…นี่เป็นบางส่วนจากอีกหนึ่งความเคลื่อนไหว “ระบบหลักประกันดูแลสุขภาพคนไทย” ที่ทางรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เผยกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็นับว่าน่าติดตาม-น่าสนใจ…

เรื่อง “ระบบเทคโนโลยีดูแลสุขภาพ”

โดยเฉพาะกับ “ผู้ที่ติดบ้าน-ติดเตียง”

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ร่วมคณะที่นำโดย ทพ.อรรถพร และ นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่เยี่ยมชมการใช้เทคโนโลยีระบบ “สมาร์ท เซฟตี้ (Smart Safety)” และ“สมาร์ท เฮลท์ (Smart Health)” เพื่อการ “ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ติดบ้านและติดเตียง” เพื่อจะ “ป้องกัน-แก้ไขเหตุฉุกเฉิน” ที่เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ซึ่งดำเนินการได้เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จอย่างดี โดยมี ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข และคณะ ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องนี้ในพื้นที่ ที่เริ่มจากมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล สำรวจปัญหา โดยพบว่ามีประชาชนในพื้นที่นี้ที่ จากเดิม “ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” แล้ว “กลายเป็นผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง” ค่อนข้างมาก จึงนำสู่การหาวิธีแก้ไข ลดปัญหา ซึ่งได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยดูแลมากขึ้น โดยมีการพยายามให้ประชาชนสามารถที่จะดูแลตัวเอง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยง ช่วยให้การเจ็บป่วยที่ใช้งบประมาณในการรักษาสูงเกิดขึ้นช้าลง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ในพื้นที่นี้ จิดาภา จุฑาภูวดล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการเทศบาลเมืองแสนสุข ให้ข้อมูลว่า… ทางเทศบาลฯ มีการ ใช้ระบบ Smart Health ให้บริการสุขภาพในชุมชน โดยนำอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่าน บลูทูธ (Bluetooth) บันทึกข้อมูลสุขภาพลงบนแพลตฟอร์มได้ เรียลไทม์ (Real Time) ช่วยลดขั้นตอนในการเก็บข้อมูลให้เป็นไปได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงมีการบันทึกข้อมูลขึ้นระบบ คลาวด์ (Cloud) เพื่อที่จะใช้ให้บริการต่อเนื่องที่โรงพยาบาลได้ รวมไปถึงยังใช้เพื่อการวางแผนจัดบริการแก้ปัญหาที่พบ นำมาวิเคราะห์ว่าต้องมีการเพิ่มเติมในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยอย่างไรต่อไป

ทางด้านนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุขก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้อีก ซึ่งโดยสรุปมีว่า… พื้นที่นี้ในปี 2554 มีการพัฒนาการดูแลลดความเสี่ยงสุขภาพผู้สูงอายุโดยใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่คล้าย รีโมต ต่อมาเมื่อพบว่าติดข้อจำกัดเรื่องระยะสัญญาณจึงมีการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ได้มีการใช้ระบบ จีพีเอส (GPS) โดย ใช้อุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ หรือคล้องคอ ขยายระยะสัญญาณด้วยการใส่ซิมการ์ด ที่สัญญาณไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบ้านของผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งอุปกรณ์จะ จับการเคลื่อนไหว หากมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุหมดสติโดยไม่รู้ตัว อุปกรณ์จะส่งสัญญาณแจ้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของเทศบาลเมืองแสนสุข โดยจะขึ้นพิกัดของเป้าหมายและจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปนำตัวส่งโรงพยาบาลได้รวดเร็ว และต่อไปเทศบาลฯ จะมีการทำระบบ “การแพทย์ทางไกล (Telemedicine)” ซึ่งหากมีการเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่พยาบาล Care Giver (CG) ที่เป็นผู้ดูแลผู้ติดบ้านติดเตียง รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แล้วมีประเด็นปัญหาอาการ เจ้าหน้าที่ก็สามารถโทรฯ ปรึกษาแพทย์ผ่านระบบนี้ได้ว่าอาการนั้น ๆ จำเป็นต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นการดูแลได้อีกระดับ ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยหนักของกลุ่มเป้าหมาย 

“เหล่านี้เป็นการจัดระบบการป้องกัน โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณร่วมสมทบกับเทศบาลในการจัดตั้งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งก็จะมีการให้ข้อมูลแก่พื้นที่อื่น อาจขยายนำไปใช้ในพื้นที่อื่นเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน” …เป็นหลักใหญ่ใจความอีกส่วนที่ทางนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุขได้ให้ข้อมูลไว้

ส่วนทาง สปสช. ที่เป็นองค์กรแกนหลักที่ดูแลด้านหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ทพ.อรรถพร ก็ยังได้ให้ข้อมูลการดำเนินการเรื่องนี้ของเทศบาลดังกล่าวไว้ว่า… ปัจจุบันพื้นที่นี้มีการปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่รองรับ 2 เรื่องคือ เพื่อ ช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่บ้าน ที่จะมีเจ้าหน้าที่ไปช่วยนำส่งโรงพยาบาลภายในประมาณ 6 นาที และการบันทึกข้อมูลสุขภาพเบื้องต้นของประชาชน เช่น ค่าน้ำตาล ความดันฯ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ฯลฯ ซึ่งในอนาคตสามารถใช้ต่อยอด ช่วยเหลือด้านข้อมูลเพื่อการรักษาพยาบาล ได้ โดยแพทย์ที่จะทำการรักษาก็สามารถตรวจดูข้อมูลย้อนหลังได้

ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแสนสุขได้นำจิ๊กซอว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องระเบียบ ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ การสนับสนุนอุปกรณ์ เข้ามาบูรณาการร่วมกัน ซึ่งก็ได้ทำสำเร็จแล้ว หากท้องถิ่นอื่น ๆ จะนำระบบนี้ไปใช้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในพื้นที่ก็สามารถไปดูการดำเนินงานของเทศบาลนี้ได้ และหากต้องการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือ กปท. สนับสนุน ก็ติดต่อได้… “งบ กปท. มีวัตถุประสงค์ในการใช้ในเรื่อง สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยมีปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง นี่อาจไม่ใช่งบทั้งหมดที่ใช้ แต่ก็เป็นงบเสริมเพื่อทำให้การทำงานบางอย่างคล่องตัวมากขึ้น ถ้าใช้งบได้ตามวัตถุประสงค์ก็จะเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นให้เกิดการจัดบริการในพื้นที่ได้สะดวกขึ้น” …ทพ.อรรถพร ระบุ

ก็น่าสนใจ-น่าติดตามดู“ดิจิทัลเฮลท์”

โดยเฉพาะ…“ดูแลผู้ติดบ้าน-ติดเตียง”

“ขยายสู่ทุก ๆ ท้องถิ่นได้…ย่อมจะดี”.