เปลี่ยนผ่านฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวกันแล้วนับแต่ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่อุณหภูมิลดลง มีความหนาวเย็นแทนที่ความชุ่มเย็นจากฝน ช่วงรอยต่อฤดูกาลปลายฝนต้นหนาว การดูแลสุขภาพ เสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายมีเรื่องน่ารู้หลายมิติ…

ช่วงฤดูหนาวปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมมักมีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพ สร้างเสริมเกราะป้องกัน ห่างไกลจากการเจ็บป่วย การกินอาหาร เป็นอีกส่วนสำคัญ ทั้งนี้ ชวนตามรอยรสอาหารเป็นยา รสเปรี้ยว รสขม และรสเผ็ดร้อน จากพืชผักสมุนไพรใกล้ตัว ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล นำมาปรุงอาหาร นำมาปรับสร้างสมดุลร่างกาย ดูแลสุขภาพเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย โดย อาจารย์บุษราภรณ์ ธนสีลังกูร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ ให้แนวทางการดูแลสุขภาพว่า

รอยต่อของฤดูกาลมีผลต่อสุขภาพมาก ทั้งนี้ จากธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ทำงานพึ่งพาอาศัยกัน มีความสมดุล แต่เมื่อถึงช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นช่วงร้อนไปฝน ฝนไปหนาว หรือหนาวไปร้อน ช่วงรอยต่อจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะกระทบกับความสมดุลของธาตุ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย

“ช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงรอยต่อมักจะเกิดการเจ็บป่วยได้ค่อนข้างมากและง่าย  เนื่องจากฤดูฝนและฤดูหนาวเป็นเรื่องของความเย็น เมื่อความเย็นทับความเย็น ไม่ว่าจะเย็นชื้นหรือเย็นแห้ง เมื่อผสมปนกัน ร่างกายก็ยากจะปรับตัว ความเย็นกำเริบ อาการที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายในรอยต่อของฤดูกาลระหว่างฤดูฝนเปลี่ยนสู่ฤดูหนาว จะเป็นเรื่องของความเย็นที่จะมากระทำโทษกับร่างกาย เมื่ออากาศเย็นลง ร่างกายต้องปรับตัว โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำในร่างกายจะเสียสมดุล”

การดูแลตนเอง สร้างสมดุลร่างกาย สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ อาจารย์บุษราภรณ์ อธิบายเพิ่มว่า การสร้างเสริมภูมิป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น ควรเน้นบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของพืชผักสมุนไพร รสเปรี้ยวขม และเผ็ดร้อน

อาจารย์บุษรา ภรณ์ ธนสีลังกูร

“รสเปรี้ยว ทางการแพทย์แผนไทยจะแก้ในเรื่องเสมหะ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะทำให้ชุ่มคอเพิ่มเสริมภูมิต้านทาน ฯลฯ พืชผักพื้นบ้านรสเปรี้ยวกลุ่มนี้ค่อนข้างมีมาก ไม่ว่าจะเป็น มะนาว มะขาม ผักติ้ว ใบชะมวง หรือเป็นกลุ่มของสมอ มะขามป้อม ฯลฯ โดยถ้านำมาปรุงอาหาร สร้างสรรค์ได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น แกง หรือเมนูยำต่าง ๆ ฯลฯ และนอกจากอาหาร ยังนำมาทำเป็น เครื่องดื่ม โดยรสเปรี้ยวให้ความสดชื่นอย่างเช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะนาว หรืออัญชันมะนาว ฯลฯ ทั้งนี้ การกินรสเปรี้ยวควรให้มีความเหมาะสม กินอยู่ให้เป็นธรรมชาติ”

