หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสียงข้างมากลงมติ “รับทราบ” การรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือระหว่าง “ทรู-ดีแทค” แบบมีเงื่อนไขก็ตาม แต่เชื่อว่าหลังจากนี้กสทช.เสียงข้างมากจะมี“งานงอก”ตามมา!
เริ่มจากเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นเรื่องร้องเรียนจาก น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้สอบข้อเท็จจริง กรณีกสทช.มีมติต่อการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค เนื่องจากมติ 2 เสียงรับทราบการควบรวม ส่วน 2 เสียงคัดค้าน และอีก 1 เสียงงดออกเสียง ส่อขัดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (ม.157)
เบื้องต้นพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่าตามกฏหมายคณะกรรมการที่พิจารณาจะต้องมี 7 คน แต่ทำไมในการลงมติจึงมีเพียง5 คน ไม่รอ กระบวนการคัดเลือกกรรมการให้ครบก่อนจึงพิจารณาวาระเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค จึงสงสัยว่าเหตุใดกระบวนการจึงเร่งรีบผิดสังเกต อาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนใดหรือไม่ เพราะหากไม่มีคงไม่รีบดำเนินการแบบนี้ และเห็นใจประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการดังกล่าว
รวมทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้แสดงท่าทีว่า พรรคพท.จะนำเรื่องทรู-ดีแทค เข้าสู่การตรวจสอบในสภาผู้แทนราษฎร โดยการตั้งกระทู้ถามสดในสัปดาห์แรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพ.ย.นี้ และเสนอพิจารณาญัตติด่วนเพื่อให้สภามีมติในเรื่องดังกล่าวด้วย
ลุยฟ้องแน่! 4 หน่วยงาน
ทีมข่าว Special Report ได้สนทนากับ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านการควบรวมระหว่าง 2 ค่ายมือถือดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่าตนกับพรรคก้าวไกล และองค์กรผู้บริโภคทำงานประสานกันมาโดยตลอด และยอมรับว่าหลังจากกสทช.มีมติเสียงข้างมากออกมาให้ควบรวม ได้มีคนส่งข้อมูลต่างๆเข้ามาให้มากมาย ทั้งคุณสมบัติของที่ปรึกษา คุณสมบัติของหนึ่งใน กสทช.เสียงข้างมาก เคยเป็นคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของกลุ่ม “ซีพี”
คุณสมบัติตรงนี้ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ แล้ววุฒิสภา (ส.ว.) คัดสรรเข้ามาได้อย่างไร? เพราะรู้อยู่แล้วว่า กสทช.ชุดปัจจุบัน ต้องเข้ามาตัดสินใจเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค
นอกจากนี้ ตนยังรอคำชี้ขาดฉบับเต็มอย่างเป็นทางการของกสทช.ทั้งเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย ว่ามีรายละเอียดอะไรบ้าง โดยที่ผ่านมาเราอาจเห็นมุมมองของกสทช.เสียงข้างน้อยผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว แต่ตนต้องการได้ฉบับเต็ม แบบรวมความเห็นของกสทช.ทุกคน แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจนป่านนี้ ทำใมความเห็นฉบับเต็มจึงยังไม่ออกมา
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า แต่ทิศทางที่เราวางกันไว้กับองค์กรผู้บริโภคคือ 1.ไปยื่นเรื่องร้องเรียนผ่าน กมธ.ป.ป.ช สภาผู้แทนราษฎร 2.ไปยื่นป.ป.ช. เพื่อเอาผิดกสทช.ตามมาตรา 157 ฐานไม่ปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค ปล่อยให้มีการควบรวมและผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย และกระบวนการลงมติมีพิรุธ
3.ยื่นร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับการควบรวม และ 4.ยื่นร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อเอาผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 89/7 ที่กำหนดว่าในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหาร ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติ ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัทมติคณะกรรมการตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
ตอนนี้มีการไปยื่นเรื่องร้องเรียนผ่าน กมธ.ป.ป.ช สภาผู้แทนราษฎร เรียบร้อยแล้ว คาดว่าวันที่ 31 ต.ค.นี้ จะไปยื่นกับป.ป.ช. ส่วนศาลปกครองและกลต. จะเร่งพิจารณาเป็นลำดับต่อไป
เมื่อถามถึง “เงื่อนไข”ของกสทช.หลายข้อที่ออกมาบังคับใช้หลังการควบรวม
ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่าตนยอมรับ “เงื่อนไข” หลายข้ออ่านแล้วรู้สึกดี แต่เงื่อนไขเหล่านี้ควรออกมาก่อนเปิดให้มีการควบรวม เพราะต่อไปนี้ผู้ประกอบการจะเหลือแค่ 2 รายแล้ว! ขนาดมี 3 รายยังแข่งขันกันดุเดือด เช่น ไม่ให้ซิมการ์ดของอีกค่ายมือถือไปวางขายในร้านสะดวกซื้อ นี่คือตัวอย่างที่เราเห็นกันอยู่ แล้วถ้าเหลือแค่ 2 ราย ผู้บริโภคจะยิ่งเหนื่อยมาก เพราะมีทางเลือกน้อยลง
ความเห็นของตนอยากให้ระดับนายกรัฐมนตรีลงมาจัดการเรื่องนี้ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับชั้น ทุกสาขาอาชีพ คุณต้องคลายคลื่นออกมา หรือกันคลื่นไว้ให้รายใหม่เข้ามาทำ เพื่อให้เกิดสภาพการแข่งขัน
“จริงอยู่ผู้ประกอบการรายใหม่อาจเกิดได้ยาก! เพราะเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง ดังนั้นรัฐบาลต้องเปิดเสรีให้มากกว่านี้ อาจจะต้องแก้กฎหมายให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้มากกว่า 49% ทุกวันนี้คุณแน่ใจหรือว่าทุนต่างชาติในบริษัทต่างๆถือหุ้นกันไม่เกิน 49% จริงๆ คุณแน่ใจนะว่าไม่มีนอมินี แน่ใจหรือเปล่าว่าไม่ตั้งบริษัทเล็กๆขึ้นมาถือหุ้น เพื่อกระจายการถือหุ้นไม่ให้เกิน 49% ตรงนี้เราต้องมองโลกในความเป็นจริงบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลเปิดเสรีมากขึ้น ก็อาจให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ“เอ็นที” เข้าไปรวมกับบริษัทใหม่ของทุนต่างชาติ เพราะวันนี้“เอ็นที” นอนกอดคลื่นเอาไว้เยอะมาก แต่มีส่วนแบ่งการตลาดแค่ 3% ดังนั้นต้องเปิดเสรีมากขึ้น เพื่อดึงทุนต่างชาติเข้ามา แล้วให้“เอ็นที”เข้าไปร่วมด้วย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว