ยอดนี้แม้ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับเหยื่อคอลเซ็นเตอร์รายก่อนหน้า บางรายสูญไปกว่า 40 ล้านบาท บางราย 100 ล้านบาท แต่กลับมีหลายจุด “สงสัย” ที่สะท้อนให้เห็น “ปม” ปัญหาใหม่ๆ ที่น่ากังวล

โดยเฉพาะล่าสุดที่ปรากฏข่าวชัดเจนว่า มีการนำข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของประชาชน ไปหาประโยชน์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พฤติการณ์หลอกเหยื่อชาวอุทัยธานีรายนี้ เริ่มจากมีสายโทรศัพท์อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ “กรมสรรพากร” แจ้งว่า ร้านขายส่งเหล้าและบุหรี่ของพ่อเหยื่อยังคาอยู่ในระบบ ขณะที่ข้อเท็จจริงร้านดังกล่าวปิดลงไปนานแล้ว โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างหากต้องการให้ดึงข้อมูลเก่าออกต้องเข้าไปกรอกรายละเอียดผ่านระบบ

แม้เหยื่อจะเฉลียวใจตอบกลับไปว่าร้านดังกล่าวเป็นชื่อของพ่อ แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับแจ้งว่าสามารถทำแทนได้ เพราะเหยื่อเป็นคนไปเสียภาษีแทนพ่ออยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลตามจริงที่เหยื่อเป็นคนไปเสียภาษีให้พ่อตลอด จึงทำให้เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรจริงๆ  

จากนั้นก็เป็นไปตามแผนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้แอดไลน์ (Add line) เพิ่มเพื่อนที่ปรากฏโปรไฟล์ตราสัญลักษณ์กรมสรรพากร  และให้เหยื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่นหนึ่ง อ้างว่าเป็นแอพทำธุรกรรมที่ทำได้โดยไม่ต้องไปถึงสำนักงาน จุดนี้เหยื่อเชื่อสนิทใจเพราะคำพูดดังกล่าวตรงกับที่เจ้าหน้าที่สรรพากรเคยพูดกับเหยื่อเมื่อครั้งไปเสียภาษี

หลังติดตั้งแอพมีการกรอกรายละเอียดการเข้าใช้เป็นชื่อ สกุล และเบอร์โทรศัพท์ปกติ ซึ่งเบอร์ที่กรอกเป็นเบอร์เดียวกับที่แจ้งไว้กรมสรรพากร “ไม่ใช่” เบอร์เดียวกับที่ผูกบัญชีธนาคาร ไม่มีการขอเลขประจำตัว 13 หลัก เหยื่อจึงนอนใจ…

ขั้นตอน “ปิดจ๊อบ” เริ่มขึ้นหลักจากเหยื่อกรอกข้อมูลแล้วมีปัญหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงให้ติดตั้งค่าภายในเครื่องใหม่เพื่ออนุญาตให้มีการเข้าถึงแอพที่ไม่รู้จัก เมื่อเหยื่อหลงเชื่อทำตามและให้รหัส 6 หลักที่ปรากฏไป แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างให้รอการดึงข้อมูลประมาณ 20 นาที ค่อยเข้าไปตรวจสอบ

ระหว่างนี้หน้าจอขึ้นคำว่ากำลังตรวจสอบข้อมูลชื่อ-สกุล และค้างอยู่พักใหญ่จนเอะใจ สุดท้ายพบว่าเงินฝากในบัญชีธนาคาร ยอด 932,801 บาท หายไปเกลี้ยงบัญชี ไม่เพียงเท่านี้…เพราะยังพบว่าเงินกู้ลอยผ่านบัตรเครดิต ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงและมีไว้ใช้ฉุกเฉินถูกทำธุรกรรมแปลงเงินกู้ โอนเป็นเงินสดเข้าไปในบัญชีก่อนโอนออกไปบัญชีม้า 2 ยอด ยอดแรก 994,977.4 บาท ยอดต่อมา 336,000 บาท

ทั้งข้อมูลธุรกิจ การเสียภาษี ไปจนถึงบทพูดและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่เหมือนจริงชวนขนลุก เพราะต้องยอมรับว่า หลายธุรกรรมของแต่ละหน่วยงานดำเนินการได้ผ่านระบบออนไลน์ ข้อสงสัยการทำธุรกรมผ่านช่องทางนี้ บางครั้งจึงไม่ทันฉุกคิด

ยิ่งมีการปูพื้นเรื่องราวของเหยื่อได้ตรงตามข้อเท็จจริง เหยื่อจึงพลาดนอนใจ…

จากข่าวที่ปรากฏทั้งกรณีร้องเรียนตำรวจ สภ.ราชบุรี ร่วมกับทหารอากาศรายหนึ่งเข้า ถึงข้อมูลทะเบียนราษฎร์และนำข้อมูลไปให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเหยื่อสงสัยถึงการได้มาของข้อมูส่วนบุคคล กระทั่งพบว่ามีการเข้าถึงระบบไปดูข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ ก่อนที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ติดต่อมาภายในไม่ถึง 20 นาที

และอีกกรณีฉาวโฉ่เมื่อ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ สอบสวนพบมีข้าราชการกระทรวงใหญ่และข้าราชการตำรวจ ลอบนำข้อมูลคนไทยนับพันคนไปให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เรื่องราวมาจากการขยายผลปฏิบัติการ “เด็ดปีกมังกร” แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 16 คน ในจำนวนนี้ เป็น กลุ่มบัญชีม้า, กลุ่มรวบรวมบัญชีม้าส่งนายทุน และกลุ่มที่รวบรวมข้อมูลเหยื่อเพื่อนำไปหลอกลวง ซึ่งต่อมาพบว่า ผู้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเหยื่อส่งต่อให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไปหลอกลวงคือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปรากฏเส้นทางการเงินชัดเจนว่าได้รับประโยชน์จากยอดโอนเงินเข้าบัญชี

ในอดีตแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจเพียงรู้ชื่อและเบอร์ สุ่มโทรศัพท์ไปตกเหยื่อแบบไร้ข้อมูลการเงิน แต่ปัจจุบันไม่เพียงชื่อ เบอร์ เพราะแม้กระทั่งสถานะธุรกิจ และข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมด ล้วนมีโอกาสตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพได้ง่ายๆ

เป็นสัญญาณ “ดีกรี” อันตรายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัว เพราะสามารถล็อกเป้าตกเหยื่อ แทนเหวี่ยงแหสุ่มโทรฯ ที่หวังผลลัพธ์มากขึ้น

นอกจากปราบบัญชีม้า การเจาะช่องใช้ “ทะเบียนราษฎร์” โดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องถูกสแกนและตั้งรับสูงสุดด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]