วันนี้ ทีมการเมืองเดลินิวส์ จึงต้องมาสนทนากับ “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่…) พ.ศ. … สภาผู้แทนราษฎร และ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถึงเหตุและผลที่มีความเห็นที่แตกต่าง จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรค

เริ่มจาก “ศุภชัย” ในฐานะ ประธาน กมธ. เปิดฉากยืนยันว่า เรื่อง “กัญชา” เป็น นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่เกี่ยวกับการศึกษา วิจัย พัฒนากัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพ พัฒนากัญชา กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่ประชาชนและเกษตรกร โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม และยึดถือกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และมีคนพยายามบิดเบือนว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล แต่เป็นของ ภท. ซึ่งเป็นการพูดครึ่งเดียว เพราะความจริง คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายกัญชา กัญชง มาบังคับใช้โดยเร็ว ที่ประชุมของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มี วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงมอบให้ ภท. ซึ่งมีร่าง พ.ร.บ.อยู่แล้วเป็นผู้เสนอ เพราะถ้ารอร่างของรัฐบาล จะยิ่งช้าไป ดังนั้นถ้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ยึดนโยบายรัฐบาลเป็นแนวทางทำงานร่วมกัน จะเป็นรัฐบาลร่วมกันได้อย่างไร

เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนของสภา มีการตั้ง กมธ. มาจากทุกพรรคการเมือง มีผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ป.ป.ส. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นักวิชาการ ผู้แทนประชาชนผู้ปลูกและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีการรับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากราชวิทยาลัยการแพทย์ จากผู้ป่วยซึ่งต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการป่วยและจากประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่เป็นความจริงว่า การพิจารณากฎหมายนี้ไม่รัดกุม ซึ่งจากเดิมมี 45 มาตรา เพิ่มเป็น 90 มาตรา ไม่มีตรงไหนระบุว่าให้ทำเพื่อ “สันทนาการ” ส่วนข้อเสนอของ ปชป. 12 ประเด็น พรรคเพื่อไทย 5 ประเด็น ในร่างฯ ก็มีอยู่แล้ว ดังนั้นมติ กมธ. ไม่ได้มีการแก้ไข เราจึงส่งตัวร่างฯ กลับไปที่สภาอีกครั้ง

@ ศึกกัญชาที่กลายเป็นประเด็น “กัญชาการเมือง” จะขยายผลไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่

พรรคเพื่อไทยค้านตรงนี้เข้าใจได้ เพราะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ปชป. มาค้านโดยอ้างว่ากฎหมายไม่ดี ไม่ครอบคลุมและมีปัญหา ผมยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดที่ทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พรรคการเมืองและนักวิชาการล้วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งควรมาพิจารณากันก่อนโดยใช้กระบวนการ “นิติบัญญัติ” ในการใช้ “นิติวิธี” ที่ต้องพิจารณาเป็นรายมาตราว่า เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วย ก็สามารถลงมติ “ไม่รับ” ในวาระ 3

สรุปได้ว่าเรื่อง “กัญชา” ไม่มีอะไรมาก อยากถามว่าเป็นเพราะกฎหมายไม่ดี หรือเป็นเพราะการเมือง โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ วันนี้ที่ “กัญชาเสรี” ก็เพราะพวกคุณเอง ที่เล่นการเมืองไป ทำให้กฎหมายไม่ผ่าน ถ้าวันนี้กัญชามีเสรีสุดโต่ง ไร้การควบคุม ในฐานะคนออกกฎหมายก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องกัญชาอยู่ใต้กฎหมาย เราต้องใช้กระบวนการนิติบัญญัติ ต้องมาเล่นกันในสภา อย่ามาตั้งธงล้ม ทั้งที่ยังไม่พิจารณารายมาตรา

ขณะที่ “ส.ส.สาทิตย์” จาก ปชป. ยืนยันว่า พรรคเห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์จากกัญชา เพื่อการแพทย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับ กัญชาเสรีแบบสุดขั้ว และ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นข้อกังวลของสังคมต่อเรื่อง กัญชาเสรีสุดขั้ว ที่เกิดหลังจากการปลดล็อกพ้นบัญชียาเสพติด โดยยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม แม้หลังปลดล็อกแล้ว สธ. ออกประกาศ 2 ฉบับมาควบคุม แต่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบการใช้ประโยชน์เพื่อการแพทย์ได้ มีการขายกัญชาเกลื่อน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้

ส่วนร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกของสภา เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แม้ตอนนั้นเราเห็นจุดอ่อนในร่างนี้ แต่ ส.ส. โหวตให้ด้วยเสียงท่วมท้น โดยมีเงื่อนไขว่าให้ กมธ. ปรับแก้ไขร่างให้มีการควบคุมว่า ต้องใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่ร่างที่ถูกปรับแก้ออกมา กลับหละหลวม เอื้อทุนใหญ่ ปิดโอกาสประชาชนได้ประโยชน์ในฐานะที่กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ มอมเมาชาวบ้านด้วยการเปิดช่องให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการและเปิดกว้างว่าใครที่สุขภาพไม่ดี ก็ตัดสินได้เองว่าจะใช้กัญชา ทั้งที่ กัญชามีประโยชน์และโทษ เหมือนยาอันตราย ที่การนำมาใช้ต้องเป็นไปตามใบสั่งของแพทย์เท่านั้น แต่กลับเขียนกฎหมายให้ยาอันตรายนี้ ใครกินก็ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างของช่องโหว่จำนวนมากในกฎหมายกัญชา เวลานี้ไม่อยากให้โทษใคร แต่ควรเอาปัญหาสังคมมาเป็นหลักมาคิดว่า จะควบคุมอย่างไรให้กัญชาถูกนำมาใช้เพื่อการแพทย์

@ คิดว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้จะจบลงอย่างไร

เมื่อร่างนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา จะต้องพิจารณาทีละมาตรา ส.ส. คงจะอภิปรายเยอะทุกมาตรา จึงกังวลว่าการพิจารณา 90 มาตรา จะจบลงเมื่อไหร่ เพราะยังมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายอีกหลายฉบับก่อนถึงร่าง พ.ร.บ.กัญชา ภท. รู้อยู่ว่าแม้ร่างนี้ผ่านสภาแล้ว ก็ยังบังคับใช้ไม่ได้ ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งตรงนี้จะใช้เวลาพิจารณารวม 60 วัน ถ้าเขาปรับแก้ร่างนั้น ต้องถูกส่งมาที่สภาผู้แทนฯ หากสภาผู้แทนฯ ไม่เห็นด้วย ต้องตั้ง กมธ. ร่วมทั้ง 2 สภา จึงมีโอกาสสูงมากที่จะทำเสร็จไม่ทันอายุของสภาผู้แทนฯ ชุดนี้

ขอย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่แก้กฎหมายให้สมบูรณ์แล้วนำไปสู่การควบคุม แต่ต้องปิดสุญญากาศที่เกิดจากการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด โดยยังไม่มีกฎหมายควบคุม วันนี้กัญชาระบาดไปทั่ว แม้ สธ. ออกประกาศล่าสุด เพื่อควบคุมเพิ่มเติม สถานการณ์ก็ไม่เปลี่ยนแปลง.