ตั้งแต่วันนี้ ผมจะเดินทางมาเยือนกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสมาเยือนประเทศไทยในปีที่ครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น

สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยคือประเทศแห่งรอยยิ้มและเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดประเทศหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นมีการแลกเปลี่ยนกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในหลายแขนงตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การกีฬา การท่องเที่ยว และการศึกษา โดยมีพระราชไมตรีระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นเป็นรากฐาน ประเทศไทยยังเป็นที่พำนักของชาวญี่ปุ่นราว 80,000 คน และยังมีบริษัทญี่ปุ่นราว 6,000 บริษัท ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย

ประเทศไทยจึงเป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับประเทศญี่ปุ่น มิตรภาพและความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ในวันนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยความพยามของทุกๆ ท่าน ที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ และผมคิดว่าปัจจุบันความสัมพันธ์ด้านความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ก็กำลังก้าวเข้าสู่ขั้นต่อไปในอนาคต

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราได้รู้ถึงความสำคัญของการประสานงานระหว่างนานาชาติ เพื่อให้ประชาคมโลกก้าวข้ามวิกฤติการณ์เดียวกันนี้ไปได้ ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความร่วมมือต่างๆ แก่ประเทศไทย เช่น การบริจาควัคซีน การสนับสนุนด้านห่วงโซ่ความเย็นที่จำเป็นต่อการขนส่งและเก็บรักษาวัคซีน การบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ การเตรียมความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการพัฒนายารักษาโรคและเพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัยโรคโควิด-19 เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ได้ช่วยจัดโปรแกรมการฉีดวัคซีนสำหรับชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ชาวญี่ปุ่นจำนวนหลายหมื่นคนได้เป็นผลสำเร็จ สมกับคำกล่าวว่า “มิตรในยามยากคือมิตรแท้”

นอกจากนี้ ผลของการเกิดวิกฤติโรคระบาดยังทำให้มีการแลกเปลี่ยนกันทางออนไลน์มากขึ้น และทำให้เรากลับมาคิดถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนแบบพบหน้ากัน ซึ่งในเดือนที่แล้ว มาตรการเดินทางเข้าออกประเทศของทั้งไทยและญี่ปุ่น ได้มีการลดระดับความเข้มงวดลงมาก ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทางในทั้งสองประเทศอีกครั้ง และคาดหวังได้ว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อจากนี้

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศต่างก็เผชิญกับความท้าทายในการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาอัตราเด็กเกิดต่ำและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคโควิด-19 ปัญหาพลังงาน และปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

เพื่อเอาชนะปัญหาเหล่านี้และพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ ผมมีความตั้งใจที่จะเสนอแนวทางความร่วมมือใหม่ด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย โดยจะสร้างแนวทางใหม่เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืน และพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น

การพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น-ไทย ที่กรุงโตเกียว พ.ค. 2565

ในสมัยที่ผมเริ่มทำงานในฐานะพนักงานของบริษัทการค้าแห่งหนึ่ง ผมเคยเดินทางมาที่ประเทศไทย ยังคงจำได้ว่าที่นี่เปี่ยมไปด้วยพลังงานและความหวังในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ นับจากวันนั้นผ่านมา 40 ปีแล้ว ตอนนี้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่เพียบพร้อมและรายล้อมด้วยตึกสูงมากมาย

ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ไทยถือเป็นแนวหน้าของประเทศกำลังพัฒนาที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ภูมิภาคนี้อย่างมาก เช่น การเป็นผู้นำในการประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นฐานที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรับมือโรคภัยในภูมิภาค ผมเชื่อว่าบทบาทของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือต่อจากนี้ จะมีความสำคัญอย่างมากแน่นอน

นอกจากนี้ ในโอกาสที่ใกล้ถึงเวลาแห่งประวัติศาสตร์คือการครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น บทบาทของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น จึงยิ่งมีความสำคัญ ในการประชุมทางการทูตอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย และตัวแทนจากแต่ละประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมกันเปิดตัวโลโก้และคำขวัญ “Golden Friendship, Golden Opportunities”

ในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น คำขวัญนี้ สื่อถึงสายสัมพันธ์อันเข้มแข็งของอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเป็นไปได้อันเจิดจรัส และตามที่ นายคิชิดะ ฟุมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ประกาศไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศญี่ปุ่นจะรอต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียนทุกท่านในการประชุมสุดยอดผู้นำวาระพิเศษในปีหน้า และเตรียมพร้อมที่จะประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น

ในการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ ผมหวังที่จะสร้างความชัดเจนว่าญี่ปุ่นและไทย จะเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและความร่วมมือกับประเทศที่สามให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นเป็นรากฐาน เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งในภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และประชาคมโลก ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น จะยิ่งพัฒนาเติบโตมากยิ่งขึ้น และผลิดอกออกผลเป็นความสำเร็จอีกมากมายต่อจากนี้.

เครดิตภาพ : กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป