“วิธีเดียวที่จะรักษาสุขภาพของเราได้…คือการกินในสิ่งที่เราไม่ต้องการ ดื่มในสิ่งที่เราไม่ชอบ และทำในสิ่งที่เราไม่ต้องการ”

กลายเป็นเรื่องใหญ่ผสมดราม่าตลอดสัปดาห์เลยก็ว่าได้ เมื่อนายตำรวจระดับ “พล.ต.ต.” ยื่นฟ้อง ก.ตร. และนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว ไม่ใช่แค่เฉพาะวงการสีกากีทั่วประเทศเท่านั้น แต่ขยายวงกว้างไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย

เรื่องความไม่เป็นธรรมในองค์กรนี้เริ่มจาก ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 7 ก.ย. 2565 อันเนื่องจากมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 ที่เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ลงมาถึงผู้บังคับการ (ผบก.) วาระประจำปี 2565

เฉพาะส่วนที่ไม่มีรายชื่อของ พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ (ผบช.) โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลใช้บังคับ และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ว่า ก.ตร. และนายกรัฐมนตรี จะต้องไปพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเฉพาะในส่วนของ พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ ให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

โดยคดีนี้ พล.ต.ต.วันไชย ได้ยื่นฟ้อง ก.ตร. และนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลาง ว่า ก.ตร. และนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทน ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ลงมาถึงผู้บังคับการ (ผบก.) วาระประจำปี 2565 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจาก พล.ต.ต.วันไชย ผู้ฟ้องคดี เป็นผู้มีรายชื่อตามหนังสือสำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ลงวันที่ 4 ก.ค. 2565 เรื่อง ประกาศลำดับอาวุโสข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบก. ถึง จเรตำรวจแห่งชาติ และ รอง ผบ.ตร. ครั้งที่ 2 ในลำดับอาวุโสที่ 24

แต่ในประชุมคครั้งดังกล่าวไม่ปรากฏชื่อ พล.ต.ต.วันไชย เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงดำแหน่ง ผบช. จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติ ก.ตร. ดังกล่าว และให้ ก.ตร. มีการประชุมพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ลงมาถึงผู้บังคับการ (ผบก.) วาระประจำปี 2565 ใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว

ศาลปกครองกลาง ให้เหตุผลว่า คดีนี้ ปรากฏข้อเท็จจริง ในวาระประจำปี 2565 มีตำแหน่งผู้บัญชาการว่างจำนวน 16 ตำแหน่ง โดยมีข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการที่มีสิทธิเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการจำนวน 134 คน ซึ่งมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการคัดเลือกไว้ว่า

ในการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ผบ.ตร. หรือ ก.ตร. จะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงความอาวุโส ประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ และความรู้ความสามารถ ซึ่งหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบในการคัดเลือกที่บัญญัติในมาตรา 57 แห่ง

พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ถือเป็นหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบในการคัดเลือกที่มีความสำคัญ และในการนำหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบในการคัดเลือกดังกล่าวมาใช้ในการคัดเลือก เพื่อป้องกันมิให้ ผบ.ตร. หรือ ก.ตร. ใช้อำนาจในการคัดเลือกตามอำเภอใจ

อีกทั้งกรณี ผบ.ตร. คัดเลือกข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นแล้ว เสนอรายชื่อให้ ก.ตร. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ถึงแม้ ก.ตร. จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลว่า ผบ.ตร. ได้ให้จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. ทุกคนเข้าร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการคัดเลือกก็ตาม

แต่ จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. เข้าร่วมในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มิใช่เข้าร่วมในฐานะเป็นกรรมการที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการคัดเลือก การที่ ผบ.ตร. มีอำนาจในการคัดเลือกเพียงคนเดียว จึงมิใช่การคัดเลือกตามระบบคุณธรรม

ตลอดจนในการพิจารณาของ ก.ตร. เพื่อให้ความเห็นชอบข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นนั้น เมื่อได้พิจารณาสำเนารายงานการประชุมของ ก.ตร. ดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2565 ในวาระการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ วาระประจำปี 2565 แล้ว ไม่มีการสรุปว่ามีกรรมการของ ก.ตร. อภิปรายในระเบียบวาระดังกล่าว

โดยรายงานการประชุมสรุปได้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น จึงถือว่าที่ประชุมไม่มีอภิปรายในระเบียบวาระนี้ ไม่ได้เป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และกฎ ก.ตร.

ประกอบกับ คุณสมบัติ พล.ต.ต.วันไชย อยู่ในหลักเกณฑ์และองค์ประกอบในการคัดเลือกที่สูงกว่าข้าราชการตำรวจที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นอย่างน้อยจำนวน 2 คน ซึ่งก็คือลำดับที่ 8 และลำดับที่ 9 พล.ต.ต.วันไชย จึงเป็นผู้ที่เหมาะสมในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น วาระประจำปี พ.ศ. 2565

ซึ่งควรจะมากกว่าข้าราชการตำรวจในลำดับที่ 8 และลำดับที่ 9 แต่ลำดับที่ 8 และลำดับที่ 9 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามมติของ ก.ตร. การที่ ก.ตร. มีมติเห็นชอบข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อ พล.ต.ต.วันไชย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบช. จึงเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หลังศาลมีคำพิพากษาเพิกถอน ตัวของ พล.ต.ต.วันไชย มองว่า ในฐานะผู้ร้องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอยืนยันว่าจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบใด เชื่อมั่นว่ามีความรู้ความสามารถที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ครองยศ พล.ต.ต.มานาน กว่า 7 ปี และครองตำแหน่ง รอง ผบช. ถึง 4 ปีเต็ม อาวุโสเป็นอันดับ 1 ของภาค 8 และลำดับที่ 24 ของ สตช.

ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตามคำสั่งเมื่อวันที่ 7 ต.ค. มี พล.อ.ประวิตร นั่งหัวโต๊ะในการพิจารณาตำแหน่ง 255 ตำแหน่ง โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ก็แล้วเสร็จ พฤติกรรมอย่างนี้ สมควรเรียกว่า การพิจารณาหรือไม่ เพราะถ้าหากในที่ประชุมมีการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายด้วยความเป็นธรรม โดยใช้เวลาแค่ตำแหน่งละ 1 นาที ก็ต้องใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง จึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งลักษณะอย่างนี้บ่งบอกได้หรือไม่ว่า เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พล.ต.ต.วันไชย รับราชการมานานร่วม 30 ปี พบเห็นการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ผู้มีหน้าที่ในการบริหาราชการแผ่นดินในระดับสูงของประเทศ ก็จะส่งเสริมเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชาในสายงาน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เด็กนาย” ทุกวันนี้ข้าราชการตำรวจที่ตั้งใจทำงาน ไม่มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพ

เพราะแม้แต่หัวหน้าโรงพักที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด คนที่จะได้รับการแต่งตั้ง ยังต้องเป็นคนของนักการเมือง เมื่อประชาชนมีปัญหาความเดือดร้อน หากไม่ได้เป็นพรรคพวกของกลุ่มเดียวกัน ก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม เชื่อว่ายังมีข้าราชการตำรวจอีกมากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้าย

แต่ที่ผ่านมา พวกเขาไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ นอกจากจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองแล้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกระตุ้นให้ตำรวจที่รักองค์กร ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในองค์กรของตัวเองอย่างที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันสะท้อนภายในองค์กรสีกากีอย่างมาก ถึงขนาดที่นายตำรวจระดับสูงยอมเปิดหน้าแลก ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ที่สำคัญในสายตาของประชาชนหรือชาวบ้าน ที่ปกติก็มองภาพรวมของตำรวจไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งมองว่าย่ำแย่มากยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะกี่ปีกี่ปี การแต่งตั้งโยกย้ายก็วุ่นวายทุกที … เหนื่อยใจแทนจริงๆ.

ตำรวจชุมชนสัมพันธ์

ค้นหาผู้เสพ
พ.ต.ท.ศรายุทธ ศรีมัญจาบุรี สว.สภ.บ้านแก้ง จว.ชัยภูมิ ร.ต.อ.ณัฐกิตติ์ เอบุญมา รอง สว.(สอบสวน) สภ.บ้านแก้ง ร.ต.อ.อดิศักดิ์ บุตรยุทธ รอง สว.สส.สภ.บ้านแก้ง พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการโครงการค้นหาผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และชุด ชยย. ออกตรวจเยี่ยมชุมชน บ้านโคกสะอาด หมู่ที่ 9 และหมู่ 19 เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้นำชุมชน ประชาสัมพันธ์โครงการ ตามข้อห่วงใยของผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ในพื้นที่ รวมถึงมาตรการป้องกันการก่อเหตุทะเลาะวิวาทในงานเทศกาล งานมหรสพ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ให้การต้อนรับ ณ วัดบ้านโคกสะอาด ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

คุมงานลอยกระทง
พล.ต.ต.พุฒิพงศ์ มุสิกูล รอง ผบช.ภ.4 และโฆษกกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เป็นประธานในการปล่อยแถวกองกำลังผสม ข้าราชการฝ่ายปกครอง, ตำรวจ, ทหาร และภาคีเครือข่าย ร่วมกันรักษาความปลอดภัย รวมถึงการร่วมกันปฏิบัติภารกิจ เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยภายในงาน สร้างความสุข ความอบอุ่นใจ และสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน จึงมีการประชาสัมพันธ์ ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวและการร่วมลอยกระทงให้ประชาชนได้ทราบ เช่น ห้ามเล่น ดอกไม้เพลิง พลุ ประทัด โคมลอย ห้ามพกพาอาวุธ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์และทะเลาะวิวาท ไม่ควรใส่เครื่องประดับและของมีค่า ควรลอยกระทงในจุดที่มีความปลอดภัย และไม่ควรปล่อยบุตรหลานเที่ยวหรือลอยกระทงเพียงลำพังคนเดียว ซึ่งได้กำชับในจังหวัดที่จัดงานลอยกระทงแบบยิ่งใหญ่ คือที่บึงสีฐาน จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม และจังหวัดร้อยเอ็ด ให้สนธิกำลังกันเฝ้าระวัง รักษาความปลอดภัยให้ประชาชนอย่างเต็มที่

ต้นแบบจังหวัดสีขาว
จากสถานการณ์เหตุการณ์อดีต ตร. คลั่ง ก่อเหตุฟัน ยิงครูพี่เลี้ยง เด็กเล็ก และชาวบ้านที่พบเห็น 36 ศพ พร้อมใช้ปืนกระบอกเดียวปลิดชีพตัวเองรวมตัวผู้ก่อเหตุ 37 ศพ พร้อมผู้บาดเจ็บสาหัสและเล็กน้อยรวม 10 ราย ผู้ได้รับกระทบ 41 ครัวเรือน รวม 46 คน ได้รับผลกระทบ สังคมวิจารณ์ว่ายาเสพติดคือต้นเหตุ พร้อมคนมีอาวุธปืนในครอบครอง รัฐบาลใช้วิฤกตินี้ ให้จังหวัดหนองบัวลำภู เป็น จังหวัดนำร่อง (ต้นแบบ) สีขาว ห้องทดลอง (LAB) ขณะที่สังคมมองว่า คนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เย็นเป็นสุขได้อย่างไร ว่าแล้ว พลตำรวจตรี พงษ์พิพัฒน์ ศิริพรวิวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วย พ.ต.อ.กริช ปัตลา พ.ต.อ.สาโรจน์ คุ้มทรัพย์ พ.ต.อ.ภพกร กวินโยธิน พ.ต.อ.อัษดิน สมศรี รอง ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู และ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ ทุกอำเภอ นำทีมโชว์ผลการจับกุมตรวจยึด ระดมกวาดล้าง 1 เดือน พบผู้กระทำผิด 303 ราย ตรวจยึดอาวุธปืน 97 กระบอก ยานรกเพียบ เตรียมพร้อมก้าวสู่จังหวัดต้นแบบ (นำร่อง) สีขาวของประเทศ…..ทีมงาน สน.รอตรวจ ขอให้กำลังใจข้าราชการตำรวจทุกนาย และผู้แจ้งเบาะแสอาชญากรทางสังคม

เปิดลอยกระทง
สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี เขต 4 เป็นประธานเปิดงานประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2565 ที่บริเวณลานหน้าหลวงพ่อทันใจศรีมณีพลวงทอง โดยมี สมโชค สิทธิ์ภานุวงค์ นายก อบต.พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี พร้อมคณะกรรมการร่วมจัดงาน ซึ่งมี ส่งเสริมชัย นิมมานกุล ผู้ช่วย ส.ส.สรวุฒิ ร่วมด้วย และมี พ.ต.อ.บัณฑิต ธรรมอนันต์ ผกก.สภ.บ่อทอง พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชา อำนวยด้านการจราจรและรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่

อำนวยความสะดวก
ภายใต้อำนวยการ พ.ต.ท.บดินทร์ ชูเฉลิม สว.ส.ทล.2 กก.4บก.ทล.ขอนแก่น ด.ต.เรืองศักดิ์ วิชัยศร จ.ส.ต.กิตติศักดิ์ สิงห์ภา นำรถวิทยุตำรวจทางหลวง 4202 ร่วมกับตำรวจจราจร สภ.เมืองขอนแก่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มข. และอาสาสมัคร อำนวยความสะดวกการจราจรในถนนมะลิวัลย์ ให้กับ ขบวนแห่นางนพมาศ ในเทศกาลวันลอยกระทงประจำปี 2565 ที่บึงสีฐานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยบริการประชาชนบ้านไผ่ นำโดย ร.ต.ต.ปรีชา มะลิมาตร ด.ต.เจษฎา โพธิ์ศรี นำรถวิทยุตำรวจทางหลวง 4200 ออกตรวจร่วมกับตำรวจ จร.สภ.บ้านไผ่ และฝ่ายปกครอง ร่วมปล่อยแถว เพื่ออำนวยการจราจร ดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาร่วมงานลอยกระทง


***********************
คอลัมน์ : สน.รอตรวจ
โดย : บิ๊กสลีป