ซึ่งคู่ชั่วคราวนั้น มีทั้งแบบที่ประมาณว่า “หนึ่งคืนจบ” “คืนเดียวไม่พอ” รวมถึง “คืนแซ่บจากผลประโยชน์ร่วมกัน” ที่ไม่ว่าจะแบบไหนส่วนใหญ่แล้วก็มัก “มีธงว่าจะไม่มีการพัฒนาสัมพันธ์” ไม่ไปจนถึงวันที่ไม่ใช่ชั่วคราว และจากเทรนด์จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ก็ชวนให้มองย้อนอีกกรณี…กรณี “คู่ที่ตกล่องปล่องชิ้นกันเป็นคู่ถาวร” แต่แล้วก็เกิด “นอกใจ” กัน…

เรื่องการ “นอกใจ” นี่ “ก็มีมุมวิชาการ”

เคยมีการศึกษา “อิทธิพล-พฤติกรรม”

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนย้อนดู…

ทั้งนี้ สำหรับเรื่อง “คู่รัก-คู่ครอง” กับกรณี “นอกใจ” นั้น ในบางแง่บางมุมทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนต่อข้อมูลไว้บ้างแล้ว…ซึ่งพลิกแฟ้มชวนดูเรื่องนี้กรณีนี้จากที่เคยมีงานวิชาการ เคยมีการศึกษาจัดทำวิทยานิพนธ์ไว้เมื่อปี 2552 หัวข้อ “การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองและบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบต่อพฤติกรรมการนอกใจในคู่สมรส” โดย ธันยธร อนันต์วิโรจน์ ในฐานะนักศึกษา สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนนั้นมี ผศ.ดร.คัคนางค์ มณีศรี เป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ปัจจัยภายในตัวบุคคลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมนอกใจ ทั้งเพศชายและหญิง ที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมายแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน…

จากการศึกษา “ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนอกใจ” ดังกล่าว มีการระบุถึงผลที่พบไว้ว่า… “ตัวแปรสำคัญ” ที่นำมาใช้ทำนาย “พฤติกรรมการนอกใจ” นั้นมีดังนี้คือ… “การผูกมัดกับคู่สมรส” ซึ่งบุคคลที่ได้มีการผูกมัดกับคู่สมรส มักจะพิจารณาถึงผลลัพธ์ระยะยาวจากการกระทำมากกว่าพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ในระยะเวลาสั้น ๆ และจริง ๆ ก็มักรู้สึกผิด รู้สึกเศร้าเสียใจ หรือรู้สึกอับอาย เมื่อมีพฤติกรรม “นอกใจคู่สมรส” โดยกลุ่มตัวอย่างมักไตร่ตรองและพิจารณาเสมอว่า…การกระทำของตนจะทำให้คู่ครองต้องเจ็บปวดเพียงใด? ด้วยเหตุนี้… เมื่อ เทียบกับกลุ่มที่ไม่มีพฤติกรรมผูกมัด แล้ว พบว่า…

ที่ “ไม่ค่อยมีแนวโน้มจะนอกใจ” คือ…

กลุ่มที่ “มีพฤติกรรมผูกมัดกับคู่สมรส”

ถัดมา…มาดูที่ตัวแปรทางด้าน “บุคลิกภาพ” ทั้งเรื่องของความ “หลงตัวเอง” และการ “เปิดรับประสบการณ์” รวมจนถึงหัวข้อ “จิตสำนึก” ซึ่งก็นับว่า มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการ “นอกใจ” ด้วยเช่นกัน แต่กระนั้นอิทธิพลตัวแปรในหัวข้อเหล่านี้จะ แตกต่างกันในเพศชายและเพศหญิง ดังนี้คือ… ใน“เพศชาย” ตัวแปรบุคลิกภาพ ที่มีอิทธิพลต่อการนอกใจมากที่สุด…คือ “จิตสำนึก” ส่วนการเปิดรับประสบการณ์ และการหลงตนเอง จะเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลในลำดับรองลงมา

สำหรับใน “เพศหญิง” ตัวแปรบุคลิกภาพหัวข้อ ที่มีอิทธิพลต่อการนอกใจมากที่สุด…คือ “หลงตัวเอง” โดยจะมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่เรื่องจิตสำนึกจะมีอิทธิพลต่อกรณีนี้รองลงมา โดยส่งอิทธิพลทางอ้อมผ่านการพึงพอใจ และการผูกมัดกับคู่ ส่วนการเปิดรับประสบการณ์นั้น เป็นตัวแปรที่ไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมนอกใจของเพศหญิง

มุมวิชาการ “จิตวิทยาสังคม” เรื่องนี้กรณีนี้ยังได้มีการเผยผลศึกษาที่พบเอาไว้อีกว่า… เพศชายมีพฤติกรรมนอกใจมากกว่าเพศหญิง ซึ่งตรงกับสภาพสังคมไทยที่มักมองการนอกใจของผู้ชายว่าเป็นเรื่องปกติ?? หรือเป็นธรรมชาติของผู้ชายที่จะเจ้าชู้?? ซึ่งแตกต่างจากการมองผู้หญิง ที่ถ้ามีพฤติกรรมเช่นเดียวกันมักจะถูกดูหมิ่น ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม, เพศชายมีการกระทำที่ชัดเจนเมื่อมีพฤติกรรมนอกใจ เช่น แอบเข้าโรงแรม-แอบมีเพศสัมพันธ์ ขณะที่ พฤติกรรมที่นำไปสู่การนอกใจของเพศหญิง มักจะมีรูปแบบเป็นการหว่านเสน่ห์ แอบขอเบอร์โทรศัพท์ ส่งข้อความ เป็นต้น

ดูต่อที่ตัวแปรเรื่อง “อายุ” ผลศึกษาพบว่า… คู่สมรสที่มีอายุน้อย มักมีแนวโน้มพฤติกรรมนอกใจได้มากกว่าคู่ที่มีอายุมาก เนื่องจากความคิดที่ว่า ตนเองยังมีโอกาสที่จะเปิดรับประสบการณ์ได้อีกมากจากผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน หรือเห็นว่าตนเองยังมีทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่า อย่างไรก็ตาม จากการศึกษายังพบข้อมูลน่าสนใจในประเด็น “การอยู่ก่อนแต่ง”…

กล่าวคือ… การศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า คู่ที่เคยอยู่ร่วมกันหรือมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงานมักมีพฤติกรรมนอกใจเกิดขึ้นน้อยกว่า เมื่อเทียบกับคู่ที่ไม่เคยอยู่ก่อนแต่ง-ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน ซึ่งอาจเพราะการเคยอยู่ร่วมกันมาก่อนได้มีการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากัน ได้ลองใช้ชีวิตเหมือนคู่แต่งงาน จนแน่ใจว่ามีความพึงพอใจในชีวิตสมรส ดังนั้นเมื่อตัดสินใจแต่งงานกันแล้วจึงไม่ค่อยมีพฤติกรรม “นอกใจ” เกิดขึ้น?? …นี่เป็นอีกประเด็นในทางวิชาการ

ทั้งนี้ เพศชาย-เพศหญิง มองกรณี “นอกใจ” โดยมี “ทัศนคติแตกต่างกัน” ซึ่งเพศชายจะตีความนอกใจว่าหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น ขณะที่เพศหญิงมองว่า ไม่ว่าจะด้านเพศสัมพันธ์หรือด้านจิตใจก็ถือเป็นพฤติกรรมนอกใจทั้งสิ้น …นี่ก็อีกส่วนที่“ชวนคิด??” ที่พบจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ตกล่องปล่องชิ้นกันถาวรแล้ว…กับเรื่อง “นอกใจ” ในอดีต…

“นอกใจ” นั้น “ชายแสบเต็มคาราเบล”

แต่มาปัจจุบัน “หญิงสู้กลับ” ก็ไม่น้อย

“สู้แบบงานใหญ่เลยนะวิ” อาจจะมี??.