็มี “ข้อมูลอัพเดท” ซึ่งได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้ไว้โดย ศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ที่ถือว่าเป็น “ชุดข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตายในคนไทย” โดยชุดข้อมูลดังกล่าวเพิ่งมีการปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งในชุดข้อมูลนี้มีตัวเลขทางสถิติอัพเดท มีตัวเลขในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้…

เริ่มดูกันที่หัวข้อเกี่ยวกับ “กรณีการฆ่าตัวตายสำเร็จในคนไทย” ที่พบว่า… ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา การฆ่าตัวตายในคนไทยนั้นนอกจากจะ มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้ว…ในไทยยัง มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเกินกว่าค่าเป้าหมาย ของกรมสุขภาพจิตอีกด้วย ซึ่งค่าเป้าหมายที่ว่านี้คือ ไม่ควรเกิน 6.3 ต่อประชากรแสนคน แต่ตัวเลขที่สำรวจพบในปี 2564 พบว่า… ไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มเป็น 7.38 ต่อแสนประชากร ซึ่งสะท้อนว่า…

“การคิดฆ่าตัวตายในคนไทยมีเพิ่มขึ้น!!”

สำหรับหัวข้อ “เหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตาย” นั้น ชุดข้อมูลได้แจกแจงไว้ว่า… มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตามห้วงเวลา แต่จากการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลและสังเกตการฆ่าตัวตายในคนไทยนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า… เหตุปัจจัยที่นำสู่ “การฆ่าตัวตายของคนไทย” นั้น…  จะเกิดขึ้นเมื่อมีครบ 5 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่… 1.บุคคลมีปัจจัยเสี่ยง (Risk factors), 2.มีสิ่งกระตุ้น (Trigger) หรือปัจจัยกระตุ้น (Precipitating factors), 3.ด่านกั้นล้มเหลว หรือเข้าถึงวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ที่ใช้ฆ่าตัวตายได้ง่าย, 4.การเฝ้าระวังป้องกันล้มเหลว และ 5.มีปัจจัยปกป้องที่อ่อนแอ (Protective factors)

นอกจากนั้น ในการวิเคราะห์ข้อมูลการฆ่าตัวตาย จาก 2 แหล่งข้อมูลสำคัญ คือ… ระบบรายงานการเฝ้าระวังฆ่าตัวตายกรณีฆ่าตัวตายสำเร็จ หรือ “รง.506S” และจากข้อมูลของ “ใบมรณบัตร” ระหว่างเดือน ต.ค. 2564 จนถึงเดือน ส.ค. 2565 พบว่า… ข้อมูล ใบมรณบัตร มีคนไทยที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 4,625 คน หรือเท่ากับ 7.09 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่ข้อมูลจาก รง.506S พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 4,451 คน หรือเท่ากับ 6.47 ต่อประชากรแสนคน

ส่วน “พื้นที่ที่มีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ” ในชุดข้อมูลก็มีการระบุไว้ว่า… จากการสอบสวนโรคกรณีฆ่าตัวตายและกระทำรุนแรงต่อตนเอง ผ่านระบบรายงานการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย หรือ “รง.506S” ในปี 2565 นี้ พบว่า… เขตสุขภาพที่ 1 มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด และ รองลงมา ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 2 เขตสุขภาพที่ 11 เขตสุขภาพที่ 3 ตามลำดับ

ขณะที่ข้อมูลจาก “ใบมรณบัตร” ที่นำมาวิเคราะห์รายจังหวัดนั้น พบว่า… จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย… 1.เชียงใหม่ อยู่ที่ 13.51 ต่อแสนประชากร, 2.แม่ฮ่องสอน 13.27 ต่อแสนประชากร, 3.พะเยา 13.16 ต่อแสนประชากร, 4.ตาก 12.49 ต่อแสนประชากร และ 5.เชียงราย อัตราอยู่ที่ 12.41 ต่อแสนประชากร

ดูที่ตัวเลขสถิตินี้ “ภาคเหนือต้องจับตา”

และเมื่อมีการวิเคราะห์ข้อมูลจากใบมรณบัตรโดยจำแนกกลุ่มอายุ พบว่า… ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปคือกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และข้อมูลจากระบบรายงานการฆ่าตัวตาย หรือ รง.506S ช่วงเดือน ต.ค. 2564-ก.ย. 2565 พบว่า… เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิง โดย “วิธีที่ใช้ฆ่าตัวตาย” นั้น พบว่า… ใช้วิธีการผูกคอเป็นอันดับ 1 โดยอยู่ที่ร้อยละ 82.6 รองลงมาคือการ ใช้อาวุธปืน ร้อยละ 6.2 ตามมาด้วยการ ใช้ยากำจัดวัชพืช ร้อยละ 3.3

ทั้งนี้ ข้อมูลที่สำคัญอีกส่วน พบประเด็นน่าตกใจคือ… มีการ “พบสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย” เพียง “ร้อยละ 25.8 เท่านั้น” …ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ก็ย่อมสะท้อนถึง “ความล้มเหลว” เกี่ยวกับ “การป้องกันการฆ่าตัวตาย” ในประเทศไทย

จากการที่ “การป้องกันการฆ่าตัวตายยังล้มเหลว” นี้ ในชุดข้อมูลดังกล่าวก็ได้สะท้อนถึง “ปัจจัยต่าง ๆ” ที่ทำให้ระบบยังไม่สามารถทำงานป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า…อาจเกิดจากการที่… 1.ฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายที่มีอยู่ยังไม่ครบถ้วนถูกต้อง และไม่ทันเวลา, 2.ปัญหาด้านประสิทธิภาพของระบบเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายระดับจังหวัด, 3.การป้องกันฆ่าตัวตายในกลุ่มเสี่ยงของจังหวัดยังไม่สอดคล้องกับกลุ่มเสี่ยงจริงในพื้นที่ และยังไม่ครอบคลุมรวมทั้งวิธีการ อีกทั้งยังไม่มีประสิทธิผลที่ดีพอ …โดยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้นี่อาจส่งผลทำให้ “กลไกระบบป้องกันฆ่าตัวตายอ่อนแอ???”

ยุคนี้ “คิดสั้น” ดูที่สถิติบ่งชี้ “มีมากขึ้น!!”

“กลไกระบบป้องกัน” นั้นจึง “ยิ่งสำคัญ”

ก็ “ต้องช่วยกันป้องกันอย่างแข็งแรง”.