ปัจจุบันขนมไทยและอาหารไม่น้อย บรรจุในภาชนะที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ความสวยงาม เป็นอีกส่วนหนึ่งร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม “ลดภาวะโลกร้อน” รวมทั้งในด้านดีไซน์ สร้างสรรค์สวยงาม เพิ่มมูลค่าให้กับขนมไทย แพ็กเกจจิ้งนอกจากทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในไม่ให้เสียรูป คงสภาพ

อีกสิ่งสำคัญยังช่วยส่งเสริมสินค้า ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ดึงดูดสายตาส่งผลต่อการตัดสินใจ รวมถึงยังให้ข้อมูลสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน ทั้งนี้พาส่องไอเดียสร้างสรรค์ การนำเสนอขนมไทยรูปลักษณ์ใหม่ ๆ ใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ เติมเสน่ห์ให้ขนมไทยมีสไตล์ เพิ่มมูลค่าขนมไทย โดย อาจารย์สุถี เสริฐศรี อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความรู้ว่า แพ็กเกจสวยสะดุดตา แน่นอนว่านับแต่แรกเห็นนั้น ดึงดูดตาตรึงใจ ในมิติของขนมไทยก็เช่นกัน นอกจากความพิถีพิถันกับทุกขั้นตอนการทำขนม การบรรจุในแพ็กเกจ การตกแต่ง จัดวาง ฯลฯ ทุกขั้นตอนมีความสำคัญ

“บรรจุภัณฑ์ขนมไทยที่เป็นหลักยืนหนึ่งคือ ใบตอง วัตถุดิบสำคัญอยู่คู่กับขนมไทยมาโดยตลอด เป็นบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติมากด้วยเรื่องน่ารู้หลายมิติ นอกจากนี้ยังมี ใบเตย กาบหมาก ใบจาก ใบมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งนำมาเล่าเรื่องขนมไทย ทั้งตอบโจทย์การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชัดเจน ลงตัวเช่นกัน”

ขณะที่ยุคสมัยเปลี่ยนมีบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มเป็นทางเลือก จากที่กล่าวที่ยังคงอยู่ไม่หายไปคือ ใบตอง ยังคงเป็นบรรจุภัณฑ์ให้กับขนมไทย ทั้งนี้ อาจารย์สุถี เล่าขยายอีกว่า การคิดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคิดเพื่อโลกมีหลายรูปแบบ อย่าง การใช้กระดาษพิมพ์ลวดลายใบตอง หรือใช้กล่องกาบหมาก ฯลฯ โดย กล่องกาบหมาก นอกจากย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ กาบหมากที่ใช้เป็น กล่องขนมใส่ทองหยอด หลังจากใช้แล้วตนเองจะไม่ทิ้ง นำมาใช้ประโยชน์ต่อ โดยนำไปเป็นกระถางต้นไม้สำหรับเพาะกล้าไม้ เมื่อต้นไม้โต สามารถย้ายปลูกลงในแปลงทั้งกระถาง

ใบเตย ก็มีคุณสมบัติเด่น เป็นบรรจุภัณฑ์เป็นภาชนะสำหรับขนมไทยมายาวนาน นำมาพับ สานเป็นกระทงใส่ ขนมตะโก้ ขนาดพอคำ ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์ ในที่นี้สามารถเป็นไปได้ทั้งการนำมารอง นำมาห่อหุ้ม จากที่กล่าวในขนมไทยจะเห็นการใช้ ใบตอง ใบเตย เป็นหลัก อย่าง ใบตองสามารถนำมาใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง โดยเฉพาะขนมประเภทนึ่งหลายเมนู อย่างเช่น ขนมกล้วย ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัด จะใช้ใบตองสด

นอกจากเป็นภาชนะใส่ขนม ด้วยที่ใบตองมีความแข็งแรงมีความเหนียวห่อหุ้มอาหารได้ดี และทนทานต่อความร้อน สีสันสวยและกลิ่นหอมของใบตองยังเพิ่มเสน่ห์ให้กับขนมเช่นเดียวกับอาหารคาวอีกไม่น้อย ใช้ใบตองนำมาตกแต่ง นำมาเป็นภาชนะเป็นแพ็กเกจเก๋ ๆ สร้างเอกลักษณ์ เพิ่มมูลค่า ทำให้อาหารหรือสินค้าได้รับความสนใจ อย่างเช่น ห่อหมก ใช้ใบตองนำมาทำเป็นกระทง ปิ้งงบ นำใบตองมาห่อ ข้าวเหนียวหมูหวาน ข้าวเหนียวหมูทอด นำใบตองมารอง ห่อหุ้ม ฯลฯ ยิ่งเมื่อนำไปนึ่งหรือปิ้ง จะมีกลิ่นหอมของใบตอง เสริมเพิ่มความหอมของอาหารหรือขนมเมนูนั้น ๆ

