เริ่มจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย. นี้

ตามด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ “จี20” ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. นี้ และปิดฉากด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค ( เอเปค ) ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. นี้

ผู้นำและตัวแทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียน ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ระหว่างการประชุมสุดยอด ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา

การประชุมสุดยอดทั้งสามรายการ ซึ่ง 3 ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นเจ้าภาพ เกิดขึ้นท่ามกลางประชาคมความร่วมมืออายุ 55 ปีแห่งนี้ กำลังเผชิญกับแรงเสียดทานรอบด้าน ทั้งความเห็นซึ่งไม่ลงรอยกันระหว่างบรรดาสมาชิก จากวิกฤติการณ์ในเมียนมา การบูรณาการตัวเองให้สอดคล้องกับระเบียบโลก และกระแสคลื่นลมทางเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวนอย่างหนัก

แน่นอนว่า ความกังวลซึ่งถือเป็นวาระสำคัญระดับภูมิภาคของอาเซียน ณ เวลานี้ คือเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากสมาชิกในภูมิภาคทั้ง 10 ประเทศ ล้วนยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัว จากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) เผยแพร่รายงาน เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย อยู่ที่ 4.0% ในปีนี้ และ 4.3% ในปีหน้า ลดลง 0.9% และ 0.8% ตามลำดับ จากการคาดการณ์เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

ครอบครัวถ่ายเซลฟี หน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร สถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2565

ไอเอ็มเอฟมองว่า แม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ทั้งภูมิภาคกำลังเผชิญกับแรงเสียดทานครั้งใหม่ จากกระชับนโยบายการเงินโดยธนาคารกลางหลายประเทศ เพื่อหวังควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงพุ่งสูง และอุปสงค์ที่ชะลอตัว “อย่างเหนือความคาดหมาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการที่รัฐบาลปักกิ่งยังคงใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 “เข้มงวดในระดับสูงสุด”

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงคาดหวังสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์การเมือง “ซึ่งต้องมีเสถียรภาพ” และปัจจัยทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ต้องเปิดกว้างเพื่อการเติบโตในระดับสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ยังไม่สามารถกำหนดจุดยืนและแสวงหาทางออกที่มีประสิทธิภาพร่วมกันได้ โดยตลอดระยะเวลานานกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา อาเซียนประกาศตัวเองว่า “เป็นกลาง” และในเวลาเดียวกัน มีความมุ่งมั่น “เป็นศูนย์กลาง” ให้กับการส่งเสริมด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

นอกเหนือจากการต้องรักษาสมดุลอำนาจ ซึ่งเป็นการขับเคี่ยวกันอย่างหนักทั้งอย่างเปิดเผยและลับหลัง ระหว่างสหรัฐกับจีน อาเซียนยังคงต้องจัดการกับ “เรื่องปวดหัวของตัวเอง” นั่นคือ สถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ อาเซียนยอมรับว่า ความพยายามคลี่คลายสถานการณ์ด้วยแผนสันติภาพ “ฉันทามติ 5 ข้อ” แทบไม่มีความคืบหน้าที่จริงจังไม่ว่าในมิติใด ไม่ใช่เฉพาะจุดยืนของรัฐบาลทหารเมียนมาเอง แต่สมาชิกอีก 9 ประเทศ ต่างมีทรรศนะซึ่งยังคงแตกต่างกัน ต่อสถานการณ์ในเมียนมา

ท่าทีของอาเซียนต่อรัฐบาลทหารเมียนมา นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เป็นไปด้วยความกระอักกระอ่วน การระงับเชิญผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมทุกระดับของอาเซียน ไม่ได้ก่อให้เกิดความระแคะระคายในทางใดแก่รัฐบาลและกองทัพเมียนมา เนื่องจากมาตรการดังกล่าว “ไม่มีน้ำหนักเทียบเท่า” การระงับสถานภาพสมาชิกอาเซียนของเมียนมา

แน่นอนว่าสหรัฐและจีนต่าง “มีความต้องการมากน้อยแตกต่างกันไปในหลายมิติ” จากอาเซียน อย่างไรก็ตาม การให้น้ำหนักทางการทูตมากสม่ำเสมอ “ถือเป็นความเสี่ยง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐ ที่ไม่ว่าอย่างไรต้องเดินทาง “ลงทุน” ในภูมิภาคแห่งนี้ต่อไป เพื่อรักษาสถานภาพ “การเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ” ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งเดินหน้าผลักดันกรอบความร่วมมือ “อาเซียนบวกสาม” หรือ “อาเซียนพลัสทรี” ซึ่งหมายถึงกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ตราบใดที่การยึดมั่น “ความเป็นกลาง” และ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน” ยังคงเป็นแกนกลางนโยบายการทูตของอาเซียนต่อไป ฉันใดฉันนั้น ประเทศมหาอำนาจที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าว อาจเป็นความพยายามซึ่งสูญเปล่า.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS, GETTY IMAGES