พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค” ออนไลน์ทุกวันเสาร์ “เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564

@ “วัคซีนด่านหน้า” ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อฉีดบูสเข็ม 3 และฉีดสำหรับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้านั้น…ดูเหมือนว่าก็เป็นที่ต้องการของผู้ที่อยู่ “ด่านหลัง” ครอบครัวและคนใกล้ชิดบุคลากรทางแพทย์ด้วยเช่นกัน จนทำให้กลายเป็นข่าวเกรียวกราวที่เกิดขึ้นในขณะนี้…

@ เช่น กรณีแพทย์หญิงโรงพยาบาลนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ได้พามารดา พี่สาว มาฉีดวัคซีนไฟเซอร์…และที่โรงพยาบาลอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา แอบลักลอบฉีดให้กับภรรยา ผอ.โรงพยาบาล ที่ทำงานคลินิกเอกชน รวมทั้งฉีดให้กับสามีของหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมของโรงพยาบาล ทำงานเป็นเภสัชกรร้านขายยา และฉีดให้กับพนักงานร้านขายยาเดียวกันอีก…จาก “วัคซีนด่านหน้า” เลยกลายเป็น “วัคซีนหน้าด้าน” ไปแล้วนั้น

@ บ่งบอกถึงประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการวัคซีน จัดสรร จัดหา แบบ “ห่วยแตก” กะปริดกะปรอย ของใครก็ไม่รู้? ได้เป็นอย่างดี…จึงทำให้เกิดปัญหาแอบฉกฉวย ลักลอบ เบียดบังกันเช่นนี้ และที่ไม่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ยังมีอีกเยอะแยะ ประเภทใบสั่ง ยัดชื่อ มั่วคิว ให้กับบรรดา “ญาติโกโหติกา” คนใหญ่คนโตในแต่ละจังหวัด ที่ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ หรือยังไม่ถึงคิวได้วัคซีน ก็แอบลักไก่ ย่อง “เข้าฉีด” ก็มีเช่นกัน?

@ ไปที่ จ.อุบลราชธานี..ต้องชม “กานต์ กัลป์ตินันท์” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ไม่นิ่งนอนใจเมื่อชาวบ้านในพื้นที่ติดเชื้อโควิดพุ่งสูงทุกวัน จึงได้จัดสรรงบจัดซื้อวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มาฉีดให้ประชาชนฟรี เริ่มเปิดฉีดวัคซีนเป็นวันแรกไปแล้วเมื่อวันก่อน โดยมี “นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร” นพ.สสจ.อุบลฯ มาให้กำลังใจคณะแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ที่ศูนย์โอทอป อบจ.อุบลฯ มีประชาชน และกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ พระภิกษุ และนักบวชทุกศาสนามารับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก เยี่ยมจริงๆ

@ แต่ในขณเดียวกัน…”นายสฤษดิ์ วิฑูรย์”  ผวจ.อุบลราชธานี ได้ลงนามในคำสั่งจังหวัด ออกมาตรการคุมเข้มล็อกดาวน์ ในเขตอำเภอเมืองอุบลฯ 6 ตำบล และล็อคดาวน์พื้นที่ อำเภอวารินชำราบ 6 ตำบล เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ห้ามมิให้มีการชุมนุม การจัดกิจกรรมหรือการมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ห้ามเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด และงดการเดินทางออกจากเคหสถานในระหว่างเวลา 23.00 น. ถึง เวลา 04.00 น. ร้านขายอาหารให้ปิดเวลา 21.00 น. หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษทั้งจำและปรับ เริ่มตั้งแต่วันนี้-30 ส.ค.

@ ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์…วิกฤติโควิด ก็หนักอยู่แล้ว ยังมาเจอ “ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีโรคระบาดสัตว์ ชนิดโรคลัมปีสกิน ในโค กระบือ” เข้าไปอีก ทำให้ “นายดำรงชัย เนรมิตตกพงศ์” รองผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือ โดยมีคณะกรรมการจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ/ผู้ที่ได้รับมอบหมาย ทั้ง 23 อำเภอ ร่วมพิจารณาการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีโรคระบาดสัตว์ ชนิดโรคลัมปีสกินโค กระบือ ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยฯ จำนวน 23 อำเภอ 188 ตำบล 2,546 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบและกลั่นกรองการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านต่างๆ ตามที่ได้สำรวจความเสียหายจากภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกร และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดต่อไป

@ ที่ จ.สุรินทร์…”นายสุทธิชัย รักเกื้อ” นายอำเภอพนมดงรัก จ.สุรินทร์ ต้องลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้แก่กลุ่มผู้กักกันตัว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมด้วยสาธารณสุขอำเภอพนมดงรัก และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักได ณ บ้านโคกสูง หมู่ที่ 8 และบ้านอำปึล หมู่ 20 ตำบลบักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ทั้งเขต อำเภอพนมดงรัก เพราะมีผู้ติดเชื้อกักตัวอยู่ถึง 300 คน นั่นเอง

@ ที่ จ.อำนาจเจริญ…”นายนคร บุญกัณฑ์” กำนัน ต.สร้างนกทา อ.เมืองอำนาจเจริญ ประกาศถึงคนจังหวัดเดียวกัน ที่อยู่ตามพื้นที่เสี่ยงต่างๆ อยากกลับบ้านเกิด หรือเดือดร้อนติดต่อได้ที่ 09-8632-1993 บริการรับส่งฟรีทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังได้ตระเวนออกดูแล และสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกคนในตำบล ที่ติดเชื้อโควิด-19 ต้องเข้ารักษาใน รพ.และคอยรับผู้หายป่วยเข้าพักที่ศูนย์พักคอย ที่เป็นความตั้งใจบริการฟรี ในยามที่ชาวบ้านเจ็บป่วย

บรรยายภาพข่าวสังคม

จ.ยโสธร…พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบช.ภ. 3 ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานกิจกรรมส่งต่อความยั่งยืน ตามโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดเมืองยโสธร โดยมี พล.ต.ต.อิทธิพล นาคคำ ผบก.ภ.ยโสธร พ.ต.อ.มังกร กวีกรณ์ ผกก.สภ.เมืองยโสธร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ร่วมต้อนรับ ณ วัดบ้านกล้วย หมู่ที่ 5 ตำบลค้อเหนือ

จ.ชัยภูมิ…พ.ต.อ.สรวิศ มาอินทร์ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดชัยภูมิ ประธานนักอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม จังหวัดชัยภูมิ พร้อมคณะได้ร่วมกันประกอบอาหารปรุงสุก พร้อมมอบขนม-น้ำดื่ม ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม ที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ ต.นาฝาย และโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 2 ภายในอาคารเอราวัณ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตชัยภูมิ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ รวม 200 ชุด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาและดูแลผู้ป่วย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 และลดภาระในการจัดหาอาหารระหว่างวัน

จ.นครราชสีมา…ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์ โคราชชาติพัฒนา ร่วมกับศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน จัดโครงการส่งมอบ และร่วมปลูกต้นกล้า “ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทย สู้ภัยโควิด” ให้แก่ผู้นำชุมชน-ตำบล ในพื้นที่ต่างๆ ที่ชาวบ้านร้องขอมา

จ.นครราชสีมา…(กลุ่มนายพลเกษียณ) พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท ร่วมกับ พล.ต.ท.วิสาร์ท สมปราชญ์ พล.ต.ต.ชัยเดช ปานรักษา คุณวิชัย ณรงค์ชาญชัยกุล กรรมการสมาคมสาขานครราชสีมา ทำการมอบเงินกองทุนของสมาคมตำรวจ สาขานครราชสีมา จำนวน 15,000 บาท พร้อมกับร่วมใจกันบริจาคสมทบทุนอีก 72,200 บาท รวมทั้งสิ้น 87,200 บาท
และมอบชุด PPE ให้กับ พล.ต.ต.พรชัย นลวชัย ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา และคณะประกอบด้วย พ.ต.อ.เอนก ศรีกิจรัตน์ พ.ต.อ.ณรงค์ เสวก พ.ต.อ.ราชศักดิ์ ญาณอุบล รอง ผบก. และ พ.ต.อ.สมร ทองกลาง เพื่อนำไปบริหารจัดการให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานด่านหน้า

“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคอีสานตอนล่าง จ.นครราชสีมา รายงาน