“เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติด้านลบต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ทำให้ไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นเหตุให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรงขึ้น จนก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น สมควรมีกฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต เพื่อกำหนดกระบวนการในการบำบัดรักษาบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต

อันเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของบุคคลนั้นและสังคม รวมทั้งกำหนดกระบวนการในการบำบัดรักษาบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณา หรือภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญา” เป็นหลักการตรากฎหมายที่น่าสนใจ

ที่ผ่านมาผู้ผิดปกติทางจิต ก่อเหตุอาละวาด สร้างความหวาดกลัว ไปจนถึงทำร้ายผู้อื่น หลายคนสงสัยไม่มีวิธีจัดการให้ชุมชนหรือสังคมปลอดภัยได้เลยหรือ โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่สร้างความตื่นตระหนกในงานสัปดาห์หนังสือ ถูกตั้งคำถามป่วยจิต-ไม่ผิดจริงหรือ?

“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามประเด็นดังกล่าวกับ นายทรงพล สุวรรณพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุด ในฐานะรองโฆษกอัยการสูงสุด ให้ข้อมูลกรณีที่ผู้ป่วยทางจิตไปทำร้ายนักการเมืองในงานหนึ่งว่า เท่าที่ทราบบุคคลดังกล่าวเคยกระทำความผิดหลายครั้ง แต่เป็นเพียงความผิด “ลหุโทษ” ที่อาจเพียงเสียค่าปรับ หรือหากฟ้องถึงศาลก็อาจได้รับการพิพากษารอการลงโทษ ประชาชนจึงอาจจะคิดว่าเป็นผู้ป่วยทางจิตแล้วทำอะไรก็ไม่ต้องรับโทษ…เป็นเรื่องเข้าใจผิด

เนื่องจากในทางกฎหมายจะมีการพิจารณาว่า บุคคลใดที่ยังมีอาการป่วยทางจิต แต่ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ขับรถได้ ทานข้าวได้ พูดคุยสื่อสารรู้เรื่องเข้าใจ “ถือว่ายังรู้ตัว รู้ผิดชอบ”

หากจะไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ผู้นั้นต้องกระทำในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้

ต่อมาต้องมามองว่าทุกครั้งที่ผู้มีอาการป่วยทางจิตก่อเหตุ เรียกตำรวจมาจับกุมแล้ว แต่สักพักก็ออกมาก่อเหตุอีก เป็นเพราะการลงโทษทางอาญาไม่สามารถทำให้เข็ดหลาบ หรืออาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกวิธี ต้องเปลี่ยนมาใช้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ แก้ไขปัญหา

กฎหมายจะประเมินผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการน่าจะก่อให้เกิดอันตราย เป็นคนภาวะอันตราย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็ว จากนั้นตำรวจหรือฝ่ายปกครองจะนำตัวไปสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานบำบัดรักษาใกล้ๆ เพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นใน 48 ชั่วโมง เมื่อพบว่าต้องได้รับการรักษา ทีมแพทย์ต้องบำบัดรักษาความผิดปกติทางจิตต่อครั้งไม่เกิน 90 วัน

เมื่อถึงวันที่ 75 ของการบำบัด ต้องถูกประเมินอย่างละเอียดว่าบุคคลนั้นไม่อยู่ในกลุ่มภาวะอันตรายแล้วถึงปล่อยออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น แต่หากประเมินแล้วยังไม่หายดี ทีมแพทย์ต้องกำหนดวิธีการรักษาใหม่ขยายเพิ่มอีก 90 วัน

ทั้งนี้ นอกจากตำรวจจับปรับ ศาลพิพากษารอการลงโทษ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39 มีอีกวิธีที่ “ไม่ใช่การลงโทษ” แต่เป็นวิธีป้องกันเพื่อความปลอดภัยคือ การกักกัน, ห้ามเข้าเขตกำหนด, การคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล       

ขณะที่การเอาผิดครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่ปล่อยปละ ไม่มีกำหนดโทษไว้ กฎหมายอาญามีบทลงโทษเฉพาะ “ผู้ที่กระทำความผิด” เท่านั้น รวมไปถึงผู้ปกครองที่มีหน้าที่ดูแลเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้มีหน้าที่ดูแลคนวิกลจริต แต่กับคนที่มีอาการทางจิต คุ้มดีคุ้มร้าย ยังไม่ได้รับการรักษา ครอบครัวไม่มีบทลงโทษใด

โดย พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ มีบทลงโทษสำหรับคนที่ “แจ้งเท็จ” หรือไม่ได้แจ้งว่ามีคนในครอบครัวเป็นผู้มีอาการทางจิตในภาวะอันตราย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 51 และหากผู้ใด คนในครอบครัวขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่นำตัวคนป่วยทางจิตไปรักษา เข้าข่ายความผิด ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ที่ผ่านมา ตำรวจได้จับกุมตัวผู้มีอาการป่วยทางจิต เป็นการพิจารณาเฉพาะตัวคดี การดำเนินตามความผิดของคนนั้นๆ คนป่วยทางจิตวันนี้ไปทำร้ายชาวบ้าน ตำรวจก็จับไปดำเนินคดี แม้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว แต่เรายังไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา คือการกระทำ หรืออาการผิดปกติทางจิตใจของผู้ป่วย เนื่องจากไม่ได้ทำตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตอบโจทย์ตัวจบของปัญหานี้อย่างแท้จริง” นายทรงพล ระบุทิ้งท้าย

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]