รสขม ทางการแพทย์แผนไทยจะช่วยเรื่องแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย ต้านการอักเสบ ทั้งช่วยบำรุงน้ำดี ช่วยให้เจริญอาหาร ฯลฯ ถ้ามองที่ผักพื้นบ้าน ผักสวนครัวที่คุ้นเคยเป็นที่รู้จักกันดีเช่น ดอกแค มะระขี้นก มะระไทย สะเดา ขี้เหล็ก มะเขือพวง บัวบก ฯลฯ ผักต่าง ๆ เหล่านี้นำมาปรุงอาหารได้หลายเมนูเช่นกัน อย่างเช่น แกงขี้เหล็ก โดยแกงชนิดนี้ในทางการแพทย์แผนไทย ครบด้วยโครงสร้างยาไทย

แกงส้มดอกแค

“ขี้เหล็ก มีรสขมทำให้เจริญอาหาร กินข้าวได้ ช่วยผ่อนคลาย ช่วยทำให้นอนหลับ อีกทั้งมีไฟเบอร์สูง ช่วยการขับถ่าย ฯลฯ เรียกว่า กินข้าวได้ นอนหลับ ขับถ่ายสะดวก ซึ่งดีต่อสุขภาพ อีกเมนูนิยม สะเดาน้ำปลาหวาน หรือจะเป็น ยำบัวบก แกงอ่อมใส่มะเขือพวง ใส่ผักไห่ หรือ แกงส้มดอกแค ที่มักคุ้นเคยชื่อกันดี

ดอกแค จะช่วยแก้ไข้หัวลม อาการเจ็บป่วยที่มักเกิดขึ้นเมื่อลมหนาวมาเยือน ความเย็นที่เข้ามากระทบ โดยถ้าไม่แข็งแรง หรือร่างกายปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีจะทำให้เจ็บป่วยง่าย ดอกแคเป็นพืชผักที่มีฤทธิ์เย็น ความขมของดอกแคจะช่วยแก้พิษไข้ ลดความร้อน เมื่อนำมาปรุงเป็นแกงส้ม เมื่อทานจะได้ความขมและได้ความเผ็ดร้อนจากเครื่องแกง ฯลฯ ส่วนเครื่องดื่ม ทำได้หลากหลายเมนูอย่างเช่น ชาบัวบก ชาดีบัว เป็นต้น”

อีกหนึ่งรส เผ็ดร้อน ในทางการแพทย์แผนไทย รสเผ็ดร้อนจะช่วยกระจายเลือดลม ทำให้การไหลเวียนเลือดดี สมบูรณ์ จากที่รู้สึกตื้อ ๆ มึน ๆ หัวไม่โล่ง ไม่สดชื่น รสเผ็ดร้อนช่วยได้ ทั้งช่วยเสริมภูมิต้านทาน ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น ในรสดังกล่าวพืชผักสวนครัว ผักพื้นบ้านมีหลายชนิด ที่ทราบกันดีมี ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา กระชาย แมงลัก พริกขี้หนู พริกไทย ฯลฯ และรสเผ็ดร้อนยังมีกลิ่นหอมเย็นเป็นอีกจุดเด่น

“รสเผ็ดร้อน มองในมุมอาหาร นำมาสร้างสรรค์ได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ แกงเลียง ปรุงเป็นเมนูยำ ส้มตำ ต้มโคล้ง ก็ได้ ยิ่งช่วงนี้การกิน รสเผ็ดร้อนจะช่วยขับเหงื่อ ขับพิษในร่างกาย อย่างเช่น ถ้ารู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวไม่สบาย แนะนำเมนูต้มยำรสแซ่บ ๆ ใส่ตะไคร้ หอมแดงให้เยอะหน่อย จะช่วยขับเหงื่อ ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ในส่วนเครื่องดื่ม น้ำสมุนไพรรสเผ็ดร้อนก็มีไม่น้อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นชา ไม่ว่าจะเป็น ชาตะไคร้ ชาใบกะเพรา น้ำขิง ฯลฯ ก็เหมาะในช่วงนี้”

มะระขี้นก

อาจารย์บุษราภรณ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ขิง เป็นหนึ่งในพืชที่มีคุณสมบัติเด่น เหมาะที่จะนำมาดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาว น้ำขิง เหมาะที่จะกินช่วงฤดูหนาว โดยช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม แก้คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ วิธีการปรุงทำได้หลายรูปแบบ
เป็นเครื่องดื่มร้อน ชาขิง โดยใช้ขิงแก่ทุบ หรือหั่นเป็นแว่น ใส่ในน้ำเดือดไม่เกินสิบนาที ถ้านานไปกว่านี้ น้ำมันหอมระเหยจะออกไปหมด จะไม่หอม ส่วนถ้าทำ น้ำขิงเย็น อาจเติมน้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อยไม่มาก เน้นความเป็นธรรมชาติให้ได้มากที่สุด จะช่วยรักษาดูแลสุขภาพ เพิ่มความสมดุล ช่วงฤดูหนาว ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น”

การดูแลสุขภาพ หรือใช้ยาไทย หากมีหลักการใช้ที่ถูกต้องมีความเข้าใจ ประโยชน์ที่จะได้รับมีอยู่มาก ทั้งนี้ การกินอย่างถูกต้องเหมาะสมกับธรรมชาติภายในและภายนอกตัวเราจะปรับสร้างสมดุล เช่นเดียวกับการกินรสขม เปรี้ยว เผ็ดร้อน ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานร่างกายแข็งแรง

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ อาจารย์บุษราภรณ์ ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า แม้จะเข้าสู่ฤดูหนาว แต่บางพื้นที่ยังคงมีฝนตก มีน้ำท่วมขัง โดยถ้าต้องอยู่กับน้ำ ลุยน้ำอาจทำให้น้ำกัดเท้า พืชผักสมุนไพรที่ให้รสฝาด สามารถช่วยสมานแผล นำมาดูแลสุขภาพได้ อย่างเช่น เปลือกมังคุด เปลือกทับทิม ขมิ้นชัน ฯลฯ นำมาช่วยได้ โดยเฉพาะขมิ้นชันจะมีน้ำมันที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ช่วยการสมานแผล ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพตนเองให้มีภูมิต้านทานแข็งแรงอยู่เสมอมีความสำคัญ โดยถ้าสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด ๆ จะห่างไกลจากการเจ็บป่วย 

การดูแลสุขภาพให้มีความแข็งแรง รักษาสมดุลใช้ หลักธรรมานามัย โดยนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ อาจารย์บุษรา
ภรณ์ ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า หลักธรรมานามัย คือ การดูแลกายานามัย จิตตานามัย ชีวิตานามัย โดย กายานามัย คือการดูแลร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และกินอาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ โดยเฉพาะพืชผักสมุนไพรตามฤดูกาล

แกงขี้เหล็ก

ขณะที่ จิตตานามัย คือการดูแลสุขภาพจิตของเราด้วยจิตตภาวนา และ ชีวิตานามัย คือ การดูแลชีวิตให้ถูกหลักอนามัย ปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้มีความเหมาะสม ไม่เครียด ปรับเปลี่ยนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงการเพิ่มภูมิต้านทานให้แข็งแรงอยู่เสมอ ฯลฯ

นอกจากนี้ ด้วยที่ประเทศไทยเรามีพืชผักหลากหลายชนิด แต่ละท้องถิ่นภูมิภาคมีผักพื้นบ้าน พืชผักที่สามารถตอบโจทย์สุขภาพได้ดี อย่างช่วงรอยต่อฤดูหนาว พืชผักสมุนไพรที่ให้รสเปรี้ยวมีหลายชนิด หรือแม้แต่ฤดูฝน พืชผักที่ให้รสเผ็ดร้อนหลายชนิดก็งอกงาม โดยถ้าเลือกนำมาปรุงอาหารก็จะสอดคล้องตอบรับกับรสยาไทย

ขณะเดียวกัน ถ้ารู้หลัก รู้วิธีการกินอาหาร นำพืชผักสร้างเสริมสุขภาพ สร้างความแข็งแรงก็เป็นเรื่องที่ดี นำมาปรับสร้างสมดุลร่างกาย เป็นอีกส่วนหนึ่งดูแลสุขภาพ…

เสริมสร้างความแข็งแรงตลอดช่วงฤดูหนาวที่กำลังเริ่มขึ้น. 

พงษ์พรรณ บุญเลิศ