ในภาพมุมหนึ่งแสดงเรื่องราวการผลิตเครื่องสังคโลก โดยช่างปั้นโบราณของไทย ส่วนกลางภาพเป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างด้านซ้ายและด้านขวาแสดงภาพเรือสำเภาสินค้าเดินทางไปมาระหว่างประเทศ และอีกด้านหนึ่งแสดงภาพการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของเมืองอาริตะ ประเทศญี่ปุ่น… เป็นหนึ่งในงานเซรามิกที่จัดแสดง เล่าประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดเรื่องราวการค้า เล่าความงามในงานหัตถศิลป์ภูมิปัญญาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

เช่นเดียวกับ เด็กชายจับปลาดุกด้วยนํ้าเต้า ชิ้นงานที่แฝงด้วยปรัชญา ตกแต่งด้วยการเขียนสีบนเคลือบ พุทธศักราช 2213-2252 ขวดทรงแปรงตีชา เขียนลายบนเคลือบเป็นลายดอกโบตั๋น พุทธศักราช 2193-2203 ฯลฯ ส่วนหนึ่งจากโบราณวัตถุเครื่องปั้นดินเผาอาริตะชิ้นสำคัญ จากพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ที่แสดงร่วมกับโบราณวัตถุของไทย อาทิ ชุดชามเบญจรงค์ พุทธศตวรรษที่ 24 กระปุกสังคโลกสองหู พุทธศตวรรษที่ 19-21 จากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ฯลฯ ในนิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย : สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

“เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย” นิทรรศการพิเศษฯ จัดแสดงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2565 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมงานหัตถกรรมไทยจากวิถีพาณิชยวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ระดับประเทศและสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเซรามิก งานครื่องปั้นดินเผา

ทั้งเป็นการฉลองวาระครบรอบ 134 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดยนิทรรศการฯนำโบราณวัตถุเครื่องเคลือบเซรามิกจากพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น และเครื่องปั้นดินเผาของไทยจากหลากหลายแหล่งจัดแสดง พา ร่วมเรียนรู้ เข้าใจด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ

จากเครื่องปั้นดินเผาที่จัดแสดง รักชนก โคจรานนท์ รองอธิบดีกรมศิลปากร และ วุฒินันท์ จินศิริวานิชย์ มัณฑนากรชำนัญพิเศษ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ให้รายละเอียดพาย้อนประวัติศาสตร์วิวัฒนาการเซรามิกไทยและญี่ปุ่น สายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลกว่า กรมศิลปากรมีความร่วมมือกับจังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น โดยพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู เป็นหน่วยงานในสังกัดจังหวัดซากะ จากการแลกเปลี่ยนความรู้ สัมมนางานด้านเซรามิกร่วมกัน จึงมีความสนใจนำโบราณวัตถุเครื่องเคลือบดินเผาสำคัญจากจุดกำเนิดที่เมืองอาริตะ นำมาจัดแสดงร่วมกับเครื่องปั้นดินเผาของไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปะของทั้งสองประเทศ

สิ่งเหล่านี้เป็นบันทึกสำคัญ ที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวความรู้อีกหลากหลายแง่มุม โดยศึกษาผ่านงานเซรามิก ซึ่งนิทรรศการฯ ครั้งนี้ได้นำโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ๆ เมืองอาริตะจัดแสดง เรียนรู้ร่วมกัน คัดเลือกนำผลงานชิ้นสำคัญ ๆ เลือกชิ้นที่สัมพันธ์กับสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ฯ เรามี เพื่อแสดงถึงความเชื่อมโยงกัน

นอกจากเซรามิกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครจัดเก็บ ยังมีงานเครื่องปั้นดินเผาไทยจากแหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย โบราณวัตถุจากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช และจากโรงเรียนถนอมบุตรให้ยืมมาจัดแสดง”

รองอธิบดี รักชนก และ วุฒินันท์ มัณฑนากรชำนัญพิเศษ อธิบายเพิ่มอีกว่า ในความสำคัญของเซรามิก จัดแสดง ไทม์ไลน์ เพื่อให้ผู้เข้าชมเรียนรู้ประวัติ เห็นถึงพัฒนาการของเครื่องถ้วยซึ่งมีประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น มีมายาวนาน มีความงามและมีลักษณะพิเศษ

จากไทม์ไลน์ให้เห็นแต่ละช่วงเวลา โดยช่วงเวลาที่มีความสำคัญ ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่เราและญี่ปุ่นเกี่ยวเนื่องกันเป็นช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยเอโดะ และรัตนโกสินทร์ ช่วงเวลานี้มีเรื่องราวของเครื่องถ้วยปรากฏอยู่ของทั้งสองประเทศ เครื่องถ้วยของไทยคือ สังคโลก ซึ่งไปปรากฏอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และเครื่องถ้วยญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่ที่ไทย สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนกันทั้งทางด้านการค้าขาย วัฒนธรรรม รวมถึงประวัติศาสตร์

เครื่องถ้วยญี่ปุ่นพบในหลายสถานที่อย่างเช่นที่ ลพบุรี อยุธยา ทั้งยังพบจมอยู่ในแม่นํ้า อย่างที่จังหวัดนครศรีธรรมราชก็พบอยู่มาก หรือแม้แต่เครื่องถ้วยที่ประดับเจดีย์มีทั้งเครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยญี่ปุ่น ฯลฯ การจัดแสดงผ่านหัวเรื่องต่าง ๆ ในนิทรรศการฯ จะพาย้อนกลับไปในช่วงตอนนั้น ๆ เล่าผ่านโบราณวัตถุ สิ่งที่จัดแสดง

“เซรามิก จะเห็นได้ว่าไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ภาชนะ แต่เป็นบรรจุภัณฑ์บรรจุสินค้านำไปขาย ใส่นํ้าผึ้ง เครื่องเทศ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็เป็นสินค้าส่งนำไปขาย ทั้งนี้จากหลักฐานโบราณคดี พบไหจำนวนมากในแหล่งเรือจม เป็นไหแม่นํ้าน้อย ไหทางสุโขทัย ฯลฯ หรือแม้แต่ที่เมืองซาไก เมืองประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบไหแม่นํ้าน้อยเช่นกัน เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นการส่งออก การค้าขายของไทยผ่านเซรามิกที่ทำหน้าที่เป็นบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น”

มัณฑนากรชำนัญพิเศษ วุฒินันท์ ขยายความเพิ่มอีกว่า ในนิทรรศการฯมีความตั้งใจให้ผู้ชม เห็นมิติที่หลากหลายของเซรามิก จากที่กล่าวเซรามิกไม่ใช่เพียงแค่ภาชนะ แต่ยังเป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งเช่นเดียวกับเอกสารโบราณ เซรามิกเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าผ่านงานศิลปหัตถกรรมที่มีวิวัฒนาการ ทั้งในเรื่องของวัสดุ เทคโนโลยี บันทึกการค้า หรือแม้กระทั่งเรื่องการแลกเปลี่ยนที่แสดงผ่านสิ่งที่บรรจุอยู่ด้านใน ฯลฯ เซรามิกสามารถบอกเล่าได้หลายแง่มุม

“ใต้จาน ใต้ถ้วยเซรามิกมีชื่อ สัญลักษณ์ บอกถึงผู้ผลิต ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้นำมาแสดงให้ชม ทำให้ทราบยุคสมัย บอกอายุของวัตถุชิ้นนั้น ๆ ได้ ฯลฯ ทั้งเชื่อมโยงบอกเล่าความสัมพันธ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ให้สืบค้นต่อเนื่องต่อไปได้เรื่อย ๆ อีกทั้งถ้าศึกษาจากเนื้อดิน สีเคลือบ ลวดลาย ฯลฯ ยังเป็นตัวชี้ทาง เล่าประวัติศาสตร์ เล่าถึงวิธีการผลิต เล่าศิลปวัฒนธรรม ส่งต่อการศึกษา การค้นคว้าต่อเนื่องต่อไปอีก โดยมีต้นทางศึกษาได้จากเซรามิก”

อีกทั้งแสดงถึงการประสานความร่วมมือ ความสัมพันธ์ โดยมีเซรามิกของสองประเทศเชื่อมสานกัน มีส่วนแสดงทางด้านการค้าซึ่งแสดงเป็นห้องใหญ่ แสดงผ่านภาพจิตรกรรม เรือสำเภา โบราณวัตถุ ภาชนะจากแหล่งเรือจม ฯลฯ ขณะเดียวกันมีมิติประวัติศาสตร์
ในด้านการผลิต จัดแสดงเตาเซรามิกทั้งสองรูปแบบ บอกเล่าถึงจุดที่มีความเชื่อมโยงกัน และเทคนิควิธีการสร้างสรรค์ โดยทางประเทศญี่ปุ่นกล่าวถึงเซรามิกที่อาริตะ ส่วนของไทยนำภูมิปัญญาเซรามิกที่เชื่อมโยงสอดคล้องกันจัดแสดงทั้ง จำลองเตาเซรามิก เพื่อแสดงให้เห็นภาพชัดขึ้นเป็นวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีการผลิต

“เตาที่แสดงมีหลักการเหมือนกัน คือการนำพาความร้อนไปในแนวเฉียง ความร้อนจากส่วนหน้าซึ่งมีไม้ฟืนจะให้ความร้อน เผาเนื้อดินและนำพาควันไฟออกไปด้านหลัง แต่วิธีการเผา ขนาดพื้นที่และการใช้วัสดุให้ความร้อนไม่เหมือนกัน ทั้งมีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างเช่น การขึ้นรูป การวางชิ้นงานก่อนนำไปเผา ฯลฯ อีกทั้งมีแอนิเมชั่นเล่าเรื่องกระบวนการผลิตของไทยและญี่ปุ่น ฉายเพิ่มความเข้าใจ”

จากที่กล่าวเซรามิกเล่าเรื่องได้หลากหลายมิติ นอกจากการนำผลงานมาสเตอร์พีซจัดแสดงในมิติการผลิตก็มีความน่าสนใจ จำลองสถานีการผลิต ซึ่งสืบทอดวิธีการ กระบวนการแบบดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่นนำมาแสดง เห็นถึงมิติการสืบสานการรักษาศิลปหัตถกรรมที่ยังคงสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ขาดช่วงและการพัฒนาสร้างสรรค์ ต่อยอดต่อ

ในส่วนของประเทศไทยนำงานเซรามิกที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง แสดงเครื่องสังคโลกจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เตาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงแหล่งผลิตของไทยซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อย รวมบอกเล่าเป็นอีกคำตอบที่เล่าถึงการเดินทางของเซรามิก

บอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านความงามของงานศิลปะเซรามิกสายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