ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) มีมติร่วมกันในการประชุมสุดยอด ที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เมื่อต้นเดือนนี้ มติเห็นชอบในหลักการรับ ติมอร์เลสเต หรือติมอร์ตะวันออก เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน โดยกระบวนการสำคัญในลำดับต่อไปรวมถึง “การพิจารณาโรดแม็พ” เพื่อการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ ซึ่งรัฐบาลติมอร์เลสเต ต้องยื่นต่อประธานอาเซียนประจำปีหน้า นั่นคือ อินโดนีเซีย

ขณะที่สาระสำคัญจากประเด็นอื่นในแถลงการณ์ รวมถึง การที่ติมอร์เลสเต ซึ่งตอนนี้ถือว่ามีสถานะผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน สามารถเข้าร่วมการประชุมได้ทุกระดับนับจากนี้เป็นต้นไป และการขอให้สมาชิกอาเซียนปัจจุบันร่วมกันมอบความสนับสนุนให้แก่ติมอร์เลสเต ในการเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป

ปัจจุบัน อาเซียนมีสมาชิกอย่างน้อย 10 ประเทศ โดยการรับรองสมาชิกครั้งล่าสุดคือการอนุมัติสถานะให้แก่กัมพูชา เมื่อปี 2542 ในส่วนของติมอร์เลสเตนั้น แม้ในทางทฤษฎีอาจถือว่า มีส่วนร่วมกับอาเซียนแล้ว ระหว่างเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย แต่เมื่อได้รับเอกราชเมื่อปี 2545 ประเทศขนาดเล็กซึ่งมีประชากรราว 1.37 ล้านคน เดินหน้าปฏิรูปและพัฒนาตามศักยภาพของตัวเองมาตลอด จนกระทั่งนำเสนอแผนพัฒนทางยุทธศาสตร์ต่ออาเซียน เมื่อปี 2554 ที่อินโดนีเซียเป็นประธานในเวลานั้น โดยกำหนดเป้าหมายการเข้าเป็นสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบ ภายในปี 2558

สำหรับปัจจัยสำคัญของการพิจารณาคุณสมบัติการรับสมาชิกใหม่ของอาเซียนนั้น ขึ้นอยู่กับ 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ต.ค. 2565

อนึ่ง มติเห็นชอบโดยหลักการของอาเซียน ในการเตรียมรับติมอร์เลสเตเข้าเป็นสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบ เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน เพื่อช่วงชิงอิทธิพลและความได้เปรียบในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กอรปกับการที่เศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการมีส่วนร่วมกับกลุ่มความร่วมมือการค้าหลายรายการ ล่าสุดคือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( อาร์เซ็ป ) ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีภาคีที่รวมถึงจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นอกเหนือจากสถานที่ตั้ง การเมืองภายในและความมีส่วนร่วมด้านการเมืองภายในภูมิภาค ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมซึ่งมีความสอดคล้อง ติมอร์เลสเตคาดหวังการได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพลิกฟื้นและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ความหวังดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางของอาเซียน ที่ระบุถึงการส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และการพัฒนาทางวัฒนธรรมในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การส่งเสริมเสถียรภาพและสันติภาพให้แก่ภูมิภาค

ประธานาธิบดีโฮเซ รามอส-ฮอร์ตา ผู้นำติมอร์เลสเต

เศรษฐกิจของติมอร์เลสเตมีความใกล้ชิดกับอาเซียนมาก โดยเฉพาะกับอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย มูลค่าการค้าระหว่างติมอร์เลสเตกับทั้ง 5 ประเทศ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าต่างประเทศของติมอร์เลสเต ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 73,144 ล้านบาท ) ระหว่างปี 2559-2562

แม้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ติมอร์เลสเตยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก ผลการสำรวจสำมะโนประชากรของประเทศครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 ระบุว่า 33.3% ของประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปี ยังไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ขณะที่มีเพียง 5.3% ของประชากรในช่วงวัยดังกล่าว ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เรื่องนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับติมอร์เลสเต ในการต้องเร่งยกระดับตัวเองให้มีคุณสมบัติสอดคล้อง ตามเกณฑ์การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีของอาเซียน

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ติมอร์เลสเตต้องไม่สูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนไม่ใช่การเดินทางถึงเส้นชัย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ทว่าเป็นเส้นทางสายใหม่ที่จะนำติมอร์เลสเต ก้าวไปสู่ความเป็นพหุภาคีในอีกระดับ เพื่อสร้างความเติบโตให้แก่ประเทศขนาดเล็กแห่งนี้ต่อไป.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS