ปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง ในคืนวันลอยกระทงเพิ่งผ่านไป และก่อนส่งท้ายปี ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม ทั้งนี้ชวนส่องกล้องสังเกตวัตถุท้องฟ้า พาชมดาวรับลมหนาว โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. ให้ความรู้ว่า ช่วงเวลานี้ประเทศไทยมีสภาพท้องฟ้าที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ท้องฟ้า โดยช่วงที่เข้าสู่ฤดูหนาวท้องฟ้ามีทัศนวิสัยดี ไม่มีเมฆมาบดบัง ในช่วงเดือนนี้ถึงเดือนมีนาคมในปีหน้า สดร. จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นเทศกาลชมดาวรับลมหนาว

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวง ในคืนวันลอยกระทง เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาล ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ จะเกิดขึ้นเฉพาะวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือช่วงข้างขึ้น 14-15 คํ่า

จันทรุปราคาเต็มดวง

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า แต่ละเดือนดวงจันทร์จะโคจรรอบโลก แต่ระนาบการโคจรหรือวงโคจรจะไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกัน เรียงกันในลักษณะนี้ จะมีเพียงไม่กี่เดือน และโดยเฉลี่ยปรากฏการณ์จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นประมาณ2-5 ครั้งต่อปี แม้จะเกิดขึ้น แต่จะมีครั้งไหนที่จะอยู่ฝั่งกลางคืนและเราจะสังเกตเห็นได้ การเกิดขึ้นครั้งล่าสุดในคืน “วันลอยกระทง” จึงน่าติดตามชม

คุณศุภฤกษ์ เล่าย้อนอีกว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เกิดขึ้น ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกนับแต่สี่โมงเย็น แต่ในช่วงเวลานั้น เราจะยังมองไม่เห็น จะเห็นได้ในช่วงที่ดวงจันทร์กำลังขึ้นจากขอบฟ้า โดยถ้าสังเกตดวงจันทร์จากที่มีสีเหลืองนวล จะเห็นเป็นสีแดงอิฐ จากนั้นดวงจันทร์จะค่อย ๆ เคลื่อนออกจากเงามืดของโลก ขอบของดวงจันทร์จะสว่างขึ้นทีละนิด จนกระทั่งสิ้นสุดปรากฏการณ์

“ช่วงที่ดวงจันทร์เคลื่อนออกจากเงามืดของโลก จะมีทั้งส่วนมืดและส่วนสว่าง โดยส่วนมืดคือเงาของโลก และจากปรากฏการณ์นี้ นักดาราศาสตร์ได้นำมาพิสูจน์ให้ทราบว่า โลกของเรากลม ด้วยที่เงาของโลกที่ตกลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ มีลักษณะเป็นทรงโค้ง”

ดาวอังคารใกล้โลก (ภาพ ESA)

นอกจากปรากฏการณ์จันทรุปราคา ต่อเนื่องมาที่น่าสนใจคือ ดาวอังคารใกล้โลก โดยจะมีขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม โดยปกติดาวอังคารจะมีระยะห่างจากโลกโดยเฉลี่ยประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร แต่ในวันนั้น จะเป็นช่วงเวลาที่ดาวอังคารโคจรเข้ามาใกล้โลกที่ระยะห่างประมาณ 81 ล้านกิโลเมตร ถ้าออกมาชมดาว ชมความงามท้องฟ้ากลางคืน ในช่วงเวลาประมาณสามทุ่มครึ่ง ถ้ามองไปทางทิศตะวันออก จะพบกับดาวดวงหนึ่งที่ทอแสงเหลือง ๆ ส้ม ๆ สว่างมาก ดาวดวงนั้นก็คือ ดาวอังคาร โดยจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

“ปรากฏการณ์นี้ ถ้ามองผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่จะเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งพื้นผิวของดาวอังคาร ขั้วนํ้าแข็ง ฯลฯ ทั้งนี้ปรากฏการณ์นี้มีโอกาสที่จะเห็นได้อีก แต่จะมีระยะห่าง ใกล้ ไกลไม่เท่ากัน โดยครั้งนี้จะสังเกตได้ทั่วทุกภูมิภาค เว้นแต่ภูมิภาคที่ยังคงมีฝน อาจสังเกตเห็นได้ยากสักหน่อย

ดาวอังคารมีความน่าสนใจหลายมิติ เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่นักดาราศาสตร์ศึกษาติดตามอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นเป้าหมายหากเกิดการย้ายถิ่นฐาน หรือเกิดการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไม่ใช่โลก ดาวอังคารคือหนึ่งในเป้าหมายนั้น”

ภาพจำลอง ดวงจันทร์บังดาวศุกร์

ตลอดช่วงฤดูหนาวจากที่กล่าวยังเป็นโอกาสดีสำหรับการชมกลุ่มดาว ชมความงามท้องฟ้ารัตติกาล ในช่วงฤดูหนาวจากที่กล่าว สดร. มีกิจกรรมดาราศาสตร์ชวนเรียนรู้ดูดาว ส่องวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ รวมทั้งชวนสังเกตติดตามปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ ๆ ทั้งนี้การได้ชมได้เห็นรายละเอียดผ่านอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ นอกจากเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ยังส่งผลต่อการสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มเล่าถึงปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอีกว่า หนาวนี้ยังมีอีกหลายปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่จะส่งท้ายในปีนี้ “ฝนดาวตกเจมินิดส์คือหนึ่งในนั้น โดยปีที่ผ่านมาจะไม่ได้ชม ด้วยที่ช่วงเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก ตรงกับช่วงที่มีแสงจันทร์รบกวน

