เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดดราม่า แบบที่มีผู้ให้ความเห็นว่า “สังคมคงรำคาญจนทนไม่ได้แล้ว” กับเรื่องเกี่ยวกับ การปลอบโยน ให้กำลังใจผู้อยู่ในห้วงทุกข์ ป่วยซึมเศร้า โดยพิธีกรดัง “วู้ดดี้ มิลินทจินดา” ออกมาโพสต์ข้อความทำนองว่า รณรงค์ว่า อย่าใช้คำว่า อย่าคิดมาก กับคนที่มาปรึกษาความทุกข์ …ซึ่งในสังคมปัจจุบัน มี กระแสการสื่อสารเชิงเห็นอกเห็นใจ หรือที่เรียว่า empathy communication อยู่ แนวๆ เอาใจเขาใส่ใจเราให้มากขึ้น ไม่บอกปัดหรือเพิกเฉยปัญหาของคนกำลังทุกข์ใจ เพราะอาจทำให้เขาป่วยซึมเศร้า ไม่รู้จะไปพึ่งใคร และอาจเลือกทางออกแบบที่คาดไม่ถึง
แต่กลายเป็นว่า ก่อนหน้านี้น่าจะ “รณรงค์กันเยอะเกิน” ประเภทคำนี้ห้ามใช้ อย่างคำว่า สู้ๆ ห้ามใช้, ไม่เป็นไร ห้ามใช้ ฯลฯ ห้ามใช้จนเวียนหัวไปหมด จนบางคนมาบ่นๆ ว่า เริ่มผวาแล้วว่าเวลาให้คำปรึกษาเยียวยาใจใครจะพูดอะไรได้บ้าง พูดไม่ถูกใจอีกฝ่ายก็คิดว่าไม่เข้าใจอีกล่ะ.. ซึ่งว่าไปช่วงนี้สังคมเราก็มีคน “เจ็บป่วยทางใจ” เยอะ ถ้าไปดูในมุมวรรณกรรม จะเห็นว่า หนังสือเกี่ยวกับการเยียวยาใจออกมาเต็มไปหมด และขายดีด้วย ..ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เป็นเพราะหลังๆ คนเราไม่อยากรับฟังกัน เนื่องจากคำห้ามใช้มันเยอะหรือเปล่า เลยต้องพึ่งหนังสือเพื่อจัดระเบียบความคิดและอารมณ์ในใจเอง
พอก่อนหน้านี้น่าจะรณรงค์เยอะเกิน กลายเป็นกระแสตีกลับว่า ขนาดคำพื้นๆ ว่า อย่าคิดมาก ยังใช้ไม่ได้ แล้วจะใช้คำว่าอะไร ถึงจะพึงใจ? เคยคุยกับคนที่ไม่ชอบเวลาไปปรึกษาปัญหาแล้วได้รับคำตอบว่า “อย่าคิดมาก” เขาบอกว่ามันเหมือนคนที่เราตั้งใจถ่ายทอดความรู้สึก หวังจะได้รับความเห็นอกเห็นใจหรือช่วยแก้ปัญหา ดูไม่อิหนังขังขอบอะไรกับเรื่องที่เล่าไป แล้วตอบปัดไปให้พ้นๆ ซึ่งมันดูไม่มีน้ำใจ ..อย่างไรก็ตาม บางทีก็ต้องวิเคราะห์ถึงปัญหาที่จะตอบว่า “อย่าคิดมาก” เพราะถ้าเปรียบปัญหาเป็นเส้นฟาง ความหนักเบาในการรองรับของคนเราไม่เท่ากัน
บางเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ของคนๆ หนึ่ง อาจเป็นเรื่องที่ดูเล็กน้อย หรือผู้ฟังเห็นแล้วไม่มีประโยชน์ที่จะช่วยหาทางแก้ไข ตัวอย่างเช่น มีคนๆ หนึ่ง ติดหนี้พนันฟุตบอลเนื่องจากแทงพลาด คนฟังก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรให้มันมีความเห็นอกเห็นใจ นอกจาก “อย่าคิดมาก เดี๋ยวคู่อื่นก็คงได้” อะไรทำนองนี้ จะให้ไปช่วยหาทางแก้ไขประเภทแนะแนวทางให้หาเงินอย่างไร ก็กระอักกระอ่วนเพราะ 1.เงินที่ได้ก็อาจเอาไปแทงบอลต่อหวังถอนทุนคืน 2.ดีไม่ดีปัญหาเข้าตัวถูกยืมเงิน ซึ่งเรื่องเงินๆ ทองๆ นี่ ทำเพื่อน ทำคนรู้จักเสียความรู้สึกกันมานักต่อนักแล้ว จากการเหนียวหนี้
อีกกรณีศึกษาหนึ่ง ที่จะทำให้คนฟังอยากบอกปัดว่า อย่าคิดมาก คือ “เล่าไม่ครบ” คนเรามักจะเป็นพระเอกนางเอกในเรื่องเล่าของตัวเองบ่อยๆ คือทำอะไรกับใครไว้แล้วมีปัญหา ไปเล่าคนอื่นครึ่งเดียว พอคนฟังจะเดือดร้อนใจไปด้วย กลายเป็นว่า จบลงด้วยสำนวนสมัยใหม่ที่ว่า “กินอาหารหมา” คือประมาณว่าที่รู้ๆ มาผิดทั้งเพ เนื่องจากไปฟังเรื่องที่ใช้อคติในการเสริมเติมแต่ง ..มีคนบอกว่า ที่เขาต้องตอบเวลาบางคนมาปรึกษาว่าอย่าคิดมาก เพราะรู้ลักษณะนิสัยคนเล่าว่าเป็นอย่างนี้แหละ ตัวเองเป็นนางเอกนิยายโดนรุมรังแก ไม่เล่าด้านร้าย ด้านไม่รับผิดชอบของตัวบ้าง
กรณีพวกไม่เล่าให้ครบๆ นี้ เคยมีคนมาแสดงความเห็นเหน็บๆ ไปว่า ให้ตอบ “นกเข้าข้างพี่ตาค่ะ” แล้วยิ้มให้หน้าแบ๊วๆ แบบน้องรัชนกในเรื่องแรงเงา ถึงค่อยแยกย้าย
อย่างไรก็ตาม การที่มีคนเดือดร้อนหรือทุกข์ใจมาปรับทุกข์ หากมองในหลักการ empathy หรือ ความเข้าอกเข้าใจ (ซึ่งมากกว่าความเห็นอกเห็นใจ) มันก็ไม่ควรที่จะตัดจบด้วยคำว่าอย่าคิดมากไปเสียหมด ควรคิดว่า “คนที่มีความทุกข์ เขาไม่อยากเป็นภาระให้ใครหรอก การที่เขาเลือกเรามาปรึกษา มาระบาย เพราะเขาไว้ใจเรา เราเหมือนอะไรบางอย่างให้เขายึดไว้ ก่อนเขาจะจมน้ำตาย” ง่ายๆ คือเอาหัวจิตหัวใจใส่ระหว่างกันมากขึ้น โดยคิดด้วยหลักสามัญง่ายๆ ว่า “ถ้าเป็นเราเองล่ะ ไม่มีใครที่เราจะระบายความรู้สึกได้ เราจะทำอย่างไร” หลักการพวกหนังสือประโลมใจเขาก็พูดอยู่หลายเล่มว่า “อย่าเก็บอารมณ์ไว้ให้ใจเจ็บปวด” คือต้องระบายออกและต้องหาทางแก้ปัญหา
การมี empathy คือ “อย่าเพิ่งรำคาญ” ลองเปิดใจรับฟังและสนทนากับคนที่มาระบาย จะให้เขาไปหาจิตแพทย์ ก็ต้องบอกว่า ปัจจุบันนี้ จิตแพทย์ประเทศไทยเป็นสาขาที่ขาดแคลนมาก เคยไปเห็นคิวตรวจยาวเป็นหางว่าว ทั้งที่แต่ละเคสต้องใช้เวลาในการรับฟังและแนะนำทางแก้ปัญหาทั้งนั้น ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงแค่จ่ายยาแก้เครียด ยานอนหลับให้จบๆ ไป ถ้าเราช่วยคนรอบข้างที่มีความทุกข์จริงๆ ได้ก็จะดีไม่น้อย ไม่ต้องคิดถึงบุญคุณอะไร แค่คิดว่า เป็นการช่วยเหลือกัน
การมี empathy อันดับแรกคือ อย่าเพิ่งรำคาญ และอย่าเพิ่งด่วนสรุป ระหว่างการนั่งฟัง ใช้การสื่อสารแบบ eye contact หรือ body contact บ้างให้รู้ว่า เรามีความเป็นห่วงเป็นใยอีกฝ่ายจริงๆ ฟัง ..แล้วเก็บรายละเอียด พร้อมซักถามตรงไหนที่ยังติดขัด เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้พูด ได้ระบายออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ถามว่า “แล้วลองคิดไว้บ้างไหมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี่คุณจะแก้อย่างไร?” ให้เขาได้แสดงความคิดเห็นออกมา แล้วเราก็ช่วยประเมินให้ได้ว่า สิ่งที่เขาอยากทำเพื่อหลุดพ้นปัญหา อะไรเป็นแนวทางที่ดี อะไรเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะ
ให้เกิดการถกเถียงกันของปัญหา โดยไม่ลืมว่า “เรามีหน้าที่แนะนำได้ แต่ที่สุดแล้ว เขาเป็นคนที่ต้องเลือกทางแก้ปัญหา ระบายสิ่งคับข้องในใจของเขาเอง” ..นี่เล่าจากประสบการณ์เคยคุยกับจิตแพทย์ ที่เขาไม่ได้แค่พยักหน้ารับฟัง แต่จิตแพทย์ให้ลองคิดดูว่า “จากปัญหานี้คุณจะทำอย่างไรต่อไป” เมื่อคนไข้เสนอแนวทางว่า อยากทำอะไร จิตแพทย์ก็จะบอกว่า ถ้าทำแบบนี้ ผลลัพธ์น่าจะเป็นอย่างนี้ ..ซึ่งก่อนหน้านี้จิตแพทย์เองต้องประเมินสถานการณ์โดยละเอียดว่า ปัญหาของผู้มาปรึกษามีตัวแปรมาจากอะไรบ้าง ..การประเมินว่า ถ้าทำแบบนี้จะได้ผลลัพธ์แบบนี้ ต้องเอาตัวแปรทั้งหมดมาผนวกรวมกันเป็นคำปรึกษาได้ หรือบางครั้ง เช่น หากเป็นปัญหาในครอบครัว ต้องมีการนัดแนะ “คู่กรณี” มาคุยด้วยกัน
ในยุคสมัยนี้ คนมีความทุกข์มากขึ้น ..ทุกข์เพราะเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วอยากได้อยากมีแบบนั้น ทุกข์ เพราะตั้งความหวังกับอะไรไว้สูงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทุกข์ เพราะการแข่งขันที่มีมากเหลือเกินในสังคม ทุกข์ เพราะการถูกคนเห็นแก่ตัวเอารัดเอาเปรียบ ..บางคนอาจเรียกว่าปัญหาของโลกทุนนิยม .. แต่ผลที่ตามมาคือทำให้ต่างก็อยากหาที่พึ่งทางใจ มันจะดีไม่น้อย ถ้าเราเข้าอกเข้าใจและประคับประคองกันไป ดีกว่าปล่อยให้คนๆ หนึ่งจมทุกข์แล้วขนาดของปัญหามันใหญ่ขึ้น เช่น หันไปพึ่งยาเสพติด ซึ่งได้ข่าวว่า ในช่วงโควิดระบาด มีผู้ใช้ยามากขึ้น..
การใช้ยาเพื่อให้จิตหลุดลอยจากความเครียด ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่า ในช่วงโควิดนี่คนเครียดเรื่องอะไรกันบ้าง ไม่ต้องถึงระดับคนทำกิจการเครียดที่ค้าขายไม่ดี แค่คนในครอบครัวไม่ถูกกัน แต่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านเดียวกันก็เครียดแล้ว อย่างที่ในต่างประเทศมีข่าวกลุ่ม LGBTIQ+ เป็นทุกข์ที่ต้องอยู่บ้านที่รับเพศสภาพลูกไม่ได้ ..พอพูดเรื่องยา ก็จะเห็นว่า จากจุดเล็กๆ จุดเดียวจะขยายเป็นภาพใหญ่ได้ คือถ้าคนไม่มีทางออกจากปัญหา หันไปพึ่งยาเสพติด ปัญหาสังคมตามมา ทั้งเรื่องสุขภาพจิตของผู้ใช้ยา ทำให้ทำงานไม่ได้ ไปจนถึงก่ออาชญากรรม การแพร่ระบาดของยาเสพติด
การไปรณรงค์ไม่ให้ใช้คำว่าอะไร ก็คือมุมมองของคนๆ นั้นที่เห็นว่า คำๆ นี้ไม่ช่วย…พูดตามภาษาสมัยใหม่คือ ทัวร์ไม่ต้องไปลงเขาหรอก ถ้าเราไม่อินกับสิ่งที่เขารณรงค์เราก็ไม่แสดงความเห็นจะดีเสียกว่า ถ้าไม่คุยกันซึ่งๆ หน้า เราไม่รู้หรอกว่า คำพูดไหนของเราจะยิ่งเป็นการทำร้ายคนที่กำลังทุกข์ใจ และเราไม่รู้เขาผ่านอะไรมา เขาถึงพูดออกไปอย่างนั้น
มีคำอะไรอีกเยอะแยะที่น่ารณรงค์อย่าใช้ อย่างเช่นคำวิเศษณ์ประเภทระบุวัย เห็นเขียนในข่าวบางสำนักเจ้าประคุณเอ๋ย บาดหัวใจเหลือเกิน ..เฒ่าวัย 52 อย่างนี้ โจ๋วัย 39 อย่างนี้… คือดูช่วงชีวิตอายุมันสั้นจัง พอ 70 มิพักต้องเรียกเป็นมรดกโลกเลยเหรอ ดาราต่างประเทศบางคนอายุเลย 60 ไปแล้ว ก็ยังทำศัลยกรรมซะตัวตึง ไปเรียกเขาเฒ่าคิดว่าเขาโกรธไหม
ไม่ว่าอย่างไร ก็อยากให้เปิดใจรับฟังคนมีความทุกข์ ซึ่งมีมากขึ้นในยุคสมัยนี้
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”