เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลที่กำลังนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ภายใต้บริบทการเมืองที่ถูกตั้งคำถามถึงการยุบสภามากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการประชุมเอเปคเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสพูดคุยกับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เพื่อจับชีพจรเกมการเมืองหลังจากนี้

โดย ดร.เจษฎ์ เริ่มเปิดประเด็นว่า สถานการณ์การเมืองไทยภายหลังการประชุมเอเปคเสร็จสิ้นลงไปแล้ว จะต้องมองเป็น 3 ส่วน โดย ส่วนแรก การไปคิดว่า จะมีการยุบสภาก่อนวันที่ 24 ธ.ค.65 โดยมุ่งจุดเน้นไปที่วันที่ 24 มี.ค. 62 แล้วนับย้อน 90 วันกลับมา โดยคิดว่าเป็นช่วงเวลาสังกัดพรรคการเมืองใหม่นั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะกรณีดังกล่าวมีเงื่อนไข คือ สภาอยู่ครบวาระ และนับรวม 90 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้นการคาดการณ์ยุบสภาก่อนวันที่ 24 ธ.ค. นั้น ถือว่าผิดจุด

ส่วนที่สอง คือสภาวการณ์ทางการเมือง ซึ่งหลายคนมองในสิ่งที่รัฐบาลคิดจะทำ หรือในสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลคิดจะไม่ทำนั้น อาจจะมีความเชื่อมโยงกัน โดยสิ่งที่รัฐบาลอยากทำ ซึ่งคนเชื่อกันว่าอาจเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค และพอได้ทำแล้ว ส่วนในสิ่งที่ไม่อยากทำก็ไม่อยากทู่ซี้ต่อไป ก็อาจจะยุบสภา โดยสิ่งที่ไม่อยากทำ อาทิ เรื่องกัญชา เรื่องสุราก้าวหน้า รวมทั้งเรื่องที่ดิน เพราะคิดว่าทำไปตอนนี้อาจจะไม่คุ้มเสี่ยง หากปักหัวลงตอนหาเสียงเลือกตั้งจะเกิดปัญหา นอกจากนั้นยังมีเรื่องการปรับ ครม. ด้วย หากไม่อยากปรับ ครม. ก็อาจจะคิดว่าไม่ปรับแล้วก็ยุบสภาไปเลย

ส่วนสุดท้าย ต้องมุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถ้าโดยพื้นของสิ่งที่ทำมา ในแง่หนึ่งคนมองว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภาคือแพ้ ลาออกคือผิด ไม่ไปต่อคือยอม หากมองแบบนี้แทนที่จะยื่นดาบให้คนอื่น แทนที่จะให้เวทีเป็นที่เล่นสำหรับคนอื่น ก็เอาหมากเอาเบี้ยทั้งหลายไว้ในมือตัวเองก่อน เพราะหากยุบสภาไปไม่ได้ประโยชน์อะไรสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนสิ่งที่ไม่อยากทำก็ไม่ทำ หากไม่อยากปรับ ครม.ก็อาจจะไม่ปรับ หรือปรับเท่าที่เห็นว่าสมควรจะปรับ ซึ่งหากคิดในแง่นี้ก็อยู่ต่อและทำอะไรสักอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นหากยุบสภาแล้ว เวลาที่ไปสังกัดพรรคใหม่ ลดจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน เวลาเลือกตั้งเพิ่มจาก 45 วัน เป็น 60 วัน ทำให้มีการหายใจหายคอได้มากขึ้น ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะลากยาวไม่ยุบสภา ไม่ไปไหน ทำให้ในช่วงต้นเดือน ก.พ. นักการเมืองต้องรีบย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะทำให้เห็นว่าใครจะเล่นอะไรแบบไหน

“ดูโดยรวมแล้วก็ทำให้เห็นได้ว่าเกมการเล่นนี้ ถ้าเกิด พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่หากคิดจะพอ ก็ยังเป็นการลงได้สวยๆ อีกด้วย เพราะวาระส่วนตัวอย่างหนึ่ง คือ อยากเอาชนะ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งเพียงรัฐบาลเดียวที่อยู่ครบ 4 ปี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะคิดว่า สามารถอยู่ครบสมัยได้เหมือนกัน ทั้งนี้น่าคิดหนักว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสละสิ่งที่เป็นจุดแข็งส่วนตัว เพื่อไปร่วมในจุดด้อยกับคนอื่นหรือไม่”

อย่างไรก็ตามหากเอาทั้ง 3 ส่วนมาวิเคราะห์รวมกันแล้ว คิดว่า ยังยากที่จะคาดเดา และยังไม่เห็นว่า จะยุบสภาไปเพื่ออะไร เพราะการยุบสภาก่อนวันที่ 24 ธ.ค. นั้น ถือว่าผิดจุด ขณะที่สภาวการณ์การเมืองรุมเร้าถึงขนาดอยู่ไม่ได้เลยหรือไม่ ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น ซึ่งก็อยู่ที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เพราะการยุบสภาเป็นอำนาจนายกฯ ซึ่งหากอยู่ในสถานะได้เปรียบ จะไปยุบสภาทำไม ดังนั้นเมื่อดูรวมกันทั้งหมด น่าจะค่อนไปในทางไม่ยุบสภาหลังการประชุมเอเปค

@ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อ พรรคพลังประชารัฐยังสามารถเป็นนั่งร้านอำนาจได้ต่อไปหรือไม่

เรื่องนี้ไม่แน่ อยู่ที่เงื่อนไขและปัจจัย โดยในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และจะเป็นหรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นในส่วนของพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกพรรค อาจจะไม่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะอาจจะไปให้พรรคอื่นเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไปเป็นสมาชิกพรรคอื่นก็ได้ หรืออาจจะเลิกเล่นการเมืองก็ได้ เพราะฉะนั้นคิดว่าตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในสถานะได้เปรียบอยู่ ยังมีพื้นที่เล่นอีกเยอะ ดังนั้นอยู่ลอยตัวอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ แล้วปล่อยไปเรื่อย ท้ายที่สุดก็ต้องไปวัดกันว่าจะอยู่ครบวาระหรือไม่ จะสังกัดพรรคหรือไม่ จะให้พรรคการเมืองไหนเสนอชื่อ ก็ไปวัดกันตอนนั้น ทุกอย่างอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเอาอย่างไร

@ สูตร “นายกฯ คนละครึ่ง” หรือ “หมดลุงตู่สู่ลุงป้อม” จะเป็นไปได้หรือไม่

ต้องมองใน 2 ส่วน คือ ประชาชน และสมาชิกพรรค เอาด้วยหรือไม่ หากเขาไม่เอาเขาก็ไปเลือกคนอื่น ส่วนแนวทางพรรคเพื่อไทย จับมือพรรคพลังประชารัฐ โดดเดี่ยว พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้สามัคคีกันจริง ก็มีโอกาสสูง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยคงยาก แต่ พล.อ.ประวิตร ไม่แน่ ดังนั้นหากพรรคพลังประชารัฐจะไปรวมกับพรรคเพื่อไทย ก็มีโอกาสจะผลัก พล.อ.ประยุทธ์ ออกไปอยู่อีกพรรคหนึ่งที่เหมือนว่าเสริมกันกับพรรคพลังประชารัฐในหน้าฉาก แต่หลังฉากอาจจะไม่ถูกกัน และอาจจะถูกโดดเดี่ยวรวมกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เป็นคู่แข่งดึงคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตย เมื่อแย่งคะแนนกันแล้ว ครั้นจะไปจับมือกันก็คงไม่ง่าย ขณะเดียวกัน หลายเรื่องพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้อยากเล่นแรงเหมือนพรรคก้าวไกล ดังนั้นเขาก็ต้องมองหาว่าจะมีพันธมิตรอื่นหรือไม่

“ในสภาวการณ์ที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง ในการหาเสียงคงตีกันอุตลุด แต่หลังจากทุกฝ่ายได้ ส.ส. มาแล้ว อะไรก็ไม่แน่นอน มิตรแท้และศัตรูถาวรไม่มี ดังนั้นแนวทางพรรคเพื่อไทยจับมือพรรคพลังประชารัฐจึงมีความเป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และคนที่มีโอกาสจะถูกโดดเดี่ยวสูง คือ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคก้าวไกล”

@  จากผลโพลที่พรรคก้าวไกลมาแรงใน กทม. สะท้อนอะไรในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ต้องดูว่าโพลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน กลุ่มตัวอย่างอาจจะหลอกโพลก็ได้ วันนี้เขาอาจคิดแบบนี้ แต่วันข้างหน้าเขาจะคิดอย่างไรไม่รู้ แต่หากจะมองว่าคน กทม. อาจจะคิดในสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ ก็ต้องไปดูว่าพรรคก้าวไกลเสนออะไร อาทิ การแก้มาตรา 112 การปฏิรูปสถาบัน หากเป็นอย่างนั้นจริงแปลว่าคน กทม. กำลังคิดอย่างนี้หรือไม่ และทั้งประเทศกำลังคิดไปในลักษณะนี้หรือไม่ นอกจากนั้นหากประชาชนเดินเข้าสู่คูหาและหย่อนบัตรให้พรรคก้าวไกลทั่วประเทศ ก็อาจจะเกิดการพลิกขั้วกลับ โดยพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่.