นายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ถูกยิงระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ช่วยของเขากล่าวว่า เป็นความพยายามลอบสังหารอย่างชัดเจน แม้อดีตผู้นำปากีสถานวัย 70 ปี จะไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรง แต่เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า การเมืองในปากีสถาน ไม่สามารถแยกออกจากความรุนแรงได้

การเมืองในปากีสถานรุนแรงเช่นนี้มาโดยตลอด นับตั้งแต่ช่วง 4 ปี หลังจากที่ปากีสถานได้รับเอกราช ภายหลังการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษในอนุทวีป นายเลียควัต อาลี ข่าน นายกรัฐมนตรีคนแรกของปากีสถาน ถูกยิงเสียชีวิตที่การชุมนุมสาธารณะในเมืองราวัลปินดี ทางตอนเหนือของประเทศ

รูปแบบหนึ่งของความรุนแรงที่มีอิทธิพลต่อการเมืองปากีสถานคือ “สงคราม” โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ความขัดแย้งรูปแบบอื่น ๆ ก็ส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น บรรดาผู้มีอิทธิพลในประเทศที่ใช้การบังคับและการข่มขู่มาอย่างยาวนาน, กลุ่มผู้สนับสนุนการแบ่งแยกที่ต่อสู้ด้วยการประท้วงอย่างสันติ ทว่ากลับมีการใช้ปืนและระเบิดรวมอยู่ด้วย หรือแม้แต่การปะทะกันระหว่างเจ้าของที่ดินกับคนงาน ซึ่งมีการใช้ไม้และมีด

Al Jazeera English

นอกจากนี้ คลื่นความรุนแรงในปากีสถานยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในช่วงหลายปีหลังเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. ในสหรัฐ ปากีสถานเกิดการต่อสู้, การวางระเบิด และการลอบสังหารทั่วพื้นที่หลายส่วนของประเทศ โดยกองกำลังความมั่นคงของปากีสถาน เข้าต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงชาวอิสลาม ที่การกระทำของพวกเขาถือว่าเป็นการคุกคามประเทศหรือผู้นำระดับสูง และอย่างเช่นเคย ผู้เคราะห์ร้ายส่วนมากคือประชาชนตาดำ ๆ กับทหารที่โดนลูกหลง ทว่าหนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้น มีนางเบนาซีร์ บุตโต บุตรสาวของนายซัลฟิการ์ อาลี บุตโต รวมอยู่ด้วย

เบนาซีร์ อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน 2 สมัย คือหนึ่งในนักการเมืองมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เธอรอดชีวิตจากเหตุวางระเบิดฆ่าตัวตายครั้งใหญ่ในเมืองการาจี ขณะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2550 แต่ต่อมา เบนาซีร์เสียชีวิตหลังจากถูกยิงที่การชุมนุมในเมืองราวัลปินดี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อรัฐบาลปากีสถาน ที่ประสบความล้มเหลวในการจัดการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ

จนถึงตอนนี้ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อว่า ความรุนแรงที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางการเมืองและสังคมในปากีสถานมาเป็นเวลานานนั้น กำลังลดลง นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า “ช่วงเวลาแห่งสันติภาพเชิงสัมพัทธ์ ทำให้เกิดยุคสมัยใหม่ของความขัดแย้งทางนิกาย” ในขณะที่ความตึงเครียดของภูมิภาคเพิ่มขึ้น จากการกลับมาปกครองอัฟกานิสถานของกลุ่มตาลีบัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ปากีสถานอาจเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในโลก แต่มันคือสิ่งที่ประชาชนของประเทศรู้สึกได้จริง มากกว่าผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศที่อยู่ห่างออกไปหลายพันไมล์.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES