ถ้ามีจริงนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในเวทีที่บรรดาผู้นำประเทศ เขตเศรษฐกิจ พบปะพบหน้ากันครั้งแรกอย่างเป็นทางการ หลังโลกมีโควิด-19 ระบาด …ซึ่งนอกจาก “ข้อตกลงทางเศรษฐกิจ” มิติต่าง ๆ…

ที่ “ต้องโฟกัส” ผล “ถก APEC” หนนี้…

กับ “ความปั่นป่วนของโลก” ก็น่าพินิจ

ก็ “น่าติดตามผลประชุม?” ว่าจะยังไง?

ทั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ขอทรรศนะจากทาง ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ซึ่งได้สะท้อนถึงกรณีที่เวที “APEC 2022” มีประเด็น “ความเสี่ยงความปั่นป่วนของโลก” โดยระบุว่า… ส่วนตัวแล้วอดแปลกใจไม่ได้หากเวที APEC ครั้งนี้จะมีหัวข้อดังกล่าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประชุม?? ซึ่งก็คงจะต้อง “ตีความ” ให้ชัดเจนว่า…สถานการณ์แบบใด? ถึงจะใช้คำว่า “ปั่นป่วน” อย่างไรก็ตาม ในทรรศนะส่วนตัวมองว่า…ที่ใกล้เคียงกับคำ ๆ นี้นั้น มีดังนี้…

ประการแรก… “ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก” ที่น่าจะใกล้เคียงกับการทำให้ “โลกปั่นป่วน” ได้ ซึ่งนับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดต่อเนื่อง ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง หรือส่งผลทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ก่อนมีโควิด-19 เศรษฐกิจอยู่ในขั้นดีมาก แต่พอเกิดโควิด-19 เศรษฐกิจกลับตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ …นี่เป็นตัวอย่างแรกที่ทางนักวิชาการไทยท่านนี้หยิบยกมาฉายภาพ…สะท้อน “ความปั่นป่วนของโลกที่เกิดขึ้น”

ส่วนอีกประการ หรืออีกสถานการณ์หนึ่งนั้น… ทาง ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ มองว่า… นี่หากเกิดขึ้นจริง ๆ ก็อาจ “ทำให้โลกปั่นป่วน” ได้เช่นกัน นั่นคือการที่ “ระเบียบโลกเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเมืองภายในสหรัฐอเมริกา” โดยเฉพาะถ้า อดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง?? ซึ่งถ้าเกิดขึ้น…ย่อมส่งผลกรณี “โลกจะตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง!!” เพราะสหรัฐอเมริกาจะต้อง “นำนโยบายแข็งกร้าวมาใช้กับจีน” ซึ่งก็จะส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกโดยไม่ต้องสงสัย …นี่เป็นทรรศนะอีกส่วนจากที่ทาง ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ ได้วิเคราะห์และสะท้อนมา กับกรณี “ปัจจัยทำให้โลกปั่นป่วน!!” ที่เห็นว่า…

นี่เป็น “อีกหัวข้อถก…เวที APEC 2022”

ที่ “ทั่วโลก และไทย ต้องโฟกัสผลถก?”

ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ก็ได้ให้ทรรศนะกรณีนี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” กับกรณีที่เวทีใหญ่ “APEC 2022” นำเรื่อง “ความเสี่ยงโลกปั่นป่วน” มาเป็นประเด็นประชุมด้วย?? โดยระบุว่า… ส่วนตัวมองว่าเรื่องที่จะนำมาพูดคุยหารือกันน่าจะเป็น “ความเสี่ยงต่าง ๆ” ที่โลก รวมถึงไทย อาจจะ “ต้องเตรียมแนวทางรับมือ” เอาไว้ในอนาคต ซึ่งส่วนตัวมองว่า “ความเสี่ยง” ประการแรกที่จะพูดคุยกัน ได้แก่… “สภาพภูมิอากาศโลก” ที่ตลอดหลายปีมานี้ทั่วโลก รวมถึงไทย เผชิญกับ “ภูมิอากาศที่แปรปรวนหนัก” จนอาจเป็นหัวข้อสำคัญในเวทีนี้ และประการต่อมาคือ… ความเสี่ยงจาก “วิกฤติโรคติดต่อ” ซึ่งโควิด-19 ก็ทำให้เห็นชัดว่าโรคระบาดทำให้ “โลกปั่นป่วน” ได้มากแค่ไหน?

และอีกประการที่ทาง รศ.ดร.สมชาย มองว่าก็น่าจะถูกหยิบยกนำมาพูดคุย นำมาถกกันในเวทีการประชุม APEC ในไทยครั้งนี้ได้เช่นกัน คือ… “ความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์” ที่มีทั้งปัญหาเรื่องข้าวยากหมากแพงที่ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับ สภาวะอดอยาก ที่ส่งผลกระทบไปในหลาย ๆ มิติ เรื่อง ความขัดแย้งทางดินแดน เรื่องความเสี่ยงจากการเกิด สงคราม ยกตัวอย่ากรณี สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้ “โลกเกิดปั่นป่วนแบบคาดไม่ถึง!!”

“สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียนี้ ทำให้โลกตะลึง!! เพราะไม่เคยเกิดแบบนี้มาก่อน ที่จู่ ๆ ประเทศหนึ่งจะบุกอีกประเทศหนึ่งแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่ง… ความปั่นป่วนแรกที่เกิดขึ้นคือทำให้เกิดปัญหาราคาพลังงาน และตามมาด้วยวิกฤติเงินเฟ้อ ที่เกิดขึ้นในแบบที่หลาย ๆ คนไม่เคยคาดคิด” …นี่เป็นการฉายภาพตัวอย่าง “โลกปั่นป่วน!!”

นอกจากนี้ นักวิชาการท่านนี้ยังได้ระบุอีกถึงการที่ “โลกเข้าสู่ยุคปั่นป่วน” อีกครั้ง และก็มีข้อมูลว่านี่จะเป็น “หัวข้อประชุมเวที APEC 2022” ด้วย?? โดยบอกว่า… ปัญหาและความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็น “ผลกระทบลูกโซ่ที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลง” ซึ่ง “ความเสี่ยง” ทั้ง 3 ประเด็นที่ว่ามาล้วนเป็น “ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่” เป็น “ความปั่นป่วนของโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้!!”  จึงจำเป็นที่เวทีใหญ่อย่าง APEC จะต้องหยิบยกมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกหรือแนวทางรับมือ…

“เพราะทุกเรื่องที่ว่ามานั้นล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กับทั่วโลก จึงทำให้เวที APEC ครั้งนี้น่าจะเป็นอีกเวทีสำคัญที่ทุกคนจะร่วมกันหาทางรับมือความปั่นป่วนที่อาจจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต” …ทาง รศ.ดร.สมชาย สะท้อนถึง “ความสำคัญ” ของกรณี ’ความเสี่ยงความปั่นป่วนของโลก“ …ซึ่งก็ต้อง “จับตา APEC 2022″…

ถก APEC ที่ไทย” นี่ “วาระนี้จะยังไง?”

ถ้ามีการถก “ถกกันมุมไหน?-แค่ไหน?”

ผลเช่นไร?” และ “ไทยจะยังไงหนอ?”.