“ใบตองยังนำมา ใช้กับกลุ่มเบเกอรี่ นำมาเป็นแพ็กเกจใส่เค้กเป็นชิ้น ๆ หรือ นำมารองจัดแต่งจานก็น่ามอง อย่างที่ผ่านมา นำมาใช้กับ เค้กมะพร้าวอ่อน ให้ทั้งสีสันสวยและกลิ่นหอมละมุน เสริมเข้ากันอย่างลงตัว” ส่วนการเลือกนำมาใช้ อาจารย์ผู้สืบสานศิลปะขนมไทย อาจารย์สุถี ให้หลักอีกว่า ใบตอง นำมาใช้ได้ทั้งภาชนะสำหรับใส่ขนม หรืออาหาร หรือใช้ในงานประดิษฐ์

สำหรับใบตองใช้ห่อหรือบรรจุอาหาร จะใช้ใบตองกล้วยนํ้าว้า จากที่กล่าวนอกจากมีสีสันสวยแล้วยังมีกลิ่นหอม ส่วน งานประดิษฐ์จากใบตอง จะใช้ใบตองตานี ซึ่งมีผิวเป็นมัน สีเขียวเข้ม ไม่เปราะฉีกขาดง่าย มีความหนาบางพอเหมาะ ฯลฯ นอกจากนี้ใบตองยังนำมาใช้ทำขนมในบางประเภท เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ โดยนำมาขยำร่วมกับส่วนผสมอื่น ๆ ในการทำขนมหม้อแกง สังขยา กลิ่นหอมของใบตองจะช่วยดับกลิ่นคาวไข่ในขนม ทั้งยังเสริมกลิ่น หรือถ้าไม่ใช้ใบตอง จะใช้ใบเตย ซึ่งก็ให้กลิ่นหอมได้ดีเช่นกัน ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่นอกเหนือจากการนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์

อาจารย์สุถี ให้มุมมองอีกว่า ใบตองเมื่อนำมาใช้ ต้องเลือกให้เหมาะสมกับประเภทขนม และการตกแต่ง หากเป็นขนมที่ห่อหุ้มใบตอง มีใบตองเป็นเอกลักษณ์ อย่าง ข้าวต้มมัด ไม่ควรแกะออกจากห่อทั้งหมด เพราะจะทำให้ขาดความน่าสนใจ และลดทอนมูลค่า เช่นเดียวกับ ขนมตะโก้ การใส่ขนมลงในภาชนะใบตอง หรือจัดวางลงในใบเตย ก็เพื่อรักษาคุณค่าความดั้งเดิมของขนม ฯลฯ อีกทั้งการใช้ใบตองก็ดี หรือแม้แต่เชือกกล้วยที่นำมาตกแต่ง ควรรักษาความสดใหม่ นำมาให้พอใช้ในแต่ละครั้ง

“แพ็กเกจ มีความสำคัญ ทั้งนี้คนทำขนมจะไม่คิดเพียงแค่สูตรขนม แต่คำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ขนมที่เหมาะสม แพ็กเกจที่ส่งเสริมให้ขนมสวยงามน่าประทับใจจะเป็นสิ่งแรกที่จะดึงดูดใจ แต่อย่างไรก็ตาม วัสดุธรรมชาติที่นำมาใช้อาจมีอุปสรรคบ้าง แต่ถ้าเลือกใช้เหมาะสม นำมาเสิร์ฟ นำมาใช้เฉพาะงานก็เป็นเรื่องดี ๆ มีความน่ารัก ทั้งเป็นอีกส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม”

นอกจากนำใบตองใส่ขนมสร้างสรรค์เป็นแพ็กเกจเก๋ ๆ จากที่กล่าวใช้ใบตองนำไปจัดวางบนจาน จัดแต่งได้อีกหลายรูปแบบ ใบตองจะเด่นในเรื่องสี จะเห็นว่าขนมที่เลือกมาวางบนใบตองจะมีสีสันตัดกัน อย่างเช่น เสิร์ฟขนมเครื่องทอง ไม่ว่าจะเป็นทองหยิบ ทองหยอด ฯลฯ ความเหลือง เขียวของขนมและใบตองจะเข้ากันได้ดี

ขณะที่ขนมประเภทนึ่งที่ห่อด้วยใบตองยิ่งน่าสนใจ ใบตองที่สุกกับใบตองสด จะบอกเล่าเรื่องราวของขนมคมชัดขึ้น หรือแม้แต่ ขนมชั้น ขนมเปียกปูน ที่มักเสิร์ฟโดยมีใบตองนำมาจัดแต่งจะเห็นชัดเรื่องสี การไล่สีของขนมแต่ละชั้นชัดเจนขึ้น อีกทั้ง ขนาดขนม ที่จะ
นำมาจัดวางบนจาน ต้องมีความเหมาะสมด้วยเช่นกัน ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าให้กับขนมไทย บอกเล่าการสร้างสรรค์
ดีไซน์ขนมไทยรูปลักษณ์ใหม่ ๆ สวยงามร่วมสมัย แพ็กเกจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม …

บอกเล่ารายละเอียดคุณค่าที่แฝงอยู่ในขนมไทย ขนมที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และมนต์เสน่ห์ความเป็นไทย.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