เรื่องโควิดนี่หนักหนาจริงๆ ณ เวลานี้ มีคนบ่นๆ ให้ฟังว่า ประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์เขามีไกด์ไลน์ในการใช้ชีวิตอยู่กับโรคให้ได้ไปแล้ว (ซึ่งมันก็คงจะเป็นชั่วคราว ก่อนที่จะมีการพัฒนาวัคซีนที่จัดการเชื้อโรคได้เด็ดขาด เหมือนกรณีเชื้อไวรัส HIV นั่นเขาก็พัฒนากันหลายปีเรื่องสูตรยา จนผู้อยู่กับเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้แบบไม่แสดงอาการแล้ว) แต่ของไทยก็ยังตุ๊บป่องๆ อยู่หลายเรื่อง คือช้า และมีอะไรชวนให้งงมาเรื่อยๆ
ล่าสุด เราจะมีการจัดการเตียงโรงพยาบาลที่เต็ม โดยการให้ ผู้ป่วยสีเขียว ใช้ระบบ home isolation กักตัวที่บ้านได้กรณีฐานะเอื้ออำนวย (คือบ้านควรมีบริเวณ คนกักตัวควรมีวินัยไม่แพร่เชื้อต่อให้คนในครอบครัว หรืออยู่คนเดียว) หรือถ้ากักที่บ้านไม่ได้ก็เป็น community isolation หรือเรียกว่า ไปอยู่รวมที่ศูนย์พักรอเตียงก่อน และก็มีภาคเอกชนหรือนักการเมืองบางคนเริ่มเปิดศูนย์พักรอเตียงให้แล้ว แต่ทีนี้มันมีปัญหาเกี่ยวกับการตรวจผู้ป่วยสีเขียวอีก
ก็มาจากเรื่องการใช้ ชุด rapid antigen test kit (ATK) ที่ชมรมแพทย์ชนบทซึ่งเข้ามาช่วยตรวจคัดกรองผู้ป่วยใน กทม. เสนอสเปกไปยี่ห้อหนึ่ง ที่เป็นของอเมริกา ราคารวมส่งตกชิ้นละ 120 บาท แต่ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เหมือนจะเอาอีกยี่ห้อหนึ่ง ที่เป็นของจีน ที่ประมูลได้ราคาถูกกว่า (ตก 70 บาท) และยืนยันว่าบางประเทศในยุโรปก็ใช้ แต่ทางชมรมแพทย์ชนบท (ที่เสนอผ่าน สปสช.) ก็คัดค้าน บอกว่า ค่าความแม่นยำมันต่างกัน ทางยี่ห้อที่เขาเสนอค่าความแม่นยำมันสูงกว่า ถ้าสมมุติว่าใช้ของที่ค่าความแม่นยำต่ำกว่า ทำให้เกิดการ error คืออ่านค่าผิด กว่าจะรู้ คนที่ใช้ชุดตรวจก็กลายเป็น พาหะ แพร่ในครอบครัวไปแล้ว ซึ่งประเด็นการแพร่ในครอบครัวกำลังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังในขณะนี้
ก็เลยไม่รู้ว่า เมื่อไรจะคุยกันจบ? และมี การจัดซื้อ ATK มาใช้ได้เสียที ระหว่างนี้ประชาชนก็ไปหาซื้อ ATK ราคาแพงตามแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เขาขายแบบไปตายเอาดาบหน้าก่อน การตรวจ ATK นั้นไม่ใช่ว่ารอบเดียวจะได้รับผลที่แม่นยำเสียด้วย เชื้อมันมีเวลาฟักตัว สมมุติว่า เสี่ยงมา (อย่างใกล้ชิดผู้ป่วย) 5 วันแรก มันยังตรวจไม่เจอ ก็ต้องตรวจใหม่อีกรอบเพื่อความแม่นยำหลังจากนั้นอีก หรือเอาแม่นจริงๆ ก็ต้องไปตรวจ RT PCR ซึ่งข่าวว่าโรงพยาบาลไหนก็ไม่ค่อยอยากจะรับ เพราะถ้าเกิดพบติดเชื้อขึ้นมาเตียงก็ไม่ค่อยพอ ตรวจแล็บเอกชนก็แพงแบบราคาคนจนเข้าไม่ถึง
ได้คุยกับหลายคนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด เขาก็ยังเชื่อมั่นว่า เป็นโรคที่ถ้าติดแล้ว กินยารักษาหายทันก่อนมันลงปอดก็หาย กลุ่มที่เสี่ยงอาการหนักคือมี โรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดัน หัวใจ หรือคนอายุมาก..แต่ทีนี้ คือ เขาต้องการให้รัฐเอื้อให้เขาได้เข้ารับการตรวจและรักษาเร็วด้วย ซึ่งถึงจะพูดเรื่องนี้กันปากเปียกปากแฉะกี่รอบก็ต้องพูด …รับการตรวจเร็ว คือ รัฐต้องให้เรื่อง ATK เป็นสวัสดิการฟรีที่ประชาชนเข้าถึงได้ เอาง่ายๆ แค่คนใน กทม.ก็ยังเป็นคนหาเช้ากินค่ำจำนวนมากและคนจนเหล่านี้ก็กระจายอยู่ทั่วเมือง รัฐเจาะตรวจเชิงรุกเฉพาะบางชุมชนไม่พอ ต้องให้เขามีสิทธิรับ ATK เอง
เมื่อยืนยันกับ ATK แล้ว ยืนยันซ้ำอีกรอบ หรือไป RT PCR ที่ภาครัฐและภาคเอกชนเขาจัดรถตรวจ เอาผลชัวร์ๆ มาแล้วก็ติดต่อหน่วยงานภาครัฐให้ได้ง่ายๆ หน่อยในการที่จะขอเข้า ระบบ home isolation หรือ community isolation ตรงนี้มันเป็นงบที่ สปสช.ต้องดูแลใช่หรือไม่? แล้วก็ต้องมีการระดมสรรพกำลัง อย่าง ไปขอกำลังจากกองทัพก็ได้มาเป็นกลุ่มในการส่งข้าวส่งน้ำ ส่งยา แก่ผู้ป่วย เพิ่มสายด่วนในการรับเหตุฉุกเฉิน ประสานงานกับภาคเอกชนเข้าช่วย หรือเอาหน่วยงานราชการอื่น อย่างกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย ช่วยอีกแรง
แล้วที่ต้องย้ำกันอีกรอบก็คือ เรื่องวัคซีนนั้นกระจายให้เกิดความเป็นธรรม คนไทยเกลียดคนเอาเปรียบ คนขี้โกง อย่าให้ภาพลักษณ์ของรัฐเสียหาย อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบที่โรงพยาบาลภูมิพลที่มีด่านหน้าออกมาแฉว่า คีย์ระบบมั่วเอาชื่อซ้ำๆ กันไปรับวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งไม่รู้ไอ้ที่ชื่อซ้ำนั่นกันไว้ให้วีไอพีรายไหน แถมมีข่าวลือออกมาอีกว่า มี “นายหน้า” หาทางให้ฉีดไฟเซอร์ได้ แต่ต้องจ่ายราคาแพง อันนี้อยากให้ออกมาสอบสวนว่ามีการโกงวัคซีนไปขายหรือไม่ การโกงวัคซีนในภาวะความเป็นความตายนี่ทำคนโกรธแค้นได้หนักกว่าจำนำข้าวเสียอีก
ขณะนี้มีข่าวดีเรื่อง สหรัฐอเมริกาจะเร่งมอบวัคซีนให้ไทยอีก 1 ล้านโด๊ส ขณะที่ด่านหน้ากระจายไปแล้ว 7 แสนโด๊ส (ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่รู้ว่า เอาจริงใน 7 แสนมีรั่วไหลไปบ้างไหม) ใน 1 ล้านโด๊สนี่อยากให้รีบพูดกันเลยว่ากระจายอย่างไร จะให้รอวัคซีนลอตสั่งซื้อ ก็เขียนไว้กว้างๆ ว่าไตรมาสสี่ของปี ซึ่งก็ไม่รู้ได้เดือนไหนระหว่างตุลาคมถึงธันวาคม ถ้าได้วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตจากสยามไบโอไซเอนซ์ไม่พอ ไม่ทัน รัฐบาลกางสต๊อกออกมาดูได้หรือไม่ ว่า วัคซีนลอตบริจาคของเรามีเท่าไร ได้วันไหน แผนการฉีดเป็นอย่างไร
ยิ่งรัฐบาลทำงานเร็ว เปิดเมืองได้เร็ว (โดยการใช้ชีวิตแบบรักษาระยะไปพลางก่อน) เชื่อว่าคนก็จะโฟกัสเรื่องการทำงาน ..กระแสไล่รัฐบาลตอนนี้มันก็มาจากที่เขามองว่า “ยังทำงานได้ไม่ดีพอ” นั่นแหละ ..ส่วนเรื่องความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้น ก็ยังเชื่อว่า คนไทยเข็ดหลาบกับ “อำนาจนอกระบบ” มาพอสมควรแล้ว ดังนั้น ถ้าใช้กลไกสภาในการตรวจสอบถ่วงดุลหรือเปลี่ยนรัฐบาลได้ คนก็อยากให้ใช้กลไกสภามากกว่า
ล่าสุดมีการยื่น อภิปรายไม่ไว้วางใจ ไปแล้ว แน่นอน ตำบลกระสุนตกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ฝ่ายค้านยื่นญัตติไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรมและไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล บริหารประเทศผิดพลาดเกิดความบกพร่องเสียหายร้ายแรงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ รวบรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จมาไว้กับตนเอง แต่กลับปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลายเรื่อง ทั้งการจัดหาวัคซีนที่มีพฤติการณ์ปิดบังอำพรางไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ทั่วถึง เลือกปฏิบัติ และไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด
พฤติการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะ “ค้าความตาย” โดยเห็นวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ คิดการใหญ่โตในการสร้างกำไรจากวัคซีนร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เมื่อประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือข่มขู่เอาผิดกับประชาชนและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ยังลุแก่อำนาจสั่งการให้มีการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างรุนแรงเกินสมควรกว่าเหตุตลอดมา
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเห็นชอบและ ปล่อยปละละเลย ให้มีการเสนอและใช้จ่ายงบประมาณในการ จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีสถานการณ์การสู้รบใดๆ การพลิกฟื้นและการลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถกระทำได้ การที่ ประชาชนต้องติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก
อีกคนที่เป็นตำบลกระสุนตกคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล โดยญัตติระบุตอนหนึ่งว่า ขาดซึ่งองค์ความรู้ ไร้ซึ่งภูมิปัญญาและความสามารถในการกำกับดูแลงานด้านสาธารณสุขของประเทศ มีพฤติกรรมคุยโม้โอ้อวด การรับมือกับโรคอุบัติใหม่ดังเช่นโรคโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตของชาติอยู่ในปัจจุบัน นายอนุทิน ขาดสติปัญญา ประเมินความรุนแรงและผลกระทบของโรคนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เห็นว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาเป็นและหายได้เอง ประเมินว่าเป็นโรคกระจอก จึงปล่อยปละละเลยในการเตรียมความพร้อม ประชาชนขาดโอกาสที่จะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
นอกนั้นก็มี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เกี่ยวกับเรื่อง การปิดแคมป์คนงาน จนทำให้มีการเคลื่อนย้ายคนงานออกต่างจังหวัดและ แพร่เชื้อไปทั่วประเทศ อีกทั้งมี คนงานตกงานจำนวนมาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ประเด็นที่น่าจะถูกจับตามากในการอภิปรายคือกรณีที่ญัตติระบุว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมโรค เข้าไปในแหล่งอบายมุขจนเป็นต้นตอการระบาด ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าตัวได้ชี้แจงไปแล้ว ไม่รู้ว่าฝ่ายค้านมีหลักฐานเพิ่มเติมอีกหรือไม่
คนต่อมาคือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เรื่อง ใช้ตำแหน่งหน้าที่และสื่อของรัฐในการบิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความแตกแยกในสังคม อีกคนคือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ แต่ดูจะเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิดเท่าไรนัก กลับไปเกี่ยวกับ โรคลัมปีสกินซึ่งเป็นโรคระบาดในสัตว์ ว่าปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหาย รวมถึงญัตติอ้างว่า มีส่วนได้ส่วนเสียเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการที่ตนเองดูแล
ส.ส.ฝ่ายค้านนั้น ถ้าไม่ใช่ งูเห่า ก็ต้องโหวตไม่ไว้วางใจแน่นอน แต่กระแสที่กำลังกดดันคือ กลุ่มมวลชน ออกเดินสายกดดันทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย ให้ ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งถ้าเกิด เสียงโหวตไว้วางใจนายกฯ ต่ำกว่าเสียงไม่ไว้วางใจ ก็มีผลที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองคือ นายกฯ ต้องยุบสภาหรือลาออก หากกรณีลาออก ก็ต้องเลือกนายกฯ ใหม่ ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าการเลือกตั้ง (และแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่เสร็จ เขาคงไม่ยอมเลือก)
หากไม่สามารถเลือกคนจากบัญชีพรรคการเมืองได้ มันก็มีกลไกให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อเพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีที่พรรคการเมืองเคยเสนอ และถ้าสองสภามีมติอนุมัติ ก็ให้ “สภาผู้แทนราษฎร” เท่านั้นเป็นผู้เสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ ใหม่ ก็ต้องให้พรรคที่มี ส.ส.เกิน 25 คน เสนอชื่อ แล้วทีนี้ก็ไป “วิ่ง” กันในชั้น ส.ว.อีกต่อหนึ่ง เว้นแต่ว่าเขา “ตกลงกันได้” ว่าเสียงสภาผู้แทนราษฎรเกิน 376 คนเลือกคนนี้ก็ไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว.
ก็ไม่รู้ว่า กระแส “ไม่เอาประยุทธ์” จะกดดันการลงมติได้แค่ไหน แต่ก็ยังมีการงัดกระแส “ไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก” ขึ้นมาสู้ อย่างไรก็ตาม นาทีนี้ยังไม่เห็นตัวชัดว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก จะมีใครขึ้นคุมบังเหียนสถานการณ์แก้ไขโควิดได้รวดเร็ว เรียกง่ายๆ คือ “ยังไม่มีตัว” ระหว่างนี้ ฝ่ายค้านอาจต้องเริ่ม “โยนหินถามทาง”
และถ้าตั้งรัฐบาลใหม่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งเพราะศึกซักฟอก ต้องมีการดีลพรรคร่วมรัฐบาลมาจัดตั้งรัฐบาล ก็อย่าให้เกิดภาพที่ประชาชนรับไม่ได้ว่า “สมยอมเพื่ออำนาจ” อีกแล้วกัน.
…………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”