หลังจากลาออกจากตำแหน่งสำคัญๆทางการเมืองไปนานหลายปี สำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังมีความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ผ่านการเดินสายบรรยายวิชาการ และการแสดงทัศนะต่างๆ ต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ยิ่งขณะนี้การเมืองทวีความคึกด้วยก้าวเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง จึงทำให้ชื่อ “อภิสิทธิ์” ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนาพร้อมรับฟังมุมมองต่อสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน และอนาคตทางการเมืองของเจ้าตัว

โดย อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ออกมาระบุว่า สถานการณ์ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นปลายยุครัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่นั้น  เศรษฐกิจมีความน่าเป็นห่วงมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเหมือนกับทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโรคโควิด-19 หลายปี ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาในประเทศยูเครน และธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยเยอะและเร็วมาก กระทบค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยในประเทศอื่นๆ ยิ่งตอนนี้อยู่ในช่วงปลายรัฐบาล อาจทำให้รัฐบาลที่มีข้อจำกัดในการจัดงบประมาณอยู่แล้ว ยิ่งมีปัญหามากขึ้นในการตัดสินใจในเรื่องที่ยาก

ผมหวังว่าในการเลือกตั้ง เราจะมีโอกาสเห็นการแข่งขันของพรรคการเมืองในเชิงนโยบายที่เป็นภาพรวมในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น แต่ผมก็เกรงว่าครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันบน 2 ประเด็น คือ 1.เผด็จการกับประชาธิปไตย กับ 2.การทำนโยบายประชานิยมโดยไม่ได้ดูเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมเท่าที่ควร ถ้าบรรยากาศบ้านเมืองยังวนอยู่กับเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนการแก้ปัญหาปากท้อง ถ้าพรรคการเมืองยังทำแต่นโยบายเฉพาะหน้า ประชานิยม และยังไม่พูดถึงวิธีจัดเก็บรายได้ภาครัฐให้ได้เพิ่ม ก็จะทำให้ประเทศเสียโอกาส และปัญหาในเชิงโครงสร้างจะยังไม่ได้รับการแก้ไข

 @ เรื่องสลับขั้วทางการเมืองมีโอกาสเกิดได้หรือไม่

สังคมไทยยังมีการแบ่งขั้วที่ค่อนข้างแรง ทุกพรรคจึงระมัดระวังในการพูดถึงการสลับขั้ว อาทิ ข่าวที่ว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อาจจับมือกับ พรรคเพื่อไทย หรือไม่ ต่อมามีคนของทั้ง 2 ฝ่ายออกมาปฏิเสธบ้าง อ้างว่ามีเงื่อนไขบ้าง เพราะเขารู้ว่าผู้สนับสนุนของตัวเองยังไม่พร้อมที่จะให้จับมือกัน เราจึงจะยังไม่เห็นอะไรชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง แต่จะเกิดขึ้นช่วงหลังเลือกตั้ง เพราะเมื่อตัวเลขต่างๆออกมา ก็จะมีการเจรจากัน สำหรับ พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณ “ทักษิณ ชินวัตร” อาจมีแนวคิดว่าต้องประนีประนอม เพื่อประโยชน์บางอย่างก็ได้ หรือเขาชนะแต่ไม่ได้มาพอกับที่ต้องการ ซึ่งถ้าถึงวันนั้น เขาต้องจัดลำดับอยู่แล้วว่าควรคุยกับใครก่อน โดยอาจคุยกับ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก่อนก็ได้

ทำไปทำมา พปชร. กับ ภท. อาจทำอะไรที่มากกว่าเรื่องจะเกิดขั้วใหม่ ผมหมายความว่า ภท. อาจถูกมองว่าไปได้ทั้ง 2 ฝั่ง และยังคาดกันว่าอาจเติบโตจนได้เป็นพรรคใหญ่อันดับต้นๆ ทำให้มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น ส่วน พปชร. ในแนวของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคฯ มีข่าวตลอดว่าสามารถทำงานกับพรรคเพื่อไทยได้

@ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถเป็นนายกฯได้อีก 2 ปี จะมีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่

คำวินิจฉัยนี้น่าจะสร้างปัญหาให้กับ “3 ป.” และพปชร. แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่า คือความคลุมเครือในความสัมพันธ์ของพล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตร ซึ่งจะมีผลต่อ พปชร.และผู้สนับสนุนรัฐบาล เพราะถ้าแยกทางกัน ยิ่งไม่เห็นโอกาสที่จะสู้กับฝ่ายค้านได้ แต่ถ้าบอกว่ายังอยู่ด้วยกัน จะอยู่กันแบบไหน เพราะมีพรรคใหม่ๆเกิดขึ้น อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ทำให้สงสัยว่าพรรคไหนเป็นของพล.อ.ประยุทธ์ และถ้ายังมีความไม่ชัดเจนนี้อยู่ก็มีโอกาสเสียส.ส.ให้ฝ่ายค้าน

ส่วนแนวคิดข้อเสนอคนละครึ่งที่ให้พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ คนละ 2 ปี แนวคิดหลักของเขาคือ ถ้าสามารถทำให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาได้ แล้วมาทำงานอยู่ด้วยกัน ก็จะมีเสียงข้างมาก เมื่ออยู่ครบ 2 ปี ก็คงอยากทำต่อเนื่อง ส่วนจะมาลงที่พล.อ.ประวิตรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพล.อ.ประวิตรว่า ตอนนั้นสถานะเชิงการเมืองและสังคมเป็นอย่างไร มีทางเลือกอื่นหรือไม่ แต่พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีสัญญาณที่ว่าจะเลิก แต่โจทย์ที่ยากกว่าคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาได้อย่างไรในเมื่อกระแสเป็นอย่างที่เห็นกัน รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย และถ้าเกิดความปั่นป่วนมากๆ อาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไปต่อก็ได้

@ ในฐานะที่เป็นสมาชิกปชป. มองสถานการณ์ของพรรคในการเลือกตั้งรอบนี้อย่างไร

อยู่ที่ผู้บริหารพรรคว่าจะมียุทธศาสตร์ มีทิศทางอย่างไร แต่ครั้งที่แล้ว ปชป. เสียคะแนนจำนวนมากให้ พปชร. แต่ในครั้งใหม่ พปชร. น่าจะอ่อนแรงลง แม้ไม่ได้หมายความว่าคะแนนจะไหลกลับมาที่ ปชป. แต่อย่างน้อยอาจทำให้พื้นที่ที่ ปชป. เคยเสียให้ พปชร. กลายเป็นโจทย์ใหม่ ส่วนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่เดียวที่ฝ่ายค้านยังเจาะไม่เข้า จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับพรรคซีกรัฐบาล โดยเฉพาะ พปชร. กับ ปชป.ต้องเผชิญกับการที่ฝ่ายค้านมีคะแนนนิยมเพิ่ม และมีหลายพรรคที่เจาะพื้นที่ของฝ่ายค้านไม่ได้ จึงไปรุมแข่งขันที่ภาคใต้

@ ได้วางบทบาททางการเมืองของตัวเองตอนนี้ไว้อย่างไร

ผมไม่ได้วางและยังไม่ได้คุยกับพรรคจึงไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร ผมจะมีบทบาทหรือไม่ แต่ผมยังเป็นสมาชิกปชป. แม้ใครมาชวนอะไรก็ตาม ผมจึงต้องรอดูแนวทาง จุดยืนของพรรค ทั้งนี้ ผมอยากเห็นพรรคการเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งปชป. เป็นสถาบันทางการเมือง ดังนั้นแม้บางครั้งผมอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางพรรค ผมจึงถอยออกมา แต่ไม่ใช่ว่าพอมีอะไรขึ้นมา ก็ออกไปตั้งพรรคใหม่ ซึ่งการทำแบบนั้นจะทำให้ระบบพรรคการเมืองของไทยวนเวียนอยู่กับเรื่องตัวบุคคล ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

 @ มีหลายคนพูดกันว่าอีกไม่นาน คุณอภิสิทธิ์จะกลับมาสู่สนามการเมือง

ใครก็พูดอะไรก็ได้ มีทั้งคนเชียร์และคนชังได้ตลอด อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งเขาเห็นว่าผมอายุเท่านี้  จึงไม่ค่อยเชื่อกันว่าผมจะเลิก และผมยังไม่ได้บอกตัวเองว่าจะเลิกหรือไม่ ตอนนี้ผมทำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ อย่างเช่นไปบรรยายในงานสัมมนา หรือถ้ามีพรรคพวกในการเมืองมาปรึกษาหรือขอคำแนะนำ เรื่องต่างๆ เรื่องนโยบาย ผมก็ยินดีให้ แต่ถ้าไม่มีเหตุ หรือมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากสภาพการเมืองตอนนี้ ก็ไม่ค่อยเห็นประโยชน์ที่จะกลับเข้าไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นว่าการเมืองมีจังหวะที่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้มากขึ้น จึงจะคิดกลับเข้าไป.