ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อเรื่องนี้ โดยเรื่องนี้ทางการแพทย์ก็ได้มีการศึกษา และมีการอธิบายลักษณะอาการไว้…กับภาวะ “Headline Stress Disorder” ที่ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นคำที่ใช้เรียก “ภาวะเครียดที่เกิดจากการเสพข่าวมากเกินไป”  โดยเฉพาะ “เรื่องราวที่ชวนให้หดหู่-หวาดกลัว” ซึ่งหากเกิดภาวะนี้…

ส่งผลต่อจิตใจ…และร่างกายก็จะย่ำแย่!!

นี่อาจ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ” ได้

เกี่ยวกับภาวะ “Headline Stress Disorder” นี้ ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา คือ ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ อาจารย์สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เตือนไว้ถึง “พิษภัยการเสพข่าวร้ายมากเกินไป” ผ่านบทความในเฟซบุ๊ก Mahidol Channel โดยระบุไว้ว่า… ภาวะเครียด หรือวิตกกังวลจากการเสพข่าวมากเกินไป โดยเฉพาะข่าวที่น่าหดหู่ หรือโหดร้าย จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างมาก อาจทำให้ ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล โกรธ ซึมเศร้า …ซึ่งถ้าหากว่าเกิดภาวะนี้นาน ๆ ต่อเนื่อง…

อาจทำให้เกิดโรคหลาย ๆ อย่างตามมา

อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า

ทั้งนี้ กับคนที่ถือเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ที่ควรหลีกเลี่ยงการเสพข่าวสารประเภทนี้มาก ๆ ได้แก่… คนที่มีความเหนื่อยล้าทางจิตใจหรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น คนที่กำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน คนที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีอาการเจ็บป่วยอยู่ โดยคนกลุ่มนี้จะมีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย เมื่อเสพข่าวที่หดหู่ก็จะยิ่งถูกกระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ง่าย, คนที่มีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าอยู่แล้ว นี่เป็นอีกกลุ่มที่ถูกกระตุ้นได้ง่ายมาก ๆ จากการเสพข่าวแนวหดหู่ เนื่องจากกลุ่มนี้มีปัญหาสุขภาพจิตย่ำแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั่นเอง จึงเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “Headline Stress Disorder” สูงกว่าคนปกติ…

นอกจากนี้… คนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากเกินไป นี่ก็เป็นอีกกลุ่มที่ มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดภาวะดังกล่าวได้มาก เนื่องจาก ในสื่อโซเชียลและสังคมออนไลน์มีข้อมูลข่าวสารมากมายที่ไม่ถูกตรวจสอบคัดกรอง และอีกกลุ่มเสี่ยงคือ… คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว ซึ่งอาจเป็นด้วยบุคลิกภาพ หรือวุฒิภาวะ ที่บางคนอาจยังมีประสบการณ์ไม่มากพอในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่เสพเข้ามา จึงทำให้มีแนวโน้มที่จะเชื่อหรือคล้อยตามสิ่งที่อยู่ในเนื้อหาได้ง่ายขึ้น

สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้-ภาวะนี้ ทาง ผศ.นพ.วัลลภ ได้ระบุไว้ดังต่อไปนี้คือ… “อย่าเชื่อทันที” เพราะบางที Headline ของข่าวที่เสพมีการใช้คำที่เกินจริงเพื่อกระตุ้นหรือดึงดูดให้คนสนใจ ควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาประกอบด้วย เพราะมีหลาย ๆ เคสที่ Headline อาจไม่ได้ตรงกับเนื้อหา และยิ่งถ้าเป็นเหตุการณ์ด่วนหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วยแล้วล่ะก็…

ควรรอให้มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเสียก่อน…

ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อข้อมูลในข่าวนั้น

ประการต่อมาที่ ผศ.นพ.วัลลภ ได้แนะนำไว้ คือ… “ควรตรวจสอบก่อนที่จะเชื่อ” เนื่องจากยุคนี้ มีข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ ที่ส่วนใหญ่มักมีเนื้อหาสร้างความตื่นตระหนกและมีจุดมุ่งหมายสร้างความหวาดกลัว โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะช่วยกรองข่าวที่ส่งผลกระทบกับจิตใจออกไปได้มาก, “หาเรื่องราวดี ๆ มาเสพ” หรือพยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่เสพ โดยให้คิดว่าทุกอย่างมีทั้งด้านดีและด้านร้ายเสมอ …นี่คือวิธีป้องกันการเกิดภาวะ “Headline Stress Disorder”

ทางคุณหมอท่านเดิมยังได้ระบุไว้เพิ่มเติมในบทความที่เผยแพร่ผ่านแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นด้วยว่า… ทางออกที่ดีอีกวิธีหนึ่งก็คือ “จำกัดเวลาเสพข่าวสาร” ซึ่งจะต้องเคร่งครัดและมีระเบียบวินัยในการใช้เวลาจำกัดในการติดตามข้อมูลข่าวสาร โดย “แบ่งเวลา-กำหนดตาราง” ในการติดตามข่าวสารให้ชัดเจน ซึ่งถ้าหากมีภาวะอาการแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรงดเสพข่าวสารทันทีไปสักระยะหนึ่ง เพื่อดูว่าอาการเครียดและความวิตกกังวลที่เป็นอยู่นั้นสามารถที่จะทุเลาเบาลงไปได้หรือไม่

“จริง ๆ ไม่เฉพาะข่าวสารแนวหดหู่ ข่าวสารเชิงร้าย ๆ เท่านั้น ที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะนี้ แต่ การที่หมกมุ่นกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งจนมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะเครียดแบบนี้ได้ เช่นกัน ดังนั้นจึงควรจัดสรรหรือจัดแบ่งตารางเวลาให้เหมาะสม ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไปจะดีที่สุด แต่ถ้าหากยังเครียดอยู่ แม้จะเพลา ๆ กับการติดตามข่าวสารแล้ว ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือติดต่อ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อที่จะแก้ไขภาวะนี้” …ทาง ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ แนะนำผ่านบทความทาง Mahidol Channel ไว้ เกี่ยวกับการป้องกัน-แก้ไขภาวะ “Headline Stress Disorder”

ทั้งนี้ ยุคปัจจุบัน ยุคออนไลน์-ยุคโซเชียล ที่ มี “ข้อมูลข่าวสาร” แบบที่ “ไม่ได้ถูกตรวจสอบ-ไม่ได้มีการคัดกรอง” เผยแพร่มากมาย กับการ “เท่าทัน” และกับการ “ป้องกัน” ภาวะดังกล่าว ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์เตือนไว้ นี่น่าสนใจ…

ก็ขอร่วมสะท้อน เตือน” เอาไว้ ณ ที่นี้

เตือนภาวะ “Headline Stress Disorder”

ที่ “ทำให้ป่วยจิต-ป่วยกาย…ย่ำแย่ได้!!”.