ซึ่งสำหรับไทย กับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนั้น “ผลลัพธ์” เกี่ยวกับเรื่องของ “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)” ก็เป็นสิ่งที่ “ไทยคาดหวัง” เอาไว้มาก ๆ ว่า…หลังจากปิดฉาก APEC ครั้งนี้แล้ว “ไทยน่าจะได้ประโยชน์??” ในเรื่องนี้ จากเวทีสำคัญนี้…

ไทยได้เผยแพร่ศิลปะ-วัฒนธรรมไทย

เผยแพร่การแสดง ของที่ระลึก อาหาร

หวังได้ ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย” ในอีกมุม-จากอีกเวที ที่นอกเหนือจากการเผยแพร่ให้ปรากฏแก่สายตาชาวต่างชาติในโอกาสการจัดประชุมนานาชาติเวทีใหญ่ APEC 2022 Thailand ซึ่งกับกรณี “ใช้ซอฟต์พาวเวอร์กระตุ้นเศรษฐกิจ” นั้น ก่อนหน้าการประชุมผู้นำ APEC 2022 จะเปิดฉากขึ้น ในประเทศไทยก็มีเวที-มีงานสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นก่อนหน้า ภายใต้ชื่องาน… “เคลื่อนภูมิภาคไทยด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : ตาน้ำของศิลปวิทยาการ เชื่อมคน เชื่อมโลก” จัดที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งมุ่งเติมเต็มความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย…ให้เชื่อมโยงภูมิภาค-นำมาประยุกต์ใช้…

เพื่อจะ “ใช้ประโยชน์ซอฟต์พาวเวอร์”

กรณี “ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย” ในมุมนี้-เวทีนี้… ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สะท้อนไว้ว่า… ไทยมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน เห็นได้จากการที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศที่มีการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ขณะที่ปี 2019 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้จัดอันดับให้ไทยมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก ซึ่งหลายคนแปลกใจ…เพราะส่วนใหญ่มองว่าไทยจน แต่ชาวต่างชาติกลับมองว่า…ไทยมีศักยภาพการพัฒนาในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะ “มิติการท่องเที่ยว”

ต่างชาติมอง “ไทยเป็นมหาอำนาจมิตินี้”

ที่ “ใช้ยกระดับรายได้ประเทศไทยได้”…

อย่างไรก็ตาม แต่ก่อนที่ประเทศไทยจะไปถึงเป้าหมายตามที่คาดหวัง ทาง ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้เน้นย้ำไว้ว่า… สิ่งที่ “สำคัญ” คือ…ไทยต้องเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการมองเสียก่อน โดยเฉพาะ ต้องมอง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ให้เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญ” ด้วยการสร้างความภาคภูมิใจและคุณค่าให้กับผู้คนในท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ ซึ่ง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถือเป็น “ตาน้ำที่สำคัญของประเทศ” เพราะเป็นบ่อเกิดเรื่องราว ปราชญ์ชาวบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย…

สามารถพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

สร้างมูลค่าและรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น

“ไทยสามารถนำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์เพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ เช่น ผ่านการ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงอนุรักษ์ โดยระบบอุดมศึกษาในปัจจุบันก็มีกลุ่มนักวิชาการที่สามารถช่วยกันทำให้เกิดการใช้ความรู้และใช้เป็นนวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถ้าทำได้ ไทยจะได้ประโยชน์แน่นอน” …รมว.อว. ระบุไว้

ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุไว้ว่า… ทาง สกสว. มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของไทยในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่สมดุลและยั่งยืน ซึ่งพร้อมเป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพื้นที่ โดยเฉพาะการช่วยชุมชนในการหา “จุดแข็งของพื้นที่ และกระบวนการที่จะนำเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้ รวมถึงการพัฒนาโมเดลต่าง ๆ เพื่อการจัดทำภาพในอนาคตของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการ “เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เข้าไว้ด้วยกัน” อย่างสมบูรณ์ …ซึ่งนี่ถือเป็น “ประเด็นสำคัญ”

ทาง รศ.ดร.ปัทมาวดี ยังระบุเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า… ในฐานะตัวกลางระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับนักวิชาการ ทาง สกสว. ก็ได้มีการตั้งเป้าเอาไว้ว่า… พร้อมที่จะเป็นฐานกลางในการรวบรวมข้อมูลความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของนักวิชาการในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงช่วยพัฒนาวิธีการคิดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการ นำ “องค์ความรู้” ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ใช้ในการ พัฒนาเศรษฐกิจ” …ทั้งนี้ “คีย์เวิร์ดสำคัญ” คือ…

“ท้องถิ่นค้นพบจุดแข็งของตัวเอง”…

“แนวคิดนี้เป็นที่มาของการขับเคลื่อนเรื่องของการ พัฒนาพื้นที่ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยทุนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่เราสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ มาบูรณาการกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยได้” …ก็เป็นแนวทางน่าสนใจ…“ใช้ปูมหลังท้องถิ่น”

หวัง “ได้ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์”

“หวังหน้า” ก็ “ต้องคิด-ต้องมองหลัง”

ใช้ “ปูมหลังท้องถิ่น…ตาน้ำสำคัญ”.