“ขนมถ้วย” เป็นขนมที่ทุกคนคุ้นเคย แม้จะเป็นขนมธรรมดาที่มีมาแต่โบราณ และยุคนี้ก็ยังหารับประทานได้ไม่ยาก แต่ผู้ประกอบการขายขนมรายนี้ก็สามารถใช้ขนมถ้วยนี้สร้างรายได้ได้อย่างน่าทึ่ง โดยอิงโบราณดั้งเดิม ปรับรสชาติให้เป็นสูตรหวานน้อยตามความนิยมของลูกค้ายุคปัจจุบันที่รักษาสุขภาพ แต่อร่อยเหมือนเดิม วันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลเรื่องนี้มานำเสนอ…
ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ คือ ชม–ชมพูนุช โฆษิตวานิช อายุ 28 ปี เจ้าของร้านขนม “ชม ขนมไทย” ได้เล่าถึงที่มาของอาชีพนี้ให้ฟังว่า ครอบครัวมีอาชีพทำขนมไทยขายจากรุ่นสู่รุ่น มาตั้งแต่คุณยาย มารุ่นคุณแม่ และเธอเป็นรุ่นที่ 3 หลังเรียนการจัดการโรงแรม ก็เข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัท โดยช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็จะช่วยครอบครัวทำขนมถ้วยส่งตามร้านก๋วยเตี๋ยวเรือมาตลอด เหมือนกับว่ามันค่อย ๆ ซึมซับอาชีพของครอบครัว ประกอบกับคุณพ่อคุณแม่ก็อายุมากแล้ว และเธอเป็นลูกสาวคนเดียว ก็คิดอยากจะลองทำธุรกิจทำขนมสืบต่อจากครอบครัวดู
“เหมือนกับว่างานที่ทำอะไรหลาย ๆ อย่างมันไม่ใช่เรา ก็คิดอยากมีอาชีพอิสระ แล้วธุรกิจทำขนมขายของครอบครัวก็ตอบโจทย์ ไม่ต้องเริ่มเรียน ลงทุนก็ไม่เยอะ หลังลาออกจากงานก็มาฝึกทำและเรียนรู้การทำขนมไทยอีกหลายชนิดแบบเต็มตัว จากนั้นก็แยกตัวออกมาทำขายเอง ก็มีขนมถ้วย, ขนมกล้วย, ขนมสอดไส้, ขนมตาล, เปียกปูนนํ้ากะทิสด, ถั่วแปบ ฯลฯ ขายตามตลาดนัด ปรากฏว่าเสียงตอบรับจากลูกค้าดีมาก คือ รู้งี้ออกมาทำขายนานแล้ว รับเงินทุกวัน ไม่ต้องรอถึงสิ้นเดือน เหนื่อยก็หยุดพักได้ ขนมของที่ร้านเป็นสูตรโบราณดั้งเดิม ตัวชูร้านหรือตัวดึงคนซื้อเข้าร้าน คือ ขนมถ้วยตะไลใบเตย สูตรหวานน้อย หน้ากะทิจะมีความมันและหอมนํ้ากะทิสด เพราะที่ร้านจะคั้นนํ้ากะทิเอง ส่วนตัวแป้งจะมีความนุ่ม เด้ง หอมกลิ่นใบเตยสด ไม่ใส่สีและสารกันบูด”
อุปกรณ์ มี..ถ้วยตะไลเล็กสำหรับนึ่งขนม, หม้อนึ่งขนาดใหญ่, ชุดเตาแก๊ส, กระบวยหยอดขนม, ทัพพีกลม, ไม้พายจิ๋วสำหรับแคะขนม, กะละมัง, ถาด, หม้อสเตนเลส และเครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ ให้หยิบยืมจากในครัว
วัตถุดิบ ที่ใช้สำหรับทำ “ตัวขนม” มี แป้งข้าวเจ้า 1/2 กก., นํ้าตาลปี๊บ (นํ้าตาลมะพร้าว) 80 กรัม, แป้งมันเท้ายม่อม 3 ช้อนโต๊ะ, แป้งถั่วเขียว 1 ช้อนโต๊ะ, หางกะทิ 2 ถ้วยตวง, และนํ้าใบเตยสด 1/2 ถ้วยตวง ส่วน “หน้าขนม” ใช้หัวกะทิ 3 ถ้วยตวง, แป้งข้าวเจ้า 5 ช้อนโต๊ะ, เกลือป่นนิดหน่อย
ขั้นตอนการทำ “ขนมถ้วยตะไล”
นำนํ้าหางกะทิเทใส่หม้อ ตามด้วยใส่นํ้าตาลปี๊บ ใช้ทัพพีบี้คนให้นํ้าตาลละลายดี จากนั้นใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม, แป้งถั่วเขียว และนํ้าใบเตยคั้นสดที่เตรียมไว้ลงไป นวดส่วนผสมทั้งหมดให้ละลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เสร็จแล้วนำส่วนผสมที่ได้ไปกรองด้วยผ้าขาวบาง (เพื่อความละเอียดของแป้งและเอาเศษผงออก) เป็นอันเสร็จส่วนตัวขนม ตั้งพักไว้รอนึ่ง
หน้าขนมถ้วยหรือหน้ากะทิ นำหัวกะทิที่เตรียมไว้ใส่ลงหม้อ ตามด้วยแป้งข้าวเจ้า และเกลือป่น คนให้ส่วนผสมละลายเข้ากันดี กรองด้วยตะแกรงตาถี่ เพื่อให้แป้งเนียนดี ตั้งพักไว้สักครู่
เริ่มนึ่งขนมโดยตั้งหม้อนึ่งใช้ไฟปานกลาง เมื่อนํ้าร้อนแล้วนำถ้วยตะไลเรียงลงไปนึ่งให้ร้อน ประมาณ 5 นาที เมื่อถ้วยขนมร้อนดีแล้ว แล้วหยอดตัวขนมถ้วยใบเตยลงไปประมาณ ½ ของถ้วย เสร็จแล้วปิดฝานึ่งประมาณ 8 นาที เพิ่มไฟค่อนไปทางแรง จะเป็นเวลาที่ตัวขนมสุกกำลังดี
เมื่อตัวขนมสุกแล้วเปิดฝาและเบาไฟลง หยอดส่วนผสมหน้ากะทิลงไปให้เต็มทุกถ้วย ปิดฝานึ่งอีก 10 นาที เพิ่มไฟเป็นไฟแรงเพื่อให้หน้ากะทิแตกมัน (ใครไม่ชอบหน้ากะทิแตกมันให้ใช้ไฟปานกลางก็พอ) พอขนมสุกแล้วยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น แล้วจึงแคะขนมพร้อมรับประทาน
ชม บอกว่า การหยอดหน้าขนมออกมาสวยน่ารับประทาน มือต้องเบา หยอดให้เต็มถ้วย และขนมถ้วยที่ดีเวลาแคะต้องล่อนไม่ติดถ้วย หน้ากะทิต้องแตกมัน มีรสเค็มนิด ๆ มีความมัน หอมนํ้ากะทิสด ตัวแป้งต้องนุ่ม หวานเล็กน้อย หอมนํ้าใบเตย
สำหรับราคาขาย “ขนมถ้วยตะไล” เจ้านี้ ขายชุดละ 35 บาท (มี 6 ถ้วย)
สนใจขนมโบราณที่ทำจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่าง “ขนมถ้วยใบเตย” ก็ลองฝึกทำดูหรือจะซื้อหามาลองชิมดู เจ้านี้วันจันทร์ ขายที่ตลาดสีลม ซอย 10, วันอังคาร ขายที่ตลาดอโศก, วันศุกร์ ขายที่ตลาดกรมประมง และวันอาทิตย์ ขายที่หมู่บ้านฟ้าปิยรมย์ รับออกงานนอกสถานที่ หากต้องการสั่งไปใช้ในงานบุญ-งานเลี้ยง-งานประชุม ฯลฯ ติดต่อ ชม–ชมพูนุช โฆษิตวานิช เจ้าของกรณีศึกษารายนี้ได้ที่ โทร. 06-4867-3462 Facebook : ชม ขนมไทย, IG : chom_kanomthai, Line @chom.kanomthai และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจและน่าอนุรักษ์!!.
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง