วันที่ 1 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคคอมมิวนิสต์จีน ขณะกล่าวคำปราศรัยสำคัญในงานเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของจีนประกาศอย่างเป็นทางการและหนักแน่นว่า จีนได้บรรลุเป้าหมายการต่อสู้รอบ 100 ปีประการแรก คือ ประสบความสำเร็จในการสร้าง “สังคมมีกินมีใช้” อย่างรอบด้าน ทั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของประชาชาติจีน ประชาชนจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน
พรรคคอมมิวนิสต์จีนเสนอเป้าหมายการต่อสู้ “รอบ 100 ปี สองประการ” ขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2540 ในรายงานของการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 15 ซึ่งระบุว่าถึงวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ( ปี 2464-2564) เศรษฐกิจประชาชาติจีนจะได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น
ระบบในด้านต่าง ๆ มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น และเมื่อถึงวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งประเทศจีนใหม่ ( ปี 2492-2592) จีนจะบรรลุความทันสมัยในภาพรวม โดยได้รับการพัฒนาเป็นประเทศสังคมนิยมที่มั่งคั่ง แข็งแกร่ง เป็นประชาธิปไตยและมีอารยธรรม
หลังจากนั้น การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 16 ต่อถึงครั้งที่ 17 และโดยเฉพาะครั้งที่ 18 ก็ได้กล่าวเน้นและออกแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว หลังจากนั้นเป็นต้นมา คำว่า “รอบ 100 ปี 2 ประการ” ได้กลายเป็นคำสำคัญ ที่เป็นเป้าหมายการต่อสู้ร่วมกันของชาวจีนมาโดยตลอด
ในปี 2560 การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 19 ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน กล่าวคือ ในปี 2564 จีนจะบรรลุเป้าหมายรอบร้อยปีประการแรก แห่งการสร้างสังคมมีกินมีใช้อย่างรอบด้าน จากนั้นดำเนินการต่อสู้ถึงปี 2578 พัฒนาจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยในขั้นพื้นฐาน
ต่อจากนั้นดำเนินการต่อสู้อีก 15 ปี คือถึงกลางศตวรรษที่ 21 บรรลุเป้าหมายการต่อสู้รอบร้อยปีประการที่ 2 เพื่อพัฒนาจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย มั่งคั่ง แข็งแกร่ง กลมกลืน สวยงาม เป็นประชาธิปไตยและมีอารยธรรม
เป็นอันว่า บัดนี้จีนได้บรรลุเป้าหมายรอบร้อยปีประการแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทว่า มาตรฐานของการสร้างสังคมมีกินมีใช้อย่างรอบด้านนั้นมีอะไรบ้าง ?
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนได้อ้างอิงระบบดัชนีชี้วัดตามหลักสากล พร้อมกับพิจารณาถึงเงื่อนไขของประเทศ กำหนดเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานของการสร้างสังคมมีกินมีใช้อย่างรอบด้าน ซึ่งที่ประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 16 เคยเสนอมาตรฐานขั้นพื้นฐานของการสร้างสังคมมีกินมีใช้อย่างรอบด้านของจีนจาก 10 ด้านดังต่อไปนี้
1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เฉลี่ยต่อคนมีมากกว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 96,210 บาท ) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์พื้นฐานของการบรรลุเป้าหมายการสร้างสังคมมีกินมีใช้อย่างรอบด้าน
2. รายได้ของชาวเมืองเฉลี่ยต่อคนต่อปีไม่น้อยกว่า 18,000 หยวน ( ราว 89,252.96 บาท )
3. รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อหัวต่อปีของครัวเรือนในชนบทของจีนมีไม่น้อยกว่า 8,000 หยวน ( ราว 39,667.98 บาท )
4. ค่าสัมประสิทธิ์เองเกล (Engel’s Coefficient) ต่ำกว่า 40%
5. เนื้อที่ก่อสร้างบ้านอยู่อาศัยของชาวเมืองเฉลี่ยต่อคนไม่น้อยกว่า 30 ตารางเมตร
6. อัตราความเป็นเมืองไม่น้อยกว่า 50%
7. อัตราการใช้คอมพิวเตอร์ของครัวเรือนไม่น้อยกว่า 20%
8. อัตราการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของเด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายไม่น้อยกว่า 20%
9. มีแพทย์เฉลี่ย 2.8 คน ต่อประชากร 1,000 คน
10. อัตราการมีหลักประกันด้านการดำรงชีวิตตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดของชาวเมืองมากกว่า 95%
ในหลายปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของจีนในด้านต่าง ๆ “สังคมมีกินมีใช้” ในปัจจุบันของจีนได้รับยกระดับสูงขึ้นกว่ามาตรฐานขั้นพื้นฐานดังกล่าวเป็นอย่างมาก
จีนเชื่อมั่นว่า บนพื้นฐานการสร้างปาฏิหาริย์มากมายในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเป็นเวลานาน รักษาความมั่นคงภายในประเทศเป็นเวลานาน ขจัดความยากจนสุดขีดอย่างสมบูรณ์ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถครองอัตราการสนับสนุนจากประชาชนสูงถึงกว่าร้อยละ 90 เป็นต้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนย่อมจะนำพาประเทศและประชาชน บรรลุเป้าหมายรอบ 100 ปีประการที่สองได้ตามกำหนดเวลาอย่างแน่นอน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
( ขอขอบคุณ คุณ Lu Yongjiang สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน )