เรื่องอื้อฉาวแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวการกราดยิงของนายตำรวจคนหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ “พล.จ. เจ” ซึ่งต่อมาพบว่าเขาเสียชีวิตอยู่ในบ้านพักของ นายเฟอร์ดี แซมโบ จเรตำรวจผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย โดย พล.จ. เจ เป็นทั้งคนคุ้มกันและคนขับรถของแซมโบ ซึ่งในตอนแรกดูเหมือนว่าเขาจะเสียชีวิตจากการถูกยิงโดยไม่ได้เจตนา ก่อนที่คดีจะอยู่ในความสนใจของคนทั้งประเทศ

นอกเหนือจากคดีของ พล.จ. เจ แล้ว ยังมีเหตุการณ์ที่ชาวอินโดนีเซีย 135 คน เหยียบกันตายในการแข่งขันฟุตบอลที่สนามกีฬากันจูรูฮัน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับคดี พล.จ. เจ เจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 97 นาย จากสาขาต่าง ๆ ถูกสอบสวนถึงความเป็นไปได้ในการช่วยปกปิดคดี โดยมีตำรวจบางนายถูกย้าย หรือถูกปลดออก ขณะที่ แซมโบ ถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างไม่สมศักดิ์ศรีเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สำหรับการมีส่วนในเรื่องอื้อฉาวที่คนจำนวนมากมองว่า มันคือคดีการทุจริตของตำรวจครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

ในส่วนของโศกนาฏกรรมที่สนามกีฬากันจูรูฮัน ซึ่งมีการบันทึกภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทำร้ายร่างกายผู้ชมที่วิ่งเข้าไปในสนามด้วยการเตะ และทุบตีพวกเขาด้วยกระบอง ก่อนที่จะยิงแก๊สน้ำตาใส่ นายอัสแมน ฮามิด หัวหน้ากลุ่มสิทธิมนุษยชน “แอมเนสตี อินโดนีเซีย” กล่าวว่า สิ่งนี้แทบจะไม่ใช่เหตุการณ์เฉพาะ และการรับผิดชอบของตำรวจยังคงเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียกว่า 500 นาย จากทั่วประเทศ มาที่ทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีการรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยสั่งห้ามไม่ให้พวกเขาพกพาโทรศัพท์มือถือ, ผู้ช่วย, และของประจำตัวตำรวจ รวมถึงแส้

อนึ่ง ตำรวจอินโดนีเซียมีชื่อเสียงในเรื่องการทุจริตและความโหดร้ายมายาวนาน และกำลังอยู่ในระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิรูปสถาบันที่ชี้นำด้วยตนเอง” นับตั้งแต่การล่มสลายของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต เมื่อปี 2541

ภายใต้การปกครองของซูฮาร์โต ตำรวจอินโดนีเซียเป็นที่รู้จักในเรื่องระบบพวกพ้องและการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนล่าสุดพยายามแก้ไขด้วยความสำเร็จที่หลากหลายและการสร้างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำให้มีความรับผิดชอบและความโปร่งใสมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อบ่งชี้ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือข้อเท็จจริงที่ว่า ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ได้แต่งตั้งอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในช่วง 2 วาระที่เขาดำรงตำแหน่ง

“วิโดโด ไม่เต็มใจที่จะปราบปราม เพราะเขาสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเหล่านี้กับผู้นำระดับสูง เพื่อชดเชยการขาดความสัมพันธ์กับกองทัพของเขา” นางจูดิธ จาค็อบ หัวหน้าบริษัทความเสี่ยงและข่าวกรองแห่งเอเชีย “ทอร์ชไลต์” กล่าว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES