“รองเท้าผ้าปาเต๊ะ” ของ “ปิยวรรณ์ ตันสุวรรณ” เป็นอีกหนึ่งงานแฮนด์เมดที่มีไอเดียโดน ๆ จากการนำผ้าปาเต๊ะที่มีจุดเด่นที่ลวดลายและสีสันสดใสมาสร้างสรรค์ ทำให้ชิ้นงานเป็นที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้เป็นอย่างดี…ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณา

ปิยวรรณ์ ผู้เป็นเจ้าของไอเดียที่สร้างสรรค์ทำชิ้นงานรองเท้าผ้าปาเต๊ะขาย ภายใต้แบรนด์ “piyawun ปิยวรรณ์” เล่าว่า…เดิมเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับแนะแนวและการทำวีซ่าที่ประเทศออสเตรเลีย ส่วนงานรองเท้าผ้าปาเต๊ะเริ่มจากการที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ผ้าปาเต๊ะ หรือ บาติก เพราะมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และเป็นผ้าที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยผ้าแต่ละผืนจะเต็มไปด้วยจินตนาการ ความคิด และวัฒนธรรม นอกจากศึกษาแล้วยังสะสมผ้าปาเต๊ะอีกด้วย ประกอบกับเป็นนักสะสมรองเท้าอยู่แล้ว เนื่องจากได้มีโอกาสอยู่ต่างประเทศมานานถึง 25 ปี จนมาเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องกลับมาอยู่ประเทศไทย จนกระทั่งมีโอกาสได้เดินทางไปภาคเหนือ ก็ได้ไปหมู่บ้านหนึ่งเห็นชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุนั่งทำงานหัตถกรรมรองเท้าทำมืออยู่ จึงเกิดความคิดในการทำรองเท้าทำมือจากผ้าปาเต๊ะขึ้นมา

ที่ผ่านมามีคนทำรองเท้าผ้าปาเต๊ะขายกันอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่มีใครคิดที่จะทำแบบจริงจัง และออกแบบให้สวยไม่ล้าสมัย เหมาะกับใส่ได้ทุกวัน ทุกโอกาส และราคาที่สมเหตุสมผลไม่สูงมาก ที่สำคัญต้องใส่สบาย เพราะส่วนใหญ่รองเท้าสวยมักใส่ไม่สบาย รองเท้าที่ใส่สบายกลับไม่สวย จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาให้รองเท้าทำมือทั้งสวยและใส่สบาย” เจ้าของชิ้นงานกล่าว

เริ่มจากการไปพูดคุยถ่ายทอดแนวคิดของเรากับช่างทำรองเท้าให้เข้าใจก่อน เพราะช่างรองเท้าทำมือส่วนใหญ่อายุเยอะ มักจะไม่ชินกับรองเท้าที่แฟนซีและมีสีสันจัดจ้านแบบรองเท้าผ้าปาเต๊ะ โดยเราจะใช้แบบที่ช่างทำจนชำนาญอยู่แล้วมาแก้ไขแบบให้ดูมีความทันสมัยขึ้น แล้วก็เลือกลวดลายผ้าให้ช่างทำตามแบบ และค่อย ๆ ปรับแก้ในแต่ละรอบ จนได้รองเท้าตามแบบต้องการและก็ให้ทำต่อเนื่อง ให้ลองขึ้นในรูปแบบใหม่ ๆ เรียนรู้ไปด้วยกันมาตลอด จนถึงทุกวันนี้ ก็ทำรองเท้าผ้าปาเต๊ะออกมาขายได้เกือบ 2 ปีแล้ว ซึ่งชิ้นงานที่ทำออกมาขายนั้น ก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

“รองเท้าผ้าปาเต๊ะที่สร้างสรรค์ออก มาจะเน้นลวดลายผ้าที่สวยงาม ดูเก๋ และมีสีสันสดใส โดยผ้าปาเต๊ะ 1 ผืน ทำรองเท้าได้เพียง 15 คู่ และแต่ละคู่จะมีการวางลายที่แตกต่างกัน และจะไม่นำผ้าผืนลวดลายเดิมมาทำต่อ ถึงแม้ว่ารองเท้าจะขายหมดแล้วก็ตาม เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าได้ใส่รองเท้าคู่เดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร” ปิยวรรณ์บอกถึงจุดเด่นที่ทำให้รองเท้าผ้าปาเต๊ะที่ทำออกมานั้น ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 100,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์

ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคา ซึ่งราคาขายรองเท้าผ้าปาเต๊ะมีราคาตั้งแต่ 450-890 บาทต่อคู่ ซึ่งราคาขายขึ้นอยู่กับรูปแบบของรองเท้า โดยรองเท้าผ้าปาเต๊ะของ piyawun ปิยวรรณ์ มีแบบกว่า 20 แบบ

วัสดุอุปกรณ์ ที่จำเป็นหลัก ๆ ประกอบด้วย …ผ้าปาเต๊ะ, หุ่นรองเท้า, เข็ม, ด้าย, คีม, ค้อน, ตะปู, กรรไกร, กาวยาง เป็นต้น

“ตอนนี้ทางเรากับทางศิวะนาฏกนกไทย ได้ร่วมกันพัฒนาลายผ้าที่เป็นสัญลักษณ์ของเราขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ในแบรนด์ ผ้าชุดนี้เราเรียกกันว่า ลายพัทธสิงห์ศรีพุฒตาล และได้จดลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว” ปิยวรรณ์กล่าว

ขั้นตอนการทำ…รองเท้าผ้าปาเต๊ะ

เริ่มจากการออกแบบรูปแบบรองเท้าที่ต้องการจะทำ โดยจะดูแบบจากรองเท้าของตัวเองที่สะสมไว้และนำมาประยุกต์ดัดแปลงปรับแก้ให้ได้แบบตามที่ตัวเองชอบ หลังจากที่ทำการออกแบบรองเท้าได้ตามที่ต้องการ แล้วก็ส่งแบบไปให้กับช่างรองเท้าลองขึ้นชิ้นงานออกมา จากนั้นก็นำมาลองสวมใส่เพื่อทดสอบก่อนว่าใส่สบายหรือไม่ มีจุดบกพร่องตรงไหนอีกหรือไม่ หากมีจุดที่ต้องการจะแก้ไข ก็ทำการแก้ไขใหม่ให้เรียบร้อย

หลังจากที่ได้แบบรองเท้าลงตัวตามความต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการเลือกผ้าปาเต๊ะที่จะนำมาทำรองเท้า โดยจะเลือกดูลวดลายและสีสันของผ้าที่ดูเหมาะสมลงตัวกับแบบรองเท้าที่จะทำออกมามากที่สุด หลังจากได้ผ้าปาเต๊ะตามที่ต้องการแล้ว ก็ส่งผ้าไปให้ช่างรองเท้าทำการเย็บทำรองเท้าตามแบบออกมา เสร็จแล้วก็ไปทำการตรวจสอบความเรียบร้อย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ พร้อมวางขายได้ทันที

“งานรองเท้าผ้าปาเต๊ะของเรานั้น สร้างจากความรักและทัศนคติที่ดี มีความตั้งใจที่จะช่วยพัฒนางานให้ชุมชนที่ทำรองเท้า และผ้าปาเต๊ะ ซึ่งการทำงานแบบนี้ ต้องรู้จักการทำงานเป็นทีม และไม่เอาเปรียบ ใช้คนให้ถูกงาน และต้องใช้ความเข้าใจอดทนในการพูดคุยงานกับชุมชน” ปิยวรรณ์กล่าว

สนใจงาน “รองเท้าผ้าปาเต๊ะ ของปิยวรรณ์ สามารถเข้าไปติดตามชมสินค้าได้ทาง เฟซบุ๊ก : Piyawun ปิยวรรณ์ รองเท้าผ้าปาเต๊ะ หรือ อินสตาแกรม : Piyawun_batik, หรือ TikTok : @piyawun_ปิยวรรณ์, หรือ line ID : piyawun หรือทางโทรศัพท์ 08-6985-6856 …ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบงานแฮนด์เมด ชิ้นงานมีไอเดียที่มีโอกาสไปได้อีกไกล สามารถใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้และยังเป็นการสนับสนุนสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน