และในยุคนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือ ก็แพร่หลายทั่วไปตั้งแต่ในคฤหาสน์ใหญ่ไปจนถึงบ้านไร่ปลายนา ถึงกระนั้น…ในขณะที่การติดต่อสื่อสารสามารถทำได้ง่ายดาย แต่…ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า “สังคมไทยยุคนี้เป็นสังคมโดดเดี่ยว”

คนไทยตายเดียวดาย” มากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งจากสาเหตุ ป่วยคิดสั้นฆาตกรรม”

“ตายมานานโดยไม่มีใครรู้” ก็มีต่อเนื่อง

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนพลิกแฟ้มดูเรื่องนี้…ที่ยุคนี้ถือเป็น “ปัญหาที่มองข้ามไม่ได้แล้ว!!” โดยที่… “ปัญหาในลักษณะนี้ในสังคมไทยทุกคนควรต้องให้ความสำคัญ เพราะนับวันจะมีแนวโน้มที่ในสังคมไทยจะมีกรณีปัญหาในลักษณะนี้เกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการสะท้อนไว้โดย ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งผู้สันทัดกรณีจิตวิทยาเชิงสังคมท่านนี้ได้ระบุไว้อีกว่า…จากการที่ “สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป” ได้เกิด “ผลพวงทางลบ” ประการหนึ่งคือเกิดสภาพการณ์ที่เรียกว่า…

“สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม!!”

ทั้งนี้ ตัวอย่าง “ผลร้ายสืบเนื่องจากผลพวงทางลบ” หรือจาก “สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม” ดังที่ ดร.วัลลภ ระบุนั้น ก็อย่างเช่น… เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีรายงานข่าวชายวัย 36 ปีรายหนึ่ง เสียชีวิตอยู่คนเดียวเพียงลำพังในบ้านพักมานานกว่า 4-5 ปี โดยที่เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ญาติ ๆ ก็ไม่รู้!! ซึ่งเคสนี้ก็ฉายภาพ “สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมในสังคมไทย” ยุคนี้…

ที่นำสู่ “ตายเดียวดายโดยไม่มีใครรู้!!”

การ “เสียชีวิตเพียงลำพัง” ที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น ในแต่ละกรณีนั้น อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็ล้วนเป็นเรื่องเศร้าสลดหดหู่ ซึ่งในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก การ “ตายโดดเดี่ยว-ตายเดียวดาย” ก็เกิดมากในไทย และเมื่อโควิดสร่างซาลงในไทย ก็ยังคงเกิดกรณีน่าเศร้าลักษณะนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง… โดยที่เรื่องนี้…กรณี “เสียชีวิตเดียวดาย” นี้…ก็สะท้อนอีกหนึ่งปรากฏการณ์สังคมในไทย สะท้อนให้เห็นภาพ “ไทยในยุคสังคมเหงา” และ “สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม”…

เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ กับยุคสังคมเหงา-สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม.. “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนย้อนดูข้อมูลจากที่ ดร.วัลลภ ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มศว เคยให้แง่มุมไว้ ซึ่งโดยสังเขปนั้นมีว่า… การที่คนไทยยุคนี้เกิด “สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม” นั้นก็มาจากหลาย ๆ ปัจจัย แต่ที่แน่ ๆ คือ… คนไทยตกอยู่ในสภาพอ้างว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ… และก็ส่งผลทำให้สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะมี “กรณีปัญหา” ในลักษณะนี้เกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ…

อ้างว้าง-เดียวดาย…ตายโดดเดี่ยว!!”

นอกจากนั้นทางผู้สันทัดกรณีจิตวิทยาเชิงสังคมท่านเดิม ยังได้มีการสะท้อนแง่มุมเพิ่มเติมเอาไว้อีกว่า… ในสังคมไทยยุคปัจจุบันนั้น มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง โดยที่ ไม่มีคู่ชีวิต ไม่มีลูกหลาน ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีเพื่อนฝูง ที่จะคอยช่วยดูแลกันและกัน โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้กรณี “น่าเศร้าสลดใจระคนน่าตกใจ” เกี่ยวกับการที่มีผู้ “ตายโดดเดี่ยวตายเดียวดาย” เพียงลำพัง “เป็นเวลานานโดยที่ไม่มีใครล่วงรู้!!” นั้น “เกิดในไทยอยู่บ่อย ๆ”…

“จากการที่สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ครอบครัวไทยมีขนาดที่เล็กลง จากเดิมที่มักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่จากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ได้ทำให้ครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” …นี่เป็นอีกหลักใหญ่ใจความสำคัญที่นักจิตวิทยาผู้สันทัดกรณีจิตวิทยาเชิงสังคมได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ซึ่งเมื่อตอนที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง ก็สะท้อนภาพ “ยุคสังคมเหงา” ก็บ่งชี้…

“ตายโดดเดี่ยวมิใช่เรื่องไกลตัวคนไทย”

ทั้งนี้ ทาง ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ยังสะท้อนถึงปัญหานี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… ยุคนี้ “สังคมไทยอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง!!” เพราะกลายเป็นสังคมเหงาที่ “มีผู้อยู่ลำพังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” อีกทั้งหลายคนยังมีพฤติกรรมตีตัวออกห่างจากสังคมด้วย ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือผู้มีปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ต้องอยู่แบบโดดเดี่ยว โดยการอยู่เพียงลำพัง ก็มีทั้งส่วนที่เลือกชีวิตแบบนี้เอง รวมถึงส่วนที่ไม่ได้เลือก แต่จำเป็น-จำใจ หรือครอบครัว ญาติพี่น้อง เป็นผู้ตัดสินใจเลือกให้!!

สภาวะ “โดดเดี่ยวทางสังคม” ที่สุ่มเสี่ยงจะ “ตายเดียวดาย” ที่รวมถึงจากการมีปัญหาชีวิตรูปแบบต่าง ๆ นั้น… ดร.วัลลภ ชี้ไว้ด้วยว่า… จริง ๆ สาเหตุก็มีหลากหลาย ทั้งสภาพสังคมโดยตรง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ ที่ผู้คนยุคนี้ต้องแข่งขันกันมากขึ้นจนทำให้เกิดชีวิตที่เคร่งเครียด ต่างคนต่างก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ซึ่งเมื่อการใช้ชีวิตในสังคม การใช้ชีวิตนอกบ้าน ต้องพบเจอปัญหาสารพัดจนเกิด
ความเหนื่อยล้าในชีวิต ก็ทำให้หลาย ๆ คนเลี่ยงการมีสังคม จนที่สุดก็ “ต่างคนต่างอยู่”…

จน ตายเดียวดายเรื่องใกล้ตัวคนไทย”

และ ตายหลายปีโดยไร้คนรู้เกิดขึ้นถี่

สังคมไทยมาถึงจุดนี้…ยังไงกันดี??”.