ก่อนจะเข้าเรื่องบทความนี้ ขอพูดถึงมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ให้ชาวต่างชาติลงทุนในประเทศไทย 40 ล้านบาท ซื้อที่ดินได้ 1 ไร่ ซึ่งถูกประณามไปทั่วว่า เป็น “มติ ครม. ขายแผ่นดิน” มีการเปรียบเทียบกับสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ที่จะออกระเบียบให้ชาวต่างชาติเช่าที่ได้ 99 ปี ..ตอนนั้นเห็นอึงกันจังว่า ขายชาติ พอมา ตอนนี้ไม่ให้เช่า แต่ให้ซื้อเลย ซึ่งรัฐบาลก็บอกว่า ถามหน่วยงานต่างๆ ก่อนมีมติแล้ว ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แล้วว่า “ไม่มีผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงฉบับนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ ซึ่งทางฝั่งรัฐบาลเขาก็ว่า ฟังเสียงประชาชน และต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ..เรื่องฟังเสียงประชาชนนี้ก็ถือว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก็รับฟังอยู่ระดับหนึ่ง เท่าที่จำได้เช่นนโยบายเรื่องห้ามนั่งท้ายกระบะรถปิกอัพ ซึ่งหลายเสียงก็ทักท้วงมาว่า มันจะมีปัญหากับพวกทำการเกษตรที่จะต้องขนคนงานนั่งปิกอัพ ก็เห็นรัฐบาลก็ทบทวน เรื่องนี้ก็คิดว่า รัฐบาลจะฟังเสียงรอบด้าน อย่าให้เกิดวาทกรรม “ขายแผ่นดิน” มาทำให้ภาพลักษณ์เละเทะในช่วงใกล้เลือกตั้ง แต่ผลจะออกมาอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง…หรือกระทั่งดึงดันจะบังคับใช้กฎกระทรวงมหาดไทยอันนี้จริง…ก็ยังไม่มีผลให้เห็นชัดๆ ว่า กระทบอย่างไร

ที่น่าสนใจไม่ใช่เรื่องการให้สิทธิคนต่างชาติซื้อที่ดิน คนต่างชาติที่จะมาอยู่ไทยก็ซื้อคอนโดฯ ได้ ซึ่งมี พ.ร.บ.อาคารชุดควบคุมอยู่ว่า ซื้อได้ร้อยละเท่าไรของโครงการ ..แต่เป็นเรื่อง “นอมินี” คือธุรกิจประเภทต่างชาติเอาคนไทยมาเป็นนอมินี ถือครองที่ดินหรือสิทธิแทน แล้วเวลาจัดทัวร์เที่ยวก็ไปแต่ร้านที่ใช้นอมินีนั่นแหละถือ ร้านอาหาร ร้านของที่ระลึก ที่พัก เผลอๆ พนักงานก็แอบจ้างคนชาติเดียวกันนั่นแหละ มันคุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง …สุดท้ายคือคนไทยก็ไม่ได้ประโยชน์ ข่าวว่าที่เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา กรุงเทพฯ นี่มีร้านนอมินีเยอะ แล้วเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวก็วนเวียนอยู่ในกลุ่มนั้นไม่ถึงคนไทยเท่าที่ควรจะเป็น เรื่องนี้รัฐบาลจัดการอย่างไร อยากฟังเป็นนโยบาย

ภาพถ่ายฟรีของ แสงนีออน

คำว่า “ขายแผ่นดิน” มันเป็นคำที่ “กระทบความรู้สึก” สั้น เหมาะจะเป็นสโลแกนให้คนจำได้ มันก็คือรูปแบบของการสื่อสารการเมืองอย่างหนึ่ง คือ “การสร้างคำจำ” จนกลายเป็นบุคลิกของตัวนักการเมืองของพรรค อย่างพรรคเพื่อไทย เที่ยวนี้เสนอนโยบายโดยใช้คำจำคือ “แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ซึ่งพรรคพยายามสร้างภาพจำเกี่ยวกับเศรษฐกิจดีๆ ยุครัฐบาลทักษิณตลอด มันก็ส่งเสริมกับคำจำให้คนอยากได้เศรษฐกิจดีๆ อีก.. พรรคก้าวไกล ชูคำจำคือ “ล้างมรดก คสช.” …หรือในสมัยก่อน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สร้างคำจำกับนโยบายสำคัญ คือปราบยาเสพติด โดยใช้คำว่า “สงครามยาเสพติด-สงครามความยากจน-สงครามผู้มีอิทธิพล” คำจำแบบนี้มันฟังเข้าใจง่าย ดูมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ดูมีบุคลิก

มาถึงรัฐบาลนี้..คำจำแบบว่า..ดูจะไม่เป็นคุณใดๆ เลย ตอนนี้จะมีคำจำคือ “ขายแผ่นดิน” (หรือขายชาติก็แล้วแต่) มาในช่วงที่รัฐบาลต้องการคะแนนเสียงที่สุด ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็เลือกที่จะเงียบ ไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะ “ภาพจำ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ นายกฯ ที่ปรี๊ดแตกง่าย เกิดถูกถามแล้วตอบ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีในช่วงเอเปคก็ไม่ควร เราจึงเห็นว่าช่วงนี้บิ๊กตู่ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์อะไร

อีกคนหนึ่งที่มี คำจำเป็นบุคลิกที่ไม่เป็นคุณ คือ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งคำจำที่กลายเป็นบุคลิกของบิ๊กป้อมคือ “ไม่รู้ ไม่รู้” คือไม่ใช่อะไรที่ช่วยให้คนอยากเลือกพรรค พปชร. สักนิด หัวหน้าพรรคถามอะไรก็ตอบไม่รู้ แต่มีลูกหาบมาคอยบอกหัวหน้าพรรคดีอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งคิดว่าชาวบ้านเขาจะเชื่ออะไร ระหว่างสิ่งที่เขาเห็นเอง กับสิ่งที่คนมาพูดแทนบิ๊กป้อม ส่วนอีก ป. คือ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นรัฐมนตรีที่ไม่มีความจดจำใดๆ ทั้งเรื่องบุคลิก การทำงาน

เกมจบแล้ว! “ตู่-ป้อม” กอดคอโชว์ 3 ป.แน่นปึ้ก 4  ก.ย.รู้ผลโหวตความสัมพันธ์พี่น้อง | เดลินิวส์

(อนึ่ง ระหว่างเขียนบทความนี้อยู่ มีคนเดินมาบอกว่า ช่วยเขียนให้ด้วยว่าคำจำที่ตอแหลที่สุดคือ “ปฏิรูป” เพราะ ไม่เห็นอะไรมันจะดีขึ้น การเมืองก็น้ำเน่าเหมือนเดิม พอมีพรรคที่มีบุคลิกใหม่ ส่งเสริมความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนอย่างพรรคอนาคตใหม่ก็ไปหาเรื่องยุบเขาอีก แล้วแกนนำ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ เคยออกมารับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำไหมว่า ทำให้ไทยตกอยู่ในวังวนรัฐประหาร จัดม็อบ กปปส. เสียใหญ่โต ใช้คำจำ “ต่อต้านนิรโทษกรรม” อยากปฏิรูปแต่จะฝ่าฝืนกฎหมายเสียเอง คือขัดขวางการเลือกตั้ง วันนี้ยอมรับเถอะว่าปฏิรูปไม่มีจริง)

พรรคอื่นเขาเสนอนโยบาย สร้างบุคลิกกันไปถึงไหนๆ แล้ว ล่าสุด เพิ่งมีความเคลื่อนไหวจากพรรค พปชร. โดยบิ๊กป้อมให้ข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า นโยบาย 3 พันธกิจหลักของพรรค พปชร. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืน คือ “เศรษฐกิจประชารัฐ” มีเป้าหมายในการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศให้สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ รองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยี และสังคม โดยขับเคลื่อนนโยบายควบคู่ไปกับการสร้างสวัสดิการประชารัฐ ผ่านกลไกความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในรูปแบบกองทุนรวม และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยรัฐทำหน้าที่ให้การส่งเสริมอย่างเป็นระบบ

ภาพถ่ายฟรีของ ในที่ไม่ใช่

สำหรับ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชารัฐ 5 มิติ ประกอบด้วย 

  1. เกษตรประชารัฐ ที่มุ่งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูป 
  2. เศรษฐกิจฐานราก  เน้นกระจายรายได้  สร้างโอกาสด้วยการท่องเที่ยวในชุมชน และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง 
  3. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนธุรกิจฐานนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ 
  4. เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน และ
  5. ส่งเสริม SME Startup และ Social Enterprise เพื่อสร้างโอกาสการริเริ่มธุรกิจ ที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่

นอกจากนี้ พปชร. ยังมีนโยบายด้านสังคม คือ “สังคมประชารัฐ สงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปัน” มีการกระจายอำนาจไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย ไปพร้อมองค์ความรู้ และเงินลงทุนในการเริ่มต้นพัฒนาความเป็นอยู่ ตั้งแต่พื้นที่ทำกิน การสร้างอาชีพ รวมไปถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชน มีเป้าหมายใน 4 ด้าน โดยจะให้ความสำคัญในการพัฒนาตามบริบททางสังคม ของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย 

ภาพถ่ายฟรีของ ยาย
  1. กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค สร้างเมืองน่าอยู่ใกล้บ้าน เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพด้วยแนวคิด “30 เมืองน่าอยู่” โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการสร้างที่อยู่อาศัย พัฒนาย่านธุรกิจ ย่านนวัตกรรม 
  2. ชุมชนประชารัฐ ร่วมพัฒนาบ้านเกิด “ชุมชนเข้มแข็ง” เพื่อให้ทุกคนอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด โดยจะมีกองทุนพัฒนาชุมชนประชารัฐจะมีแหล่งน้ำชุมชน โครงการป่าไม้มีค่า และสร้างวิสาหกิจชุมชน
  3. เมืองอัจฉริยะสีเขียว เพื่อความสุขของทุกคน เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสําคัญ คนจะต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อม เราจะปรับเป็นเมืองอัจฉริยะสีเขียวเพื่อความสุขของทุกคน โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคน เพื่อให้คนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างมีความสุข
  4. สังคมประชารัฐสีขาว สังคมจะสงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปันได้ ต้องเป็นประชารัฐสีขาว ที่ “ปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดยาเสพติด” (ว่าแต่ จัดการเรื่องยาเสพติดกับปืนหาซื้อง่ายถึงไหนแล้ว?)

พปชร. ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง ”กองทุนรวมเพื่อสังคม” ซึ่งจะเป็นกองทุนที่เข้าไปพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนและประชาชน โดยรัฐทำหน้าที่ออกมาตรการหรือกลไก ในการส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งกองทุน เพื่อเข้าไประดมทุนจากนักลงทุนในตลาดทุน ทั้งในและต่างประเทศ มีการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการที่คัดเลือกจากนักลงทุนด้วยกันเอง ทำหน้าที่พิจารณาเข้าไปลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม พร้อมกับตัวชี้วัดความสำเร็จของการเข้าไปช่วยเหลือ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ที่สนใจในการทำโครงการแก้ไขปัญหาสังคมที่ยั่งยืน

พร้อมทั้งนี้ บิ๊กป้อม ทิ้งท้ายว่า “จากนี้ไปสังคมไทยจะมีครบ ทั้งสวัสดิการที่ดี เศรษฐกิจที่ดี และพื้นที่ที่ดี ประชาชนมีอาชีพ และมีพื้นที่ทำกินที่รัฐจะเข้าไปส่งเสริม สามารถขยายสินค้าและบริการไปในวงกว้าง จนทำให้ชุมชนดูแลตัวเองได้ เมื่อเจ็บป่วยก็สามารถเข้าถึงสถานบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก เยาวชนมีการศึกษาที่ดี เติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ก็จะกลับมาพัฒนาชุมชนต่อไป  พปชร. จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับคนไทย เพื่อตอบสนองคนไทยทุกคน นับแต่วันแรกที่มีลมหายใจ จนถึงวันสุดท้ายของลมหายใจ ด้วยแนวคิด จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน”

อ่านนโยบายครอบจักรวาลนี้แล้ว คิดว่ามีอะไรน่าจดจำหรือดึงดูดบ้าง คือมันเป็นอะไรที่พรรคไหนก็เสนอ จะขายนโยบายต้องทำการบ้านหนักกว่านี้

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”