ต้อนรับภริยานายกรัฐมนตรี

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย คณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี รวม 8 ท่าน ในโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายวัชระ กระแสร์ฉัตร นายอำเภอบางปะอิน พ.ต.อ.วันลภย์ เนตรถาวร รอง ผบก.ตร.ภ.จว. นายสิทธิวีร์ วรรณพฤกษ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด นางพิศมัย เลิศอิทธิบาท ประชาสัมพันธ์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพและความสำเร็จของประเทศไทย ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยได้รวบรวมผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกของช่างจากสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่เริ่มทำในระยะแรก ๆ จนถึงผลงานชิ้นเอก นำมาจัดแสดงให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชม โดยผลงานประณีตศิลป์ชั้นสูงที่นำมาจัดแสดง มีความวิจิตรงดงาม รังสรรค์อย่างพิถีพิถันแห่งเชิงช่างศิลปะไทย ซึ่งมีงานถมทอง เช่น บุษบกมาลา พระที่นั่งพุดตานถมทอง สุพรรณเภตรา ขันถมทองลายมงคล 108 ฉากถมทองเรื่องรามเกียรติ์ งานคร่ำ เช่น วานเรศบวรอาสน์ (พระที่นั่งกงคร่ำทอง) พระที่นั่งพุดตานคร่ำ สัปคับคร่ำทอง งานปักผ้า เช่น ฉากปักไหมน้อยเรื่องอิเหนา และเรื่องหิมพานต์ งานเครื่องเงินเครื่องทอง เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์จำลอง เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณจำลอง และเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยจำลอง สีวิกากาญจน์ ตรีพิธพรรณบุกษก นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมีผลงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าอีกมากมาย อาทิ จักสานย่านลิเภา จักสานไม้ไผ่ลายขิต ตกแต่งปีกแมลงทับ แกะสลักตุ๊กตาไม้ลงยาสี

โดยประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง หรือ APEC 2022 ขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เตรียมการต้อนรับคณะคู่สมรสผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ในห้วงวันเวลาดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ บัตรเข้าชม ราคา 75 บาท ส่วนประชาชนทั่วไป 150 บาท ส่วนชาวต่างชาติสามารถใช้บัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวังได้ หรือซื้อที่พิพิธภัณฑ์ฯ เวลาเข้าชม 10.00-15.30 น. ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2283-9411, 0-3535-2995 (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

“พระราชทานถุงยังชีพ”

ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า วันที่ 23 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีมอบถุงยังชีพพระราชทาน ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเสาไห้ จำนวน 1,559 ชุด เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแก่ราษฎรในพื้นที่ โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสาพระราชทาน เข้าร่วมรับมอบ พร้อมถวายถุงยังชีพให้กับเจ้าอาวาสวัดที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 5 ชุด โดยมี นางวันทนา ดำธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสระบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเสาไห้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

การรถไฟเดินรถจักรไอน้ำ

วันที่ 23 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเดินขบวนพิเศษ รถจักรไอน้ำ เนื่องในวันปิยมหาราช โดยการนำหัวรถจักรไอน้ำ รุ่นแปซิฟิก หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ผลิตโดย บริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี มาจัดเดินขบวนรถพิเศษนำเที่ยวในเส้นทางสายประวัติศาสตร์ระหว่างสถานีกรุงเทพถึงสถานีอยุธยา เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษนำเที่ยวเส้นทางกรุงเทพ-อยุธยา-กรุงเทพ ขบวนที่ 901/902 จะออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 08.10 น. ถึงสถานีอยุธยา เวลา 10.25 น. นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดอยุธยาประมาณ 6 ชั่วโมง จากนั้น เที่ยวกลับออกจากสถานีอยุธยา เวลา 16.40 น. ถึงกรุงเทพ เวลา 18.45 น. โดยมีสถานีที่หยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสาร ได้แก่ สถานีสามเสน บางซื่อ บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และรังสิต

วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้จัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำ ตามรอยประวัติศาสตร์ วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม สัมผัสเส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ-พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงพระราชทานกิจการรถไฟให้แก่ปวงชนชาวไทย (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ทำความสะอาดโรงเรียน

นาวาอากาศเอก เทพพนม สุวรรณสาร ผู้บังคับการกองบิน 2 กองทัพอากาศ จังหวัดลพบุรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบิน 2 สั่งการให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบิน 2 นำเจ้าหน้าที่ พร้อมยานพาหนะ สนับสนุนเข้าช่วยเหลือและทำความสะอาดฟื้นฟู อาคาร สถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งของ ที่ได้รับความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วม ที่โรงเรียนบ้านบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำป่าสักที่เอ่อล้นตลิ่งจนท่วมอาคารเรียน (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

รับบัตรเติมน้ำมัน

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับมอบบัตรเติมน้ำมัน มูลค่า 100,000 บาท จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้สำหรับเติมยานพาหนะในการช่วยเหลือน้ำท่วมภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ว่าที่ ร.ต.รุจ ศรีจักรโคตร ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 2 และนายวงศ์พันธ์ ทัศนางกูร ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 11 เป็นตัวแทนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนในการมอบในครั้งนี้ แทนความห่วงใยของบริษัทฯ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติอุทกภัยไปด้วยกัน (ชาญ ชูกลิ่น / อยุธยา)

ผู้ว่าฯ ส่งมอบความช่วยเหลือ

ช่วงเช้าของวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ที่ หน้ามุกศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานมอบถุงยังชีพสนับสนุน จำนวน 5,000 ชุด จาก “กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี” เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้กับ นายวิทยา เขียวรอด นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2,500 ชุด นายวิชาญ น้อยโต นายอำเภอนครหลวง จำนวน 2,000 ชุด ว่าที่ร้อยตรี ดร.ภาณุพงศ์ ศิริ ปลัดอาวุโส รักษาราชการนายอำเภอบางไทร จำนวน 250 ชุด และผู้แทนอำเภอบางปะอิน จำนวน 250 ชุด เป็นผู้รับมอบ เพื่อให้นำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ โดยมี นายประพันธ์ ตรีบุบผา ปลัดจังหวัด นาย กฤษณ์ แก้วทองหลาง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นางพิศมัย เลิศอิทธิบาท ประชาสัมพันธ์จังหวัด และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมมอบถุงยังชีพและเป็นสักขีพยาน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ขอรับการช่วยเหลือจาก “กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 และประธานกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้การช่วยเหลือถุงยังชีพดังกล่าว รวม 5,000 ชุด เป็นเงินจำนวน 3,500,000 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดฯ ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงได้มีระบบการบริหารจัดการมอบถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนเป็นไปอย่างทันท่วงที ทั่วถึง ตามวงรอบ

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ทั้งหมด 16 อำเภอ ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชัน “โนรู” ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน รวม 15 อำเภอ 163 ตำบล 1,045 หมู่บ้าน 76,691 ครัวเรือน รวมพื้นที่การเกษตรกว่า 13,417 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ แต่มีแนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)

ช่วยผู้ประสบอุทกภัย

ที่วัดหนองกระทะ อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการ จังหวัดสระบุรี นางวันทนา ดำธรรม นายกเหล่ากาชาด จ.สระบุรี นายพลวรรธน์ เทียนชัยมงคล ปลัดจังหวัดสระบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำถุงยังชีพจากสภากาชาดไทย และเหล่ากาชาด จังหวัดสระบุรี ไปมอบให้กับ ประชาชนในพื้นที่อำเภอดอนพุด ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจำนวนหนึ่ง (80 ครัวเรือน) โดยมีนายจงรัก เพชรเสน นายอำเภอดอนพุด, นายไพศาล ขำวงษ์ นายกเทศมนตรี ต.ดอนพุด เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน ให้การต้อนรับ และรายงานสถานการณ์ “น้ำท่วม” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ให้รับทราบ ซึ่ง ผู้ว่าฯ ได้กล่าวปราศรัยแสดงความเห็นใจต่อพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน พร้อมกล่าวขอบคุณหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ ร่วมมือกันให้การช่วยเหลือดูแลประชาชน ในขณะเดียวกันได้ชี้แนะการใช้จ่ายงบประมาณ หากไม่เพียงพอ ขอให้ร้องขอไปยังจังหวัดเพื่อขอใช้งบฉุกเฉิน เพื่อนำมาให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วนได้

จากนั้นนายผล ดำธรรม ผู้ว่าฯ พร้อมคณะเดินทางไปที่วัดหนองมน ลงเรือท้องแบนนำถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค น้ำดื่มของสภากาชาดไทย, เหล่ากาชาด ไปมอบให้กับ ประชาชนที่มีบ้านพักในบริเวณทุ่งพักน้ำ “ทุ่งบางกุ่ม” ซึ่งถูกน้ำท่วมถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การเดินทางต้องใช้เรือในการสัญจรไป-มา เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดย ผู้ว่าฯ ได้กล่าวให้กำลังใจสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยความห่วงใย พร้อมแนะนำให้ตัดกระแสไฟฟ้า ระมัดระวังการถูกไฟดูด ให้ดำเนินการจัดเก็บเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย

นายผล ดำธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนขณะ ลอยเรือเดินทางกลับว่า จ.สระบุรี สภากาชาดไทย นำถุงยังชีพมามอบให้กับพี่น้องประชาชนชาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำจากที่อื่นเป็นแก้มลิงที่กักน้ำไว้ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ อำเภอมหาราช/อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 83,000 ไร่ ราว 13,280 ตร.กม. กักเก็บน้ำไว้มีปริมาณ 357 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อน จึงได้เข้ามาช่วยเหลือ

สำหรับ ปริมาณน้ำในทุ่งรับน้ำในทุ่งบางกุ่มแห่งนี้ เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4.7 เมตร แต่ขณะนี้สูง 5.3-5.4 เมตร คาดว่าจะระบายออกได้บ้างแล้ว เพราะปริมาณน้ำเริ่มลดลง ได้ประสานกับทางกรมชลประทานคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน (ปลาย พ.ย.65) เพราะขณะนี้น้ำในคลองชัยนาทป่าสักลดลงแล้ว อาจจะไม่ถึง 1 เดือนก็เป็นได้ เพราะน้ำลดลงแล้ว ปริมาณปีนี้ น้อยกว่าปี 2564 ซึ่งจะสูงกว่านี้ประมาณ 1 เมตร ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากทุ่งรับน้ำ บริเวณดังกล่าวนี้ ทั้ง อ.ดอนพุด มีจำนวน 1,031 ครัวเรือน

ในตอนท้ายผู้ว่าฯ ได้กล่าวให้กำลังใจว่า วันนี้ได้มาให้กำลังใจกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยเฉพาะ ที่ถูกน้ำท่วมมาก เป็นบ้านชั้นเดียวรวมถึงรายอื่นๆ ก็จะช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบของราชการต่อไป (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)

มอบถุงยังชีพ

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่หน้ามุขศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบให้นายประพันธ์ ตรีบุบผา ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานรับมอบถุงยังชีพ จำนวน 530 ชุด จากกระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จำนวน 200 ชุด และสมาคมแม่บ้านกระทรวงแรงงาน ร่วมกับ วปอ.63 หมู่นกหัวขวาน “ส่งต่อกำลังใจ เพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม” จำนวน 165 ชุด รวมเป็น 365 ชุด เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบางปะหัน ณ วัดสบสวรรค์ ตำบลโพธิ์สามต้น ในส่วนอีก 165 ชุด นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานและคณะผู้บริหาร จะลงพื้นที่นำถุงยังชีพไปมอบให้กับพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบางซ้าย ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หมู่ 1 ตำบลปลายกลัด โดยมี นางสาวยุภา ทองถม แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้แทนส่งมอบถุงยังชีพ และ นายศุภกร อนันตรักษ์ ป้องกันจังหวัด นางสาวอำพร บุญไสย เสมียนตราจังหวัด และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้

จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง กระทรวงแรงงาน โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสมาคมแม่บ้านกระทรวงแรงงาน ร่วมกับ วปอ.63 หมู่นกหัวขวาน “ส่งต่อกำลังใจ เพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม” มีความห่วงใยและได้ส่งกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย และขอให้ทุกท่านปลอดภัยและผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้อย่างเร็วที่สุด (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

เยอรมนี ปลื้ม “ศูนย์ความเป็นเลิศ”

นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า มทรส. เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่มุ่งมั่นผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคน ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ 7 ด้านขึ้น ได้แก่ การศึกษา พลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบอัตโนมัติและแขนกล, การผลิตชิ้นส่วน, ไฮดรอลิกเครื่องจักรกลเคลื่อนที่และอุตสาหกรรม, การออกแบบและการจำลองทางวิศวกรรมและโซลาร์เซลล์ในสมาร์ทฟาร์มในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิศวกรรมเครื่องกล จะเปิดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิตและหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมดุษฎีบัณฑิต เพื่อผลิต “ครูคุณภาพ” และ “ผู้ประกอบการมืออาชีพ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกำลังงานของไหลจึงประสานความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันระบบและการขับเคลื่อนกำลังงานของไหล คณะวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยอาเคน ประเทศเยอรมนี (ifas)เพื่อจัดทำหลักสูตรร่วมกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดี มทรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมสันต์ งามขำ รองคณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ประชุมร่วมกับสถาบัน ifas ข้างต้น ทั้งนี้หลักสูตรระดับปริญญาโทและเอก สาขาวิศวกรรมเครื่องกลนี้ จะมุ่งเน้นงานวิจัยเพื่อส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์(outcome) เป็นเครื่องจักรกลไฮดรอลิกใช้งานเกษตรกรรมและงานก่อสร้าง ซึ่งจากการหารือร่วมกัน สถาบัน ifas พร้อมให้การสนับสนุนใน 4 ด้านคือการศึกษาดูงาน การฝึกอบรม การฝึกทำวิจัย การทำความร่วมมือทาวิชาการผลิตหลักสูตรสองปริญญาและจากความร่วมมือนี้ จะทำให้อาจารย์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และนักศึกษาของ มทรส. จะได้ประโยชน์ในการเรียน เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ มืออาชีพ ตอบสนองอุตสาหกรรมด้านเกษตร และอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศต่อไป ทั้งนี้ มทรส. อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร นักศึกษาเข้าเรียนในทุกระดับ ใน 6 คณะ ได้แก่ ปวช., ปวส., ปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองและนักศึกษา หากมีการชำระเงินภายใน 31 ธันวาคม 65 จะได้ส่วนลดค่าเทอม 50% ในภาคการศึกษาที่ 1/2566 และฟรีค่าสมัคร 300 บาท ในระดับ ปวช., ปวส.และปริญญาตรี ด้วย (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ประธานหมู่บ้านช่วยน้ำท่วม

นางสาวสุรีย์ ปิ่นทอง ประธานหมู่บ้านมณีรินทร์ พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน นำอาหารเครื่องดื่ม มอบให้ จ.ส.อ.มงคล อัศวนิโคโธร นายกเทศมนตรีตำบลไทรม้า จังหวัดนนทบุรี และเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งขอบคุณ ที่ให้ความช่วยเหลือช่วงน้ำท่วมหมู่บ้าน จนกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว (สมคิด -สมนึก ลือประดิษฐ / นนทบุรี)

เปิดรับฟังเสียงประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ณ บริเวณหอประชุม อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี นายธนสาร สิทธิธาภา ผู้อำนวยการแขวงการทางสระบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจ และออกแบบ ทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 3267 ช่วงอ่างทอง-ต.บางโขมด เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลการศึกษา และสรุปผลการคัดเลือก รูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ บริษัทที่ปรึกษาโครงการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน เข้าร่วมการประชุม

บรรยากาศการประชุมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 3267 ช่วงอ่างทอง-ต.บางโขมด มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 3267 ประมาณ กม.0+400 บริเวณ ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง และมีจุดสิ้นสุดบนทางหลวงหมายเลข 3267 ประมาณ กม.25+600 บริเวณ ต.บางโขมด อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ระยะทางรวมประมาณ 25 กม. โดยแนวเส้นทางโครงการ มุ่งหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ตัดผ่านทางหลวง หมายเลข 347,3196 (แยกเจ้าปลุก) ทางหลวงหมายเลข 3467 และทางหลวงหมายเลข 3022 และตัดผ่านสะพานข้ามลำน้ำ 7 จุด ได้แก่ คลองบางแก้ว คลองหนองม่วง คลองหนองหม้อ แม่น้ำลพบุรี คลองบางนา คลองพระครู และคลองหนองมน โดยเส้นทางดังกล่าวปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ซึ่งที่ปรึกษาโครงการฯ มีแนวคอดพัฒนาให้เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรหรือมากกว่า พร้อมทั้งพิจารณารูปแบบเกาะกลางถนนให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ โดยเสนอรูปแบบการพัฒนา

การออกแบบรูปแบบทางหลวง “การออกแบบสำหรับถนนช่วงทั่วไป หรือช่วงนอกชุมชน” และการ “ออกแบบสำหรับถนนช่วงชุมชน” จุดทางร่วมทางแยก จุดสะพานข้ามแยก และสะพานข้ามแม่น้ำ จุดที่มีสัญญาณไฟ ให้มีความเหมาะสม สะดวกปลอดภัย และสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันของผู้ใช้รถใช้ถนน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมความเดือดร้อนของพระชาชนเป็นสำคัญ (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)

ชวนชาวตาคลี แต่งไทย

นางเพลินพิศ ศรีภพ นายกเทศมนตรีเมืองตาคลี เปิดเผยว่า งานประเพณีกระทง เป็นประเพณีชาวตาคลี ได้ถือปฏิบัติต่อเนื่องอดีตจนถึงปัจจุบัน ปีนี้มีการประกวด (นางในฝันของพี่หมื่น) คือการแต่งกายผู้เข้าประกวด ต้องแต่งกายด้วยผ้าไทย ย้อนยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (บุพเพสันนิวาส ภาค 2) เปิดรับสมัครตั้งแต่ 17-31 ตุลาคม 2565 ในเวลาราชการ ติดต่อขอใบสมัครได้ที่ กองการศึกษา ชั้น 3 เทศบาลเมืองตาคลี มีการประกวดกระทงประดิษฐ์ (กระทง รักโลก) ใช้วัสดุธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมี จำหน่ายสินค้าราคถูกจากชุมชนต่างๆ รอบๆ สระทะเล ผู้จำหน่ายจะแต่งการย้อนยุค ทั้งบริเวณรอบๆ งานประเพณีลอยกระทง ในสวนสระทะเล จันทร์เต็มดวง ท่านมีนัดกับคนรักควงกันมาลอยกระทง ณ สวนสระทะเล เทศบาลเมืองตาคลี ในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา 17.00 น. จะมีประชาชนถือกระทงแต่งกายย้อนยุค สวยงาม ควงคู่เดินมาลอยกระทง บริเวณเกาะกลางรอบๆ สวนสระทะเลกันเนื่องแน่น ด้วยบรรยากาศร่มรื่น ตกแต่งพื้นที่สวยงามรอบๆ สระทะเล พื้นที่กว่า 40 ไร่เศษ (กิตติ์ธเนศ พัวพรพงษ์ – อุทัย นิ่มสิทธิกุล / นครสวรรค์)

ช่วยน้ำท่วม

วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ได้รับนโยบายจาก ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา สถานศึกษาในสังกัด ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน ผ่านศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน FiX iT Center ออกให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายใต้ชื่อ “อาชีวะ ช่วยประชาชน” เพื่อให้การช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน คือ การบริจาคเครื่องอุปโภค บริโภค บรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ให้กับพี่น้องประชาชน ที่ประสบภัยน้ำท่วม และระยะหลังน้ำลด ออกให้บริการซ่อม บำรุงรักษา เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์การเกษตร พัดลม ตู้เย็น หม้อหุงข้าว ที่ได้ระบความเสียหายจากน้ำท่วม

ดร.ชลัท อุยถาวรยิ่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ได้ร่วมกับ วิทยาลัยการอาชีพเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ได้ออกหน่วยบริการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix it center ได้ประสานงานระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่จาก มูลนิธิวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม มูลนิธิร่มไทร มีนบุรี โดย ดร.สุธี มีนชัยนันท์ ให้การสนับสนุนถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม จำนวน 300 ชุด เพื่อออกให้บริการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื่องต้นให้แก่พี่น้องประชาชน ที่ประสบภัยน้ำท่วมในท้องที่ หมู่ที่ 6 ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โดยมีกำนันสมศักดิ์ สนป้อม ประสานงานในการดำเนินงานในพื้นที่ และการดำเนินการในครั้งนี้ ได้นำนักศึก ษาจาก 2 วิทยาลัยฯ แผนกช่างไฟฟ้า และช่างยนต์ ออกซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนที่อาศัยพักนอนอยู่ในเต้นท์ริมถนน สายสรรพยา สิงห์บุรี สายเก่า ที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในครั้งนี้ (สมชัย – ประนอม ลัทธิเดช / ชัยนาท)

วันปิยมหาราช

วันที่ 23 ตุลาคม 2565 เวลา 08.00 น. ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นำรองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้าส่วนราชการ ตุลาการ ทหาร ตำรวจ เหล่ากาชาดจังหวัดสิงห์บุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบพิธีวางพวงมาลาและกล่าวน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องในวันปิยมหาราช ประจำปี 2565 และยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 57 วินาที เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประกอบด้วยคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อปวงอาณาประชาราษฎรและผืนแผ่นดินไทยด้วยพระปรีชาญาณ เป็นรากฐานที่อำนวยประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าเท่าทันนานาอารยประเทศ ทั้งด้านการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา การสาธารณสุข ตลอดจนการสาธารณูปการต่างๆ เป็นอเนกประการ พระราชกรณียกิจทั้งหลายล้วนก่อให้เกิดความบริบูรณ์พูนสุขแก่ผืนแผ่นดินไทย ด้วยความสำนึกตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ปวงพสกนิกรน้อมใจถวายพระราชสมัญญาว่า พระปิยมหาราช มีความหมายว่ามหาราชผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชน (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)