ข้อมูลจากการรวบรวมของกลุ่มเอ็นจีโอ บีเอชอาร์อาร์ซี (TheBusiness & Human Rights Resource Centre : BHRRC) แห่งกรุงลอนดอน แสดงให้เห็นว่า มีการกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบริษัทต่าง ๆ ของจีน ที่ประกอบการอยู่ต่างประเทศรวม 679รายการ ในระยะ 8 ปี ระหว่างปี 2556 – 2563

ธุรกิจที่เกี่ยวกับโลหะและเหมืองแร่ ถูกกล่าวหามากที่สุด 236 รายการ หรือ 35% ของทั้งหมด โดยเปรู ประเทศทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเมียนมา เพื่อนบ้านทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีการกล่าวหามากที่สุด

เปรูเป็นประเทศผู้ผลิตแร่ทองแดงรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากชิลี ส่วนเมียนมาเป็นผู้จัดส่งรายใหญ่แร่ดีบุก และแร่ธาตุหายากหลายชนิดให้จีน

จีนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคโลหะมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ไม่มีทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ รัฐบาลปักกิ่งจึงกระตุ้นให้กลุ่มธุรกิจจีนออกไปลงทุนประกอบการโดยตรง หรือซื้อหุ้นกิจการ ในต่างแดน

จีนยังขยายเครือข่ายพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งของโครงการสาธารณูปโภค ตามแผนเส้นทางสายไหมใหม่ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ตามที่รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นไว้

รายงานของบีเอชอาร์อาร์ซี เขียนว่า มากกว่า 1ใน 3 ของข้อกล่าวหาที่มีต่อบริษัทเหมืองแร่จีนในต่างประเทศ เกี่ยวพันกับความขัดแย้งยาวนาน ระหว่างหลายบริษัทเหมืองแร่จีนข้ามชาติ ที่รัฐบาลปักกิ่งสนับสนุน กับชุมชนท้องถิ่นในลาตินอเมริกา และปาปัวนิวกินี

หลายบริษัทของรัฐบาลจีนเข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่ทองคำ นิกเกิล และโคบอลท์ ในปาปัวนิวกินี ประเทศเกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก

รายงานระบุว่า พบปัญหามากมายในการสอบทานธุรกิจห่วงโซ่อุปทานของบริษัทชาวจีน แม้จะมีความพยายามเชิงรุก (proactiveefforts) ในการแก้ไขจากหอการค้าโลหะ แร่ธาตุผู้นำเข้า/ส่งออกเคมีจีน หรือ ซีซีซีเอ็มซี (ChinaChamber of Commerce of Metals, Minerals and Chemical Importers andExporters : CCCMC)

ซุน ลี่หุย ผู้อำนวยการแผนกการพัฒนาของซีซีซีเอ็มซี เผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่าบริษัทปลายน้ำจำนวนมากของจีน มีนโยบายสิทธิมนุษยชนที่ดี แต่มักจะไม่ใส่ใจกระทำในสิ่งที่จำเป็นที่สุด

บริษัทเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการสอบสวนทางวินัย แต่ละเลยการฝึกอบรม และชี้แนะแนวทางแก่บริษัทต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ

การกล่าวหาบริษัทจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างแดน มากเป็นอันดับ 2 รองจากโลหะและเหมืองแร่ คือการก่อสร้าง 152 รายการ ในจำนวนนี้รวมถึงผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และการหาเลี้ยงชีพของชาวลาว ที่เกิดจากการก่อสร้างทางรถไฟข้ามแดนจีน-ลาว

ภาคเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน ถูกกล่าวหารองลงไป 118 และ 87 รายการตามลำดับ โดยธุรกิจหลังข้อกล่าวหาส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับโครงการสร้าง เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ

และข้อกล่าวหาบริษัทจีนในต่างแดนทั้งหมด อยู่ในเมียนมามากที่สุดรวม 97 รายการ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS