ซึ่งหากจะเท้าความย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ชัดว่ายุคนี้ ถือเป็นยุคที่องค์กรอิสระต่างถูกตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหลายต่อหลายกรณีส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นองค์กรอิสระ และในช่วงเวลาที่รัฐบาลเหลือวาระอีกเพียง 4 เดือนเศษ ความเคลื่อนไหวขององค์การอิสระ ก็ยิ่งถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น ถึงการสร้างความ “ได้เปรียบ-เสียเปรียบ” ในทางการเมืองและการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

เริ่มตั้งแต่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่เกิดดราม่าจากกรณีกฎเหล็ก 180 วัน ก่อนวันครบวาระสภาฯ ที่ กกต. มีการออกระเบียบและแนวทางปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ “ข้อห้าม” คุมเข้มการกระทำที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งการห้ามให้ทรัพย์สินในงานประเพณีต่าง เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ ที่เข้มถึงขั้นว่ามอบพวงหรีดดอกไม้สดได้เท่านั้น หรือประเด็นร้อนอย่างการห้าม ผู้สมัครและพรรคการเมือง ไม่สามารถมอบของช่วยเหลือแก่ประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การมอบสิ่งชองช่วยเหลืออุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และโรคระบาด หรือในเหตุที่เกิดขึ้นลักษณะเดียวกัน

ขณะที่กลุ่มผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การออกรายการวิทยุโทรทัศน์ เป็นประธานเปิดงานในพิธีต่างๆ การลงตรวจงานในพื้นที่ การพบปะประชาชนในพื้นที่ หรือการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ห้ามไม่ให้มีการกระทำที่อาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการกระทำการหาเสียงในแก่ตนเอง หรือผู้อื่น หรือพรรคการเมือง ส่วน ส.ส.และกรรมาธิการ มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าราชการการเมือง โดยไปทำหน้าที่ของตนเองได้ ไปรับฟังความเห็นในพื้นที่ พบประชาชนได้ตามปกติ

รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ทส. ลุยน้ำท่วมช่วยผู้ประสบภัยพื้นที่อุบลราชธานี

ซึ่งจุดนี้เองที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ว่าสร้างความ “ได้เปรียบ-เสียเปรียบ” ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีผู้สมัครและพรรคการเมือง ที่ไม่สามารถมอบของช่วยเหลือแก่ประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ในขณะที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สามารถทำได้ตามปกติ

หรือการตรวจสอบเรื่องป้ายต้อนรับรัฐมนตรีลงพื้นที่ ซึ่งมีรูปว่าที่ผู้สมัครจากพรรคแกนนำรัฐบาลรวมอยู่ด้วยในลักษณะแนะนำตัว ก็ยังไร้ความคืบหน้า ทั้งที่พยานหลักฐานต่างๆ ฟ้องอยู่ทนโท่ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น

ต่อกันด้วยกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ออกอาการเร่งคดีสำคัญทางการเมืองก่อนรัฐบาลหมดวาระ จนทำเอาสังคมสงสัยว่าเป็น “เกมเตะตัดขาทางการเมือง” ตัดแต้มความนิยมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อนการเลือกตั้งหรือไม่

ไล่ตั้งแต่ การชี้มูลความผิด นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ กับพวกประมาณ 5-7 ราย กรณีทุจริตการจัดสรรเงินอุดหนุนแก่วัดใน จ.สมุทรปราการ โดยมิชอบ ช่วงปี 2554-2556 จำนวนกว่า 20 โครงการ ในการบูรณะบำรุงวัดและเตาเผาศพ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท ภายหลังจากมีกระแสข่าวว่า “กลุ่มบ้านปากน้ำ” แข็งข้อในพรรคพลังประชารัฐ ต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหม่

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

หรือล่าสุด พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นเดือน พ.ย. 2565 นี้ จะมีคดีเกี่ยวกับนักการเมืองคนสำคัญเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่

โดยมีกระแสข่าวว่าหนึ่งในคดีสำคัญ ที่จะมีการนำเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ คือ คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ที่มีนักการเมืองคนสำคัญหลายรายถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส. และผู้ถูกกล่าวหารายอื่น จำนวนมากถึง 71 ราย โดยมีการกัน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ไว้เป็นพยานในคดี พร้อมกับบริษัทเอกชนบางส่วน ซึ่งมีข่าวลือหนาหูว่า มีความเป็นไปได้ที่คนนามสกุลชินวัตร จะถูก ป.ป.ช. เช็กบิลอีกครั้ง!

ซึ่งก็ต้องรอดูกันอีกว่า คดีสำคัญที่เหลือที่มีไทม์ไลน์สรุปในช่วงปลายเดือน พ.ย. นี้ จะมี “บิ๊กเนม” คนการเมือง ตระกูลการเมือง โดนลงดาบก่อนการเลือกตั้งอีกหรือไม่

ปิดท้ายด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดยังมีเรื่องสำคัญค้างอยู่ในหน้าตัก คือการวินิจฉัยกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (2) หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่

และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งประเด็นที่จะต้องรอลุ้นกันคือ กรณีสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ใน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ในรูปแบบสูตร “หาร 100” จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะต้องเปลี่ยนไปใช้สูตร “หาร 500” หรือไม่ ท้ายที่สุดแล้ว พรรคใหญ่-พรรคเล็ก ใครจะได้เปรียบเสียเปรียบจากข้อสรุปเรื่องนี้

ปิดตาย สูตรเลือกตั้ง หาร 500 สภาล่มวันสุดท้าย

หรือจะเกิด “อภินิหารทางกฎหมาย” อะไร ที่จะกลายเป็นปัญหาต่อไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 หรือไม่?

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาโค้งสุดท้ายก่อนรัฐบาลหมดวาระ องค์กรอิสระควรวางตัวสร้างมาตรฐานที่สังคมเชื่อมั่น ไม่ให้เกิดการเคลือบแคลงสงสัยจนกลายเป็น “ชนักปักหลัง” ในอนาคต ไม่อย่างนั้นคำถามถึง “ความจำเป็น” และ “การมีอยู่” ขององค์กรอิสระต่อบริบทของสังคมไทย อาจจะกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกปลุกกระแสขึ้นหลังการเลือกตั้ง

ถึงที่สุดแล้ว องค์กรอิสระอาจจะต้องย้อนกลับมามองว่า อำนาจแท้จริงคือความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน หากไร้ซึ่งสิ่งเหล่านี้แล้ว เราอาจจะต้องมาสังคายนาองค์กรอิสระกันยกใหญ่

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”