ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 สถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการนานาชาติ (IMD) ได้เผยผลสำรวจหัวข้อ “สมรรถนะการศึกษาประเทศไทยกับนานาชาติ” ซึ่งพบว่า…อันดับด้านการศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 56 ลดลง 1 อันดับ จากปี 2563 และอยู่เพียงอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน …ซึ่งนี่ก็เป็นข้อมูลที่ฉายภาพ ปัญหาการศึกษาของเด็กไทย ที่เกี่ยวโยงกับ “ยุคโควิด-19”…

ไม่เพียงกระทบการเรียนรู้ของเด็กไทย

หากแต่ยัง “ส่งผลถึงสภาพจิตใจด้วย!!”

ที่ “อาจเป็นปัจจัยย้อนโยงการเรียน??”

เกี่ยวกับ “ปัญหาสภาพจิตใจเด็กไทยจากวิกฤติโควิด-19” นั้น…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลอีกแง่มุมที่น่าสนใจมาสะท้อนต่อ…ซึ่งแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะมีแนวโน้มดีขึ้น การเรียนการศึกษาเริ่มกลับมาเป็นแบบปกติ แต่…ก็อาจยังมีผลพวงตกค้าง?? ที่เกิดกับเด็กไทยจำนวนไม่ใช่น้อย ที่ “เกิดผลกระทบหนัก” จนอาจถึงขั้นนำสู่ “ภาวะหมดไฟในวัยเรียน” ซึ่งเรื่องนี้ พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตเด็กวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้สะท้อนไว้ผ่านบทความที่มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ได้มีการพบว่า…มีเด็กไทยจำนวนไม่น้อย…

ที่กำลัง “มีปัญหาภาวะหมดไฟวัยเรียน”

ทั้งนี้ พญ.ศุทรา ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตเด็กวัยรุ่น ให้ข้อมูลไว้ในบทความดังกล่าวว่า… ได้ริเริ่ม “โครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวะ” ร่วมกับ กสศ. เพื่อต้องการจะพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความสามารถในการเรียนรู้ ควบคู่กับการดูแลด้านจิตใจ เนื่องจากทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องทำคู่กันไป เพราะเด็กที่มีการเรียนดี เกิดจากการที่เด็กมีกำลังใจ มีความกระตือรือร้น โดยการเรียนรู้ที่ดีของเด็ก ๆ ไม่ได้เกิดจากความสามารถทางวิชาการหรือความฉลาดทางไอคิวอย่างเดียว แต่เกิดจาก “ความพร้อมทางด้านจิตใจ” ด้วย …นี่เป็นความสำคัญเรื่องนี้

ผู้เชี่ยวชาญท่านดังกล่าวระบุถึงความพร้อมทางด้านจิตใจไว้ว่า… เช่น ความแจ่มใส อารมณ์ดี รู้สึกเป็นที่ยอมรับ ที่มีผลทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น จนทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพของตัวเอง ซึ่งความพร้อมด้านจิตใจยัง ส่งผลต่อแนวโน้มการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ด้วย เนื่องจากหากเด็ก “รู้สึกไม่มั่นใจในการเรียน” ก็จะกลายเป็น “จุดอ่อนสำคัญ” ที่ทำให้เด็กไม่เกิดความสนใจที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงเพิ่มขึ้น หรือ “ทำให้ออกจากระบบการศึกษา”

ทาง พญ.ศุทรา ยังได้ระบุไว้อีกว่า… ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอารมณ์สูงมาก ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่าน ๆ มาพบว่า…เด็กที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิต แต่ละคนจะมีรูปแบบปัญหาที่คล้าย ๆ กัน นั่นคือ… “เด็กเกิดความเครียดจากแรงกดดัน” และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ… “มีเด็กที่รู้สึกหมดไฟในการเรียนจากปัจจัยการระบาดของโควิด-19” ที่เด็กไม่สามารถเรียนได้แบบปกติ ต้องเรียนออนไลน์ จนทำให้เด็กหลาย ๆ คนเกิดความรู้สึกกับตัวเองว่า…

ไม่มีเรี่ยวแรง เคว้งคว้าง ไม่มีเป้าหมาย

เป็นภาวะ “คล้ายคนวัยทำงานหมดไฟ”

ทั้งนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเด็กวัย รุ่นระบุไว้ต่อไปว่า… ด้วยปัญหาทางสุขภาพจิตใจที่เกิดขึ้น ที่ส่งผลทำให้ “เด็กวัยเรียนเกิดภาวะหมดไฟ” นั้น ทางโครงการฯ จึงได้มีการจัดอบรมขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็ก ๆ ที่มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา และสอนให้เด็กรู้จักทักษะการจัดการอารมณ์ เช่น เวลาเกิดความผิดหวังจากเกรดที่ต่ำ เด็ก ๆ จะได้รู้วิธีว่าจะจัดการอารมณ์อย่างไร รวมถึงทักษะด้านความคิด และด้านสังคมด้วย

“โครงการฯ นี้ เป็นการทำงานร่วมกันของ 3 ส่วน คือ 1.ทีมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 2.โค้ช ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในจังหวัดเดียวกับสถานศึกษา และ 3.ครูแกนนำของสถานศึกษา ที่จะทำหน้าที่จัดกิจกรรมทักษะชีวิตแก่นักเรียน และช่วยเหลือให้คำปรึกษานักเรียนที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น” …นี่เป็น 3 ส่วนเพื่อป้องกันปัญหา

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมยังระบุไว้ในบทความด้วยว่า…ขณะนี้มีสถานศึกษาหลายแห่งหันมาให้ความสนใจในการ “ส่งเสริมทักษะชีวิตให้เด็ก” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง เป็นเรื่องที่ดี…นอกเหนือจากการส่งเสริมด้านวิชาการ อย่างไรก็ตาม แต่การจะ “ลดปัญหาหมดไฟในวัยเรียน” ได้นั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องปลดล็อกให้ได้ก่อนคือ… ต้องขจัดทัศนคติดั้งเดิมเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ที่สังคมยังมองในแง่ลบอยู่มาก ทำให้เด็ก ๆ ไม่มีการเข้าถึงการรับคำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว… “ถ้าลบภาพทัศนคติดั้งเดิมได้ จะช่วยให้เด็กมีที่พึ่งเพิ่มขึ้น นอกจากครอบครัว” …ทาง พญ.ศุทรา ระบุไว้

“น่าคิด” ไม่น้อย…กรณี “หมดไฟเรียน!!”

“เด็กวัยเรียน” กรณีนี้ “ยุคนี้น่าเป็นห่วง”

ผู้ใหญ่ทั้งหลาย…“ต้องช่วยกันเติมไฟ”.