สงครามที่ยืดเยื้อนาน 2 ปี ระหว่างกองทัพสหพันธรัฐของเอธิโอเปีย กับกองกำลังทิเกรย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน, มีผู้พลัดถิ่นหลายล้านคน, นำความหิวโหยมาสู่เมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล

การลงนามสงบศึกถาวรเมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการในกรุงพริทอเรียของแอฟริกาใต้ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันอย่างหนักที่มีต่อทั้งสองฝ่าย โดยในช่วงที่การเจรจาเริ่มต้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา กองทัพสหพันธรัฐเพิ่งเข้าควบคุมเมืองใหญ่หลายแห่งในทิเกรย์ กระตุ้นให้ผู้นำทิเกรย์ ยอมรับข้อตกลงก่อนที่จะเสียพื้นที่ไปมากกว่านี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเอธิโอเปียตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่รุนแรงของสหรัฐ ให้ยุติสงครามในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของเอธิโอเปีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนและความเสียหายของสงคราม รวมถึงภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี ของจะงอยแอฟริกา ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน

Al Jazeera English

กองกำลังทิเกรย์ เห็นด้วยกับแผนการปลดอาวุธที่ก่อนหน้านี้พวกเขาปฏิเสธมาโดยตลอด พรรคการเมือง “แนวร่วมปลดปล่อยชาวทิเกรย์” (ทีพีแอลเอฟ) ยอมอ่อนข้อจากการกล่าวอ้างว่า เป็นรัฐบาลระดับภูมิภาคที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากรัฐบาลกลางไม่ยอมรับการเลือกตั้งระดับภูมิภาคครั้งล่าสุด ที่จัดขึ้นในทิเกรย์ว่า “ถูกต้องตามกฎหมาย”

“การสงบศึกเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐบาลส่วนใหญ่ และมันสะท้อนถึงแรงกดกันอย่างหนักที่ทิเกรย์เผชิญอยู่” นายอลัน บอสเวลล์ ผู้อำนวยการโครงการจะงอยแอฟริกา จากอินเทอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) กล่าว

นอกจากนี้ ความซับซ้อนอีกประการหนึ่งคือ บทบาทของกองทหารเอริเทรียน กลุ่มในทิเกรย์ที่ต่อสู้เคียงข้างรัฐบาลเอธิโอเปีย ในช่วงที่การเจรจาสันติภาพเริ่มต้น เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการของเอริเทรีย ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจา และไม่ได้กล่าวว่าจะถอนกำลัง และปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงหรือไม่

แถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลเอธิโอเปียกับทีพีแอลเอฟ ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะใช้ “กรอบนโยบายความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน” เพื่อรับรองการรับผิดชอบ, ความจริง, การประนีประนอม และการเยียวยา โดยไม่อธิบายว่า จะมีลักษณะอย่างไรในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการวิสามัญฆาตกรรม, การข่มขืน, การปล้นสะดม, การพลัดถิ่นผู้คนด้วยกำลัง ได้รับการบันทึกโดยหน่วยงานหลายแห่งของสหประชาชาติ (ยูเอ็น), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่แต่งตั้งโดยรัฐของเอธิโอเปีย, กลุ่มช่วยเหลืออิสระ และสื่อต่าง ๆ ซึ่งทุกฝ่ายปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ทั้งนี้ทั้งนั้น สงครามมีรากฐานมาจากความคับข้องใจเก่า ๆ ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองของทิเกรย์และภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งก่อตัวขึ้นจากความโกลาหลนานหลายทศวรรษ, การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่รุนแรง, ข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ และการปกครองแบบเผด็จการที่มีมาอย่างยาวนาน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS