ปี 2565 เป็นวาระสำคัญที่ ประเทศไทย ได้รับหน้าที่ เจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) ที่มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวทีประชุมระดับผู้นำ ที่มุ่งหน้าเสริมสร้างการพัฒนารอบด้านในโลกยุคหลัง โควิด-19 “ทีมการเมืองเดลินิวส์ จึงมาสนทนากับ “ธานี ทองภักดี” เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะ ประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคปี 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญสำหรับภารกิจระดับชาติครั้งนี้ มาเล่าถึงความสำคัญของการประชุมและสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับในครั้งนี้

โดย “ท่านทูตธานี” เริ่มเรื่องด้วยการย้อนความว่า นับตั้งแต่ที่ นายกรัฐมนตรีของไทย รับไม้ต่อจาก นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เมื่อปลายปี 2564 กระบวนการต่างๆ ของไทย สำหรับงานนี้ได้ดำเนินต่อเนื่อง ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไทยจับมือกับทุกฝ่ายเพื่อเดินหน้าตามหัวข้อหลัก เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open. Connect. Balance. เราจัดประชุมแล้วกว่า 100 ครั้ง ซึ่งมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมรัฐมนตรีรายสาขา อีกทั้งยังมีกิจกรรมถ่ายทอดเรื่องราวของเอเปค และการรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย เพื่อให้ทุกคนเห็นว่า เอเปค ใกล้ตัวเรา พร้อมทั้งสื่อสารสาระการประชุมผ่านเว็บไซต์ APEC2022.go.th และสื่อโซเชียล “APEC 2022 Thailand”

สำหรับหัวข้อ Open. โจทย์ของเรา คือ การชวนให้ เอเปค นำเรื่อง เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP มาหารือใหม่ในบริบทยุคหลังโควิด-19 ซึ่งเอเปคจะจัดทำแผนงาน เพื่อให้มีการหารือเรื่องนี้ต่อเนื่อง ส่วน Connect. ต้องทำให้เอเปคกลับมาเดินทางและค้าขายกันได้สะดวกและปลอดภัย แม้จะเกิดวิกฤติในอนาคต โดยจะร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดการยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันในภูมิภาคฯ ซึ่งจะช่วยรับมือกับโรคระบาดในอนาคต และได้ร่วมกันทำเว็บไซต์ safepassage.apec.org รวบรวมข้อมูลการเดินทางข้ามพรมแดนในเอเปคและมาตรการด้านสุขภาพ พร้อมขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปคครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อย

ขณะที่ Balance. เรานำ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) มาส่งเสริมการทำงานของเอเปค สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ซึ่งไทยได้นำแนวคิดบีซีจีสอดแทรกในการประชุมรัฐมนตรีรายสาขา และสิ่งสำคัญที่สุด คือการทำให้ผู้นำเอเปครับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี” ที่จะเป็นเอกสารฉบับแรกของเอเปค ที่ระบุกลไกและเป้าหมายการทำงานเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตลอด สัปดาห์การประชุมผู้นำเอเปค ในวันที่ 14-19 พ.ย. นี้ จะมีผู้นำจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมาร่วมประชุมด้วย ซึ่งรวมถึง นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ขณะเดียวกันจะเป็นการทำงานร่วมกันของผู้นำ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนงานของเอเปค โดยจะมี การประชุมสุดยอดของภาคเอกชนใน APEC CEO Summit การประชุมของ ตัวแทนเยาวชนเอเปค ใน APEC Voices of the Future 2022 และผู้นำจะหารือกับ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และ แขกพิเศษ คือ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน, มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย, ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

@ การประชุมครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่นๆ อย่างไร

เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ผู้นำเอเปคมาพบหน้ากัน และเป็นครั้งแรกของไทยในรอบ 3 ปี ที่จะได้ต้อนรับผู้มาเยือนกว่า 5,000 คน ผมคิดว่าเวทีนี้จะส่งสัญญาณให้โลกเห็นว่า ไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมเดินหน้าในโลกยุคหลังโควิด-19

ส่วนความแตกต่าง คือ ขณะนี้ สถานการณ์โลกมีความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ ทำให้การประชุมรัฐมนตรีรายสาขา 8 ครั้ง ไม่สามารถออกถ้อยแถลงร่วมได้ แต่สิ่งที่สะท้อนอยู่ในถ้อยแถลงของประธานทุกฉบับ คือ สมาชิกเอเปคยังเห็นพ้องกันในประเด็นหลักๆ ทั้งหมด ที่จะคงความเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำไว้ได้ ดังนั้นผมเชื่อว่าท่ามกลางความตึงเครียดทั่วโลก ผู้นำเอเปคทุกคนจะเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต้องเติบโตต่อไป รวมถึงสนับสนุนให้เป้าหมายกรุงเทพฯ เป็นหัวใจสำคัญเพื่อส่งเสริมการทำงานของเอเปค

@ เวทีนี้จะช่วยฟื้นฟูประเทศไทยอย่างไร และคนไทยจะได้รับประโยชน์อะไรที่เป็นรูปธรรม

การเร่งฟื้นฟูการเดินทาง เพื่อส่งเสริมภาคบริการและการท่องเที่ยว การทำให้ธุรกิจไทยรายเล็กและรายใหญ่ เข้าถึงประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ และการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบ ผ่านโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และประโยชน์ทางตรงการเป็นเจ้าภาพเอเปค ครั้งนี้ คือ การกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน ภาควิชาการ สังคม และชุมชน นำแนวทางที่หารือร่วมกันในเวทีนี้ไปปฏิบัติจริง อย่างเช่น การส่งเสริมเรื่องบีซีจี และการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ จะช่วยปรับมุมมองของคนไทยและภาคธุรกิจไทยให้มาดำเนินชีวิตและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มีความสำคัญ และธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ยังช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ กระตุ้นให้เกิดการผลักดันการจัดทำกฎหมาย เพื่อบรรลุพันธกรณีระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่น และการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ด้วย การเป็นเจ้าภาพเอเปค จึงไม่ใช่เรื่องของภาครัฐทำงานเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการร่วมมือและลงมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน