รัฐบาลประกาศให้ “การแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ ในปี 2562 พร้อมแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้วยการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองมาใช้เป็น ACTION PLAND กลางของหน่วยงานรัฐทั้งประเทศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สานพลังภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ตั้ง “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” 9 จังหวัดภาคเหนือ มุ่งเป้าบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า  ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ต.ทุ่งฝาย อ.เมือง จ.ลำปาง นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และผู้เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนต้นแบบ พร้อมร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง”

นายชาติวุฒิ กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สภาลมหายใจภาคเหนือ  (สภน.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และจังหวัดลำปาง ลดการเผาในที่โล่งด้วยการบริหารจัดการเชื้อเพลิง รวมทั้งสนับสนุนชุมชนต้นแบบลดการเผาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยจัดตั้ง “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พิษณุโลก ตาก และอุตรดิตถ์ 

พื้นที่ภาคเหนือของไทย ประสบปัญหาวิกฤตมลพิษทางอากาศด้านฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานช่วงหน้าแล้งต่อเนื่องกว่า 10 ปี เนื่องจากสภาพทางอุตุนิยมวิทยา ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะรายล้อมด้วยภูเขา และกิจกรรมในพื้นที่ เช่น การเผาในที่โล่ง การเผาภาคการเกษตร ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในพื้นที่ทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว ที่สำคัญคือสุขภาพ จากรายงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) พบว่า ปี 2565 พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจำนวนจุดความร้อนสะสมในพื้นรวม 17,258 จุด และมีพื้นที่เผาไหม้สะสมรวม 2,376,648 ไร่ ดังนั้นการส่งเสริมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงได้มีส่วนร่วมในการวางแผน ออกแบบ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาวะ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง” นายชาติวุฒิ กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “เครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง” เป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันสนับสนุน ดูแล ป้องกันปัญหาการเผาในที่โล่ง และแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่การรณรงค์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สามารถนำไปแปรรูป สร้างมูลค่าให้กับชุมชนได้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผาในที่โล่ง ร่วมเป็นเครือข่ายป้องกัน ดูแลรักษา แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 รวมถึงร่วมกันปลูกต้นไม้ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ และดูดซับ เก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปาง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนในจังหวัด ดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ด้านข้อมูลฝุ่น PM2.5 ถึงปัญหา สาเหตุ และผลกระทบอย่างเข้มข้น พร้อมสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เน้นส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแกนกลางขับเคลื่อน มีชุมชนต้นแบบลดการเผาในที่โล่ง โดยหวังว่าผลของความร่วมมือนี้ จะเพิ่มความตระหนักให้แก่ประชาชนในจังหวัดลำปาง และในจังหวัดอื่นๆ ของภาคเหนือ เพื่อร่วมกันลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป 

ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5ส่งผลร้ายต่อระบบสุขภาพของคนไทย แต่การแก้ไข้ฝุ่นPM2.5 อาศัยเพียงภาครัฐขับเคลื่อนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ภาคประชาชน เอกชนต้องจับมือแก้ไขไปด้วยกัน