โดยมีการพุ่งเป้าไปที่ “ครอบครัวผู้ป่วย” เกี่ยวกับการต้องดูแลควบคุมผู้ป่วยไม่ให้ออกมาสร้างปัญหาจากการ “อาละวาด!!-คลั่ง!!” ที่ในยุคนี้ในสังคมไทยมีกรณีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของปัญหาคือ “ผลพวงจากพิษสารเสพติด”

“ครอบครัวผู้ก่อปัญหา” ถูกกระแสโฟกัส

มีการเสนอ “นำบทลงโทษมาบังคับใช้!!”

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับกรณี “ดูแลผู้ป่วยทางจิต” นั้น…กรณีนี้มีงานวิชาการที่สะท้อนแง่มุมหนึ่งไว้…ซึ่งก็น่าพิจารณา นั่นคือแง่มุม “ความลำบากของครอบครัว-ญาติ” ที่ต้องเผชิญ…ฉายภาพ “ความทุกข์จากการต้องดูแลผู้ป่วยทางจิต” ซึ่งช่วยให้เห็นอีกมุมหนึ่งของปัญหานี้ โดยงานวิชาการดังกล่าวจัดทำไว้โดย เวทินี สุขมาก, อุไรวรรณ โชครัตน์หิรัญ, เอมหทัย ศรีจันทร์หล้า ซึ่งงานวิชาการ-การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ มีการเผยแพร่ใน เว็บไซต์ www.psychiatry.or.th สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต ผ่าน “มุมครอบครัวของผู้ป่วย”

ทั้งนี้ โดยสังเขปจากที่ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยได้มีการสะท้อนไว้ มีดังนี้คือ… จากสภาวะเศรษฐกิจและสภาพสังคมปัจจุบัน ทำให้เกิดอาการป่วยของประชาชนทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจเพิ่มขึ้น มีผลทำให้ จำนวนผู้ป่วยทางจิตมีเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดการผลักดันนโยบายสาธารณสุขให้มีการเข้าไปดูแลผู้ป่วยทางจิตลงลึกลงไปในระดับชุมชนมากขึ้น เนื่องจากพบปัญหาว่า… ผู้ดูแลเกิดความยากลำบากมากจากการดูแลผู้ป่วยทางจิต ซึ่งปัญหาการป่วยทางจิตนี้ทำให้ในส่วนของญาติ ครอบครัว ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยทางจิต เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยทางจิตที่บ้านหรือในชุมชน…

อีกทั้งไม่ได้เรียนรู้วิธีดูแลผู้ป่วยที่ถูกต้อง

เป็นปัจจัยส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ

ทางผู้จัดทำงานวิชาการเรื่องนี้ได้ให้ข้อมูลวิธีการศึกษาไว้ว่า… ใช้วิธีตั้งคำถามกับ “ญาติ-ผู้ดูแลผู้ป่วย” เพื่อศึกษาถึงแนวทางที่มีการใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตโดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้สอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงที่มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วย โดยเป็นแม่ พี่ ภรรยา ที่มีอายุระหว่าง 35-56 ปี จำนวนทั้งสิ้น 14 คน ซึ่งพบว่า… ผู้ดูแลผู้ป่วยทางจิตต้องเผชิญปัญหาอย่างมากในการปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วย โดย “ลักษณะการเผชิญปัญหาของผู้ต้องดูแลผู้ป่วย” ที่พบ สามารถแบ่งได้ 4 ขั้นด้วยกัน คือ 1.สับสน 2.แสวงหา 3.ปรับตัว 4.หดหู่ โดยมีรายละเอียดของลักษณะในแต่ละขั้นตอน ดังต่อไปนี้…

ขั้นที่ 1 สับสน เป็นการเผชิญปัญหาในระยะแรก ที่ผู้ดูแลผู้ป่วยได้ทราบถึงอาการและสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่เมื่อผู้ดูแลทราบถึงปัญหาแล้ว จะเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ได้แก่ วิตกกังวล เรื่องต่าง ๆ เช่น อาการผู้ป่วย ค่าใช้จ่าย ชีวิตผู้ป่วยและตนเอง, ตกใจ ในเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้น, เชื่อผู้อื่น โดยเฉพาะผู้มาแนะนำวิธีการรักษา, สงสารผู้ป่วย ที่นาน ๆ ไปก็อาจกลายเป็นความเหนื่อยหน่ายหรือเอือมระอาในอาการผู้ป่วย, เกิดความกลัว ทั้งกลัวจะรักษาไม่หาย…

กลัวผู้ป่วยทำร้าย-กลัวไปทำร้ายผู้อื่น!!

ขั้นที่ 2 แสวงหา โดยเมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ ทางผู้ดูแลผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย มักจะพยายามเผชิญปัญหาด้วยการค้นหาว่า…มีวิธีการใดหรือสถานที่ไหนที่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ ซึ่งพฤติกรรมที่ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยมีการสำรวจพบนั้นมักจะเป็นในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย, ปรึกษา ภายในครอบครัว เพื่อหาทางรักษาอาการผู้ป่วย, ทดลอง โดยส่วนใหญ่ครอบครัวจะรักษากันเองก่อน เนื่องจากทำแล้วจะเกิดความสบายใจ เช่น ไปให้พระรดน้ำมนต์, สร้างความหวัง ที่สะท้อนจากพฤติกรรมพยายามหาข้อมูล หรือปรึกษาหารือเรื่องการรักษา ด้วยมีความหวังว่าผู้ป่วยจะหายดี

ขั้นที่ 3 ปรับตัว ซึ่ง การดูแลผู้ป่วยทางจิตเป็นภาระที่หนักมาก เพราะต้องดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งผู้ดูแลหรือญาติต้องมีการปรับตัวอย่างมากหลังจากได้พยายามแสวงหาทางรักษาต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา อาทิ ระวัง เพราะอาการผู้ป่วยทางจิตส่วนใหญ่จะแปรปรวน ทำให้ผู้ดูแลต้องระวังตัวตลอดเวลา จนเกิดความ หวาดระแวง ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้เกิดความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยของผู้ป่วย ผู้ที่ดูแล และผู้อื่นนั้น ก็ทำให้…

การใช้ชีวิตของผู้ดูแลก็จะเปลี่ยนไปมาก

ขั้นที่ 4 หดหู่ หลังจากดูแลผู้ป่วยมาเป็นระยะเวลานานหลายปี ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือญาติก็จะเกิดความอ่อนล้าจากการที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตแทบตลอด 24 ชั่วโมงมายาวนาน และยิ่งถ้าพบว่าไม่มีทางที่จะรักษาอาการป่วยให้หายขาดได้ ผู้ดูแลจะรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ หมดแรง สิ้นหวัง จนอาจส่งผลให้เกิดการ “ปล่อยปละละเลยการดูแลผู้ป่วยทางจิต!!”…

…เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปจากผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการกรณีนี้…กรณี “ดูแลผู้ป่วยทางจิต” ไม่ว่าเหตุปัจจัยการป่วยนั้นจะเพราอะไร …ซึ่งก็ “ฉายภาพ” ทั้งในมุม “ทุกข์คนในครอบครัว” และ “ทุกข์สังคมที่อาจเผชิญภัยคลั่ง”

ก็ “น่าเห็นใจครอบครัว” ที่ “ภาระหนัก”

ขณะที่ “คลั่งอาละวาด” ก็ “น่ากังวลใจ”

“นโยบายรัฐ” กรณีนี้…ก็ “สำคัญมาก!!”.