กรณีนี้ก็มี “มุมวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา”

ฉายภาพ “ขยายความปัจจัยที่บ่มเพาะ”

ที่อาจจะ “นำมาสู่การก่อเกิดยุวอาชญากร”

ทั้งนี้ กับการวิเคราะห์ในมุมจิตวิทยาในเรื่องนี้ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ หรือ “หมอแนต” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ถึง “พฤติกรรมวัยรุ่นตั้งแก๊งก่อเหตุรุนแรง” ว่า… ภาวะจิตและภาวะสมองของเด็กยุคนี้ไม่ได้เปลี่ยนไป ซึ่งโดยธรรมชาติของเด็กในวัยนี้แล้ว จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ และชอบแสวงหาประสบการณ์ให้กับตนเอง จึงทำให้เกิดพฤติกรรมอยากลองสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ และ ชอบทำสิ่งที่ท้าทาย เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า…ตนเองแน่ ตนเองเก่ง และไม่เหมือนกับใคร จนบางครั้งอาจจะ ไม่ได้คิดถึงผลที่จะตามมา!!

นอกจากนี้ ทางจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังได้สะท้อนมาอีกว่า… พฤติกรรมการ ยกพวกตีกัน การ รวมกลุ่มกันตั้งเป็นแก๊ง นั้น เป็นพฤติกรรมของวัยรุ่นที่มีมาตั้งแต่ยุคอดีตแล้ว เช่นตั้งแต่ปี 2499 หรือที่สังคมเรียกยุคนั้นกันว่า…ยุคอันธพาลครองเมือง ซึ่งแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ก็พบเห็นพฤติกรรมแบบนี้มาโดยตลอด และที่สำคัญ…ที่น่าตกใจ…คือ พฤติกรรมนี้ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ซ้ำยังมีรูปแบบความรุนแรงมากขึ้นโดย ดร.นพ.วรตม์ ชี้ถึง “ปรากฏการณ์น่าตกใจ” นี้ว่า…อาจจะ…

“เกิดจากสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนไป”

มุมวิเคราะห์ในทางจิตวิทยาที่ขยายความ “ปัจจัยบ่มเพาะ” ที่อาจจะมีส่วนเสริมทำให้ วัยรุ่นยุคนี้เกิดพฤติกรรมใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือรวมกลุ่ม ตั้งแก๊งก่ออาชญากรรม ยังมีต่อไปว่า… สังคมไทยพัฒนาเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เด็กส่วนใหญ่จึงอาจจะไม่ได้มีพ่อแม่ที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเหมือนในอดีต วัยรุ่นหลายคนต้องแยกจากพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดมาอาศัยคนเดียวในเมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และสภาพที่กดดัน จนทำให้ “วัยรุ่นสุ่มเสี่ยงเข้าสู่วงจรทำผิดได้ง่ายขึ้น” ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดก็คือ “การรวมตัวตั้งแก๊งของวัยรุ่น” ที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความ ต้องการสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง

“การรวมกลุ่มเป็นวิธีการหนึ่ง ยิ่งถ้ามีหัวโจกหรือใครสักคนชักชวนให้เข้าสู่วงจรอาชญากรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง นี่ก็ยิ่งง่ายที่จะหลุดเข้าไปสู่วงจรการก่ออาชญากรรม” …ดร.นพ.วรตม์ ระบุถึง “ตัวกระตุ้น”

ที่อาจส่งผลทำให้ “วัยรุ่นก่ออาชญากรรม”

ที่เกิดได้ทั้งจาก “ปัจจัยภายใน-ภายนอก”

นอกจาก “ปัจจัย” ดังกล่าวแล้ว ดร.นพ.วรตม์ ยังวิเคราะห์-ยังสะท้อนว่า…สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นก่ออาชญากรรม นอกจากเป็นเพราะต้องการเงินทองชื่อเสียง และเพื่อให้ได้การยอมรับจากกลุ่มแล้ว อีกส่วนหนึ่งอาจจะมาจาก “การไม่รู้วิธีหาเงินโดยสุจริต” จึงเกิดการ “ตั้งแก๊ง” ขึ้น เพื่อ สร้างอิทธิพลข่มขู่ให้คนอื่นรู้สึกหวาดกลัว และ หวังจะได้รับประโยชน์จากความหวาดกลัวที่ผู้อื่นมี เพราะไม่รู้วิธีการหาเงินตามวิถีของคนปกติ …นี่ก็เป็นอีกมุมมอง “น่าคิด” จากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ทั้งนี้ นอกจากนี้ก็ยังมี “ตัวบ่มเพาะอื่น ๆ” ที่ก็อาจเป็นส่วนเสริมได้เช่นกัน โดยเมื่อเด็กก่อเหตุความรุนแรงขึ้นนั้น สถานศึกษามักลงโทษเด็กด้วยการให้ออกจากระบบ จนทำให้ขาดการบำบัดต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อไม่ได้รับการบำบัด เมื่อเด็กพ้นโทษออกมา ส่วนใหญ่จึงมักจะหวนกลับสู่สภาพเดิมหรือวงจรเดิม อนึ่ง ทาง ดร.นพ.วรตม์ ยังได้ระบุถึงกรณีนี้เพิ่มเติมอีกว่า…พฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ อีกปัจจัยที่ก็เป็นตัวบ่มเพาะคือ พฤติกรรมเลียนแบบจากโซเชียล จากการที่มีตัวอย่างให้เห็นจากสื่อยุคใหม่ ที่สะดวกในการเข้าถึงและช่วยให้มีการเชื่อมต่อกันระหว่างกลุ่มเพื่อนได้ง่ายขึ้น

ส่วน “ปุจฉา” ที่หลาย ๆ คนสงสัยว่า…การที่ วัยรุ่นยุคนี้มีการก่ออาชญากรรมกันง่ายดาย เช่นนี้ จะเกี่ยวพันกับเรื่องของ “กลไกสมองที่ผิดปกติ” หรือไม่?? สำหรับปุจฉานี้ ทาง ดร.นพ.วรตม์ มีวิสัชนาว่า… “อาจจะมีส่วน…แต่ไม่ได้เป็นกับทุกคนหรือทุกเคสที่เกิดขึ้น” ซึ่งในต่างประเทศนั้นก็ได้ให้ความสนใจ “กรณีการตั้งแก๊งของวัยรุ่น” เช่นกัน โดยการศึกษาพบว่า…เด็กบางคนมีสภาพปัญหาทางจิตจริง และไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง เนื่องจากถูกสังคมละเลย จึงนำไปสู่ “ยาเสพติด” และไปสู่ “แก๊ง” ได้ง่ายขึ้น เพราะเด็กส่วนนี้มองว่าแก๊งคือพื้นที่แสดงออก หรือเป็นที่ปลดปล่อยอารมณ์

สำหรับ “แนวทางแก้ปัญหา” นั้น ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ระบุว่า… เรื่องนี้แก้ไขยากมาก เพราะส่วนใหญ่กว่าจะได้รับความสนใจก็เป็นปลายทางแล้ว ซึ่ง หากจะสกัดกั้นมิให้ปัญหาลุกลาม ทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกัน ต้องมองว่าไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ส่วนวิธีการก็เริ่มที่ สถาบันครอบครัว ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง จากนั้นก็ สถาบันการศึกษา ที่เป็นสภาพแวดล้อมที่เด็กเจอกลุ่มเพื่อนมากที่สุด …รวมถึง ชุมชน-สังคม ซึ่ง หมอแนต ชี้ว่า…

ถ้าจะแก้ต้องเริ่มต้นทำเลย เพราะพอปัญหาไม่ถูกแก้ก็ยิ่งซับซ้อนไปเรื่อย ๆ ซึ่งการตั้งแก๊งของวัยรุ่น ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยไม่ควรมองเป็นเรื่องครอบครัวหรือโรงเรียน แต่ต้องมองกรณีปัญหาอาชญากรเด็กว่าเป็น…

ปัญหาเชิงระบบที่ทุกคนมีส่วนเกี่ยว!!”.