แต่สำหรับปีนี้ในวันที่ 14 ธันวาคม จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ โดยมีอัตราการตกที่ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้ประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตเห็นได้นับแต่ช่วงเวลาสองทุ่มเป็นต้นไปถึงห้าทุ่ม โดยศูนย์กลางการกระจายตัวจะอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่

“หลังจากห้าทุ่มไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนที่ตามมา และเมื่อมีแสงจันทร์จะกลบแสงของฝนดาวตกไป ช่วงเวลาที่จะสังเกตเห็นได้ดีจึงเป็นช่วงเวลาที่กล่าวมา และในคํ่าคืนนั้น หากมีอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นกล้องส่องทางไกล กล้องโทรทรรศน์ ฯลฯ สามารถนำมาส่องมองวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร กาแล็กซี หรือเนบิวลาต่าง ๆ ได้อีกด้วย”

ส่วนสถานที่ที่จะชมฝนดาวตก สังเกตเห็นได้ชัดเจนนั้น ควรเป็นสถานที่ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน มีความมืด และบริเวณนั้นสามารถสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ ทั้งนี้ฝนดาวตกเจมินิดส์แม้จะมีศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ แต่ทิศทางการกระจายตัวไม่อาจคาดการณ์ได้ จะเกิดขึ้นทั่วท้องฟ้า ซึ่งก็เป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าติดตาม

ฤดูหนาวช่วงที่เหมาะต่อการสังเกตท้องฟ้าและกลุ่มดาว ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า ช่วงเวลานี้สำหรับใครที่ชอบดูดาว สนใจเริ่มต้นดูดาวจะเป็นช่วงเวลาเหมาะสม ด้วยที่จะมีกลุ่มดาวหลายกลุ่มให้ชม โดยที่รู้จักกันดีได้แก่ กระจุกดาวลูกไก่ ดาวไถ หรือดาวจระเข้ ฯลฯ ปรากฏเด่นในช่วงฤดูหนาว

อีกทั้งถ้าชื่นชอบการถ่ายภาพ ช่วงฤดูหนาวก็เหมาะต่อการถ่ายภาพดาราศาสตร์ โดยเฉพาะประเภทวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก โดยช่วงหน้าหนาวจะมีเนบิวลาสว่างใหญ่ในบริเวณกลุ่มดาวนายพราน หรือถ้ามีกล้องส่องทางไกล สามารถนำมาใช้สังเกตเนบิวลาสว่างใหญ่นี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมี กาแล็กซีแอนโดรเมดา ให้ศึกษาสังเกตเห็นด้วย

ส่วนอีกปรากฏการณ์ที่จะส่งท้ายในช่วงฤดูหนาวของไทยเราคือ ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ โดยจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม ในปีหน้า สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาค แต่เวลาที่ดวงจันทร์จะบังดาวศุกร์แต่ละจังหวัดจะมีเวลาที่ต่างกันไป และในความต่างของเวลาจากปรากฏการณ์ ยังเชื่อมโยงการเรียนรู้ นำปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาใช้ประโยชน์เพื่อค้นหาคำตอบ สร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อีกวิธีการหนึ่ง

สำหรับการสังเกตใจกลางทางช้างเผือก ช่วงเวลานี้ยังพอมีเวลา แต่หลังจากปลายเดือนพฤศจิกายนไปแล้วจะไม่เห็น และช่วงนี้จะสังเกตเห็นได้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูกับกลุ่มดาวแมงป่องในฤดูหนาว ยังมีอีกหลายกลุ่มดาวน่าชม

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ ให้คำแนะนำทิ้งท้ายอีกว่า หน้าหนาวเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ได้เร็วขึ้น จากนั้นถึงช่วงคํ่าจะมีกลุ่มดาวที่น่าสนใจ จะเริ่มปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออก จะเห็นดาวที่เป็นที่รู้จักกันดี อย่าง กระจุกดาวลูกไก่ และตามมาด้วย กลุ่มดาววัว ซึ่งในกลุ่มดาววัวจะมีดาวสว่างดวงหนึ่งชื่อว่า โรหิณี ปรากฏให้ชมความงาม

จากนั้นท้องฟ้ามืดของฤดูหนาวยังมี กลุ่มดาวนายพราน โดยบริเวณตรงกลางของกลุ่มดาว คนไทยจะจินตนาการเป็นดาวไถ และดาวสว่างที่ล้อมรอบดาวไถคือ ดาวเต่ามีดาวฤกษ์สีสันแตกต่างกันไปส่องแสงระยิบระยับ และในความพิเศษของฤดูหนาว หลังจากที่กลุ่มดาวฤดูหนาวปรากฏขึ้นแล้ว บริเวณตรงกลางของกลุ่มดาวฤดูหนาว จะมีดาวดวงหนึ่งที่สุกสว่างซึ่งก็คือ ดาวอังคาร ปรากฏให้ชมทางทิศตะวันออก เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะสังเกตเห็น เติมประสบการณ์การดูดาวในช่วงฤดูหนาว…

ช่วงที่เหมาะแก่การดูดาว ชมความงามของท้องฟ้ายามคํ่าคืน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