เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีหลายสำนักข่าวนำเสนอผลลัพธ์จากกรณีศึกษาจากทีมวิจัยของออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่า “พบความเชื่อมโยงระหว่างการแคะจมูกและการเกิดโรคอัลไซเมอร์”

กรณีศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เป็นการวิจัยศึกษาว่า แบคทีเรีย Chlamydia pneumoniae สามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยผ่านทางเส้นประสาทรับกลิ่นและเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากใบหน้า และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยมีการศึกษาจากหนูทดลองพบว่าแบคทีเรียดังกล่าวสามารถเดินทางจากโพรงจมูกไปยังสมองได้ 

ดร. เจมส์ เซนต์จอห์น หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทชีววิทยาและสเต็มเซลล์ เคลม โจนส์ แห่งมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย หนึ่งในผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าวในงานแถลงข่าวสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 ว่า ทีมของพวกเขาเป็นทีมแรกที่สามารถแสดงให้เห็นว่าแบคทีเรีย Chlamydia pneumoniae สามารถเดินทางไปตามโพรงจมูก ขึ้นสู่สมอง ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในลักษณะที่คล้ายกับอาการป่วยของโรคอัลไซเมอร์ 

แม้จะกรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับหนูในห้องทดลอง แต่หลักฐานก็แสดงให้เห็นแนวโน้มว่าเป็นไปได้สูงในมนุษย์ พวกเขาพบว่าระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าและจมูกของหนูทดลอง รวมถึงต่อมรับกลิ่นและสมองของหนู แสดงอาการติดเชื้อภายใน 3 วันหลังจากที่มีการสัมผัสแบคทีเรีย

ดร. เซนต์จอห์น ระบุว่า ยังต้องมีการศึกษาต่อไปกับผู้ป่วยจริง ๆ ว่าชี้ชัดว่าอวัยวะส่วนจมูกของมนุษย์สามารถติดเชื้อแบคทีเรียเช่นเดียวกับหนูหรือไม่ ตอนนี้พวกเขามีข้อมูลเพียงว่า มีการพบแบคทีเรียชนิดเดียวกันนี้ในร่างกายคน แต่ยังไม่ได้มีการสำรวจว่ามันเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร

กระนั้น เขาก็แนะนำว่าเราไม่ควรแคะจมูกหรือดึงขนจมูกบ่อย ๆ เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อในโพรงจมูกเสียหาย ซึ่งจะทำให้ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและเดินทางไปสู่สมองของเราได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการรายงานข่าวออกไปอย่างครึกโครม ก็มีนักวิจัยออกมาวิเคราะห์และโต้แย้งคำกล่าวอ้างดังกล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่สามารถยืนยันได้ว่า การแคะจมูกนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์

ฝ่ายที่โต้แย้งอธิบายว่า กรณีศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการวิจัยในสัตว์ทดลอง และมีกรอบการวิจัยที่มุ่งเป้าในการหาคำตอบว่า แบคทีเรีย  Chlamydia pneumoniae มีบทบาทอย่างไรต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากมีการพบแบคทีเรียชนิดนี้ในสมองของผู้ป่วยโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องการรู้ว่าแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วไปถึงส่วนไหนบ้าง และมันสามารถเดินทางจากช่องจมูกไปยังสมองได้เร็วแค่ไหน รวมถึงเป็นตัวการทำให้เกิดสารโปรตีนแอมีลอยด์ เบตา ซึ่งปรากฏอยู่ในสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์และผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมประเภทอื่น ๆ ได้หรือไม่

กรณีศึกษาดังกล่าวยังขาดการเปรียบเทียบระหว่างสมองของหนูที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียและหนูที่ไม่ได้รับเชื้อ ซึ่งพบสารแอมีลอยด์เบตาในสองของหนูทั้งสองกลุ่ม แต่อยู่ในลักษณะที่จับตัวรอบแบคทีเรียสำหรับหนูที่ได้รับเชื้อ และอยู่ในลักษณะกระจายตัวในสมองหนูที่ไม่ได้รับเชื้อ

ยิ่งไปกว่านั้น ในรายงานกรณีศึกษาดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุเลยว่า การแคะจมูกนำไปสู่ความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ เพียงแต่มีคำแนะนำจากผู้เขียนว่าไม่ควรทำ เนื่องจากเป็นการทำลายเนื้อเยื่อโพรงจมูก ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ณ เวลานี้ ที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าการแคะจมูกเป็นอันตรายขนาดนั้น การนำเสนอแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นเพียงการสันนิษฐานที่เรียกว่าเกินความเป็นไปได้จริง

แหล่งข้อมูล : foxnews.com, racgp.org.au

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES